ประชารัฐฯตรัง ดัน RATSADA COFFEE สู่ตลาด

เตรียมพัฒนา - วิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฎาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรพร้อมขับเคลื่อนการสร้างแบรนด์กาแฟภายใต้ชื่อ RATSADA COFFEE

ประชารัฐฯตรังลงพื้นที่สำรวจพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกาแฟ เก็บข้อมูลผลผลิตกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า เพื่อเตรียมพัฒนาสร้างแบรนด์กาแฟภายใต้ชื่อ “RATSADA COFFEE” พร้อมชงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสนับสนุนเงินทุนและอุปกรณ์การผลิตอย่างครบวงจร หวังเปิดตลาดสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

นายลือพงษ์ อ๋องเจริญ ประธานกรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง พร้อมด้วยพัฒนาการอำเภอรัษฎา, นักพัฒนาธุรกิจชุมชนชำนาญการ ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฎาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เลขที่ 1 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองปรือ อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลผลผลิตกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า และผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่น ๆ โดยได้มีการหารือร่วมกันระหว่างบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอรัษฎา และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรวมถึงสมาชิก วางแผนพัฒนาต่อยอดการปลูกกาแฟไปสู่เกษตรแปลงใหญ่อำเภอรัษฎา มีใช้พื้นที่กว่า 10 ไร่ ทำเกษตรแบบผสมผสานโดยมี “กาแฟ” เป็นพืชหลัก นอกจากนี้ยังมี โกโก้ พริกไทยพันธุ์ปะเหลียน และพืชอื่น ๆ กว่า 10 ชนิด เป็นพืชเสริมในแปลง

“ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฎาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเรียบร้อยแล้ว มีสมาชิก 70 ราย เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันจากอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดตรัง ถือได้ว่าวิสาหกิจชุมชนนี้มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนในระดับจังหวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาดำเนินการโดยใช้งบประมาณส่วนตัว และมีภาคีร่วมสนับสนุน ได้แก่ สสว. ร่วมพัฒนาและสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ RATSADA COFFEE” นายลือพงษ์กล่าว

สำหรับการลงพื้นที่ตำบลหนองปรือ พบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน คือ การขาดเงินทุนในการจัดทำบรรจุภัณฑ์สินค้า อุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้ผลิตสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทางบริษัท ประชารัฐฯตรัง จึงได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยจะประสานสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่ออบรมให้ความรู้แก่สมาชิกในการแปรรูปสินค้าให้มีคุณภาพ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหางบประมาณซื้ออุปกรณ์การแปรรูปกาแฟแบบครบวงจรต่อไป คาดว่าจะแก้ปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวได้ และดำเนินการผลิตเปิดตลาดได้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ สามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อไป