นันทกรี โตสวนกระแสโควิด นำ “มุกมังกร” ปุ๋ยอินทรีย์เคมี ผงาดพันล้านรับเกษตรอัจฉริยะ

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 หลายธุรกิจได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัส แต่ปรากฏว่า ธุรกิจผลิต “ปุ๋ยอินทรีย์เคมี” ของบริษัท นันทกรี จำกัด จ.สมุทรสาคร ในเครือรัตนากร จ.ชลบุรี ภายใต้แบรนด์ “มุกมังกร” กลับมียอดขายเติบโตกว่าเท่าตัวจาก 500-600 ล้านบาท พุ่งขึ้นไป 1,000 กว่าล้านบาท สวนกระแสโควิด และเศรษฐกิจขาลง

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.กรีฑา วีระนันทนาพันธ์” ประธาน บริษัท นันทกรี จำกัด พร้อมด้วยบุตรสาว “คุณปาล์ม” ดร.จิตติมา เรืองรัตนากร (วีระนันทนาพันธ์) ผู้บริหารสูงสุด บริษัท นันทกรี

และ “คุณต้น” จักรรัตน์ เรืองรัตนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รัตนากร แอสเซท จำกัด จ.ชลบุรี สามีคุณปาล์มในฐานะหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทนันทกรี ได้มาบอกเล่าถึงนโยบายและทิศทางการเติบโตของธุรกิจปุ๋ยมุกมังกร

จากปุ๋ยแห่งชาติสู่นันทกรี

ดร.กรีฑาเล่าว่า ผมมีความชำนาญทางด้านเคมี และได้เริ่มตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งแรกเมื่อ 37 ปีที่ผ่านมา โดยรับจ้างผลิต (OEM) ให้ปุ๋ยแห่งชาติ ตอนที่ยังไม่มีโรงงาน มาถึงปี 2540 ธุรกิจต่าง ๆ ประสบปัญหา ผมได้นำงานวิจัยที่ทำไว้มาพัฒนา และค่อย ๆ เติบโต

ขณะเดียวกัน ผมไปเป็นที่ปรึกษาและผู้ร่วมทุนให้โรงงานปุ๋ยในประเทศจีน เริ่มทำปุ๋ยตรามุกมังกรขึ้นมา ปี 2541 ผมนำปุ๋ยตรามุกมังกรมาจดทะเบียนในประเทศไทย แต่เริ่มนำแบรนด์นี้มาใช้จริงจังประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่คุณปาล์มขึ้นมาบริหาร

ปัจจุบันมีโรงงานในประเทศไทย 3 แห่งกำลังการผลิตรวม 150,000 ตัน และกำลังลงทุนสร้างโรงงานใหม่อีก 3 แห่ง ที่ จ.นครปฐม เริ่มเดินเครื่องเดือนเมษายนที่ผ่านมา

กำลังการผลิตปีแรกเริ่มต้น 30,000 ตัน และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เต็มที่ถึง 60,000 ตัน คาดว่าไม่เกิน 3 ปีคงเต็มกำลังผลิต ตอนนี้ปริมาณความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ที่จังหวัดระยองกำลังจะขึ้นโรงงานใหม่ ต่อไปคาดหวังว่า เราจะไปตั้งโรงงานอยู่ตรงประตูของทุกภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลางส่วนภาคตะวันออกกำลังจะเกิดขึ้นแถวระยอง สามารถส่งออกไปประเทศกัมพูชาได้ ในกัมพูชาตลาดเราเติบโตมาก

ส่วนที่จีนมีโรงงาน 4 แห่ง ตั้งอยู่ที่เมืองกว่างโจว 2 แห่ง และกว่างสี 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 60,000 ตันต่อเดือน หรือประมาณ 720,000 ตันต่อปี โดยเราถือหุ้นในจีน 20% ในนามที่นำเทคโนโลยีเข้าไป และเข้าไปช่วยปรับปรุงเรื่องบายโปรดักต์

จุดต่างอินทรีย์เคมีมุกมังกร

ดร.กรีฑาบอกต่อไปว่า กรมวิชาการเกษตรแบ่งการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเป็น 3 ประเภท 1.ปุ๋ยเคมี 2.ปุ๋ยอินทรีย์ 3.ปุ๋ยอินทรีย์เคมี เพิ่งเปิดให้ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2550 ปุ๋ยตรามุกมังกร เป็นเจ้าเดียวในตลาดที่ไม่มีส่วนผสมของเคมี

แต่ขึ้นทะเบียนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในสเป็กที่กรมระบุว่า ปุ๋ยอินทรีย์เคมีต้องมีส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ต่ำกว่า10% ส่วนใหญ่นำปุ๋ยเคมีมาเติมปุ๋ยอินทรีย์เข้าไปตามเกณฑ์

ส่วนปุ๋ยอินทรีย์เคมีตรามุกมังกรไม่ได้ใช้ส่วนผสมของแม่ปุ๋ยเคมี แต่ผลิตจากบายโปรดักต์ของอุตสาหกรรมอาหารเช่น การผลิตไลน์ซีน วิธีการผลิตเป็นการนำแบคทีเรียไปสกัดเอาโปรตีนจากวัตถุดิบเหล่านี้ออกมา เรียกว่าโปรตีนไนโตรเจน อะมิโน

ดังนั้น ปุ๋ยอินทรีย์เคมีตรามุกมังกรจึงมีธาตุอาหารที่ครบถ้วนกว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แท้ ๆ ซึ่งธาตุอาหารไม่น่าจะเพียงพอ

โดยแนวคิดของปุ๋ยมุกจะเข้าไปปรับปรุงดินให้ดีขึ้น หลังจากใส่ปุ๋ยของเราแล้ว เมื่อดินดีขึ้นจะให้ผลผลิตที่ดีขึ้น

รุกเกษตรแนวใหม่

ดร.จิตติมากล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมุกมังกรมีผลิตภัณฑ์ปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยอัดเม็ด และปุ๋ยผสมแบบปั้นเม็ด (compound) รวมถึงมี “อะมิโนพืช” ซึ่งทั้งหมดดีไซน์มาให้เหมาะกับพืชสวนพืชไร่เป็นหลัก

โดยเฉพาะการผลิตปุ๋ยผสมแบบปั้นเม็ด เรามีจุดเด่นเรื่องเทคนิคการผลิต เนื่องจากโรงงานมีการนำระบบเซ็นเซอร์มาตรวจวัดคุณภาพ สามารถตรวจได้เรียลไทม์ทุก 6 วินาที

ถ้าเปรียบเทียบกับโรงงานผลิตปุ๋ยทั่วไป ต้องเก็บตัวอย่างนำไปเข้าห้องแล็บ เพราะฉะนั้น ปุ๋ยในกระสอบรับประกันเลยว่าทุกเม็ดได้คุณภาพสม่ำเสมอ เวลาหว่านออกไปจะได้ธาตุอาหารตามที่คำนวณ

ทำให้ได้ผลผลิตและคุณภาพตามที่ต้องการ ไปตอบรับกับการทำการเกษตรสมัยใหม่ หรือเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) ที่มีการนำระบบเทคโนโลยีที่สูงขึ้นเข้ามาบริหารจัดการระบบการเพาะปลูกเรื่องการเกษตรแม่นยำ (precision farming)

สุดท้ายแล้วเป็นเรื่องความน่าเชื่อถือ ซึ่งเกิดจากคุณภาพของผลผลิต น่าจะเป็นทิศทางที่ทุกคนจะต้องไปให้ถึง และเป็นเส้นทางของอุตสาหกรรมเกษตรเลยก็ว่าได้ ทั้งในส่วนของภาคการผลิต ผลผลิตทางการเกษตร และภาคของอุตสาหกรรมการเกษตร

ปัจจุบันเกษตรกรมีความรู้ มีเทคนิคที่ดีขึ้น และเป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น ค่อนข้างสอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจการเกษตร

ยอดขายพุ่งเท่าตัวกว่าพันล้าน

จักรรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกลุ่มรัตนากรเข้ามาถือหุ้นในบริษัทนันทกรี 50% และได้วางแผนร่วมกันเพื่อจะขยายกิจการให้เติบโตขึ้น เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด ธุรกิจโรงแรมตกลงไปเหลือ 30% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตกลงไปเหลือ 50-60%

แต่ปรากฏว่าธุรกิจปุ๋ยเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เคยก่อตั้งบริษัทมา ซึ่งสวนทางกับธุรกิจอื่นในเครือที่ยอดขายตกลงหมดเลย

วันนี้บริษัท นันทกรีมีโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี 5 แห่ง รวมกำลังการผลิต 150,000 ตัน จากเดิมยอดขายทุกปีเติบโตเฉลี่ย 15-25% อยู่ที่ประมาณ 500-600 ล้านบาท แต่ปี 2563 เติบโตขึ้นมา 1,000 กว่าล้าน เรียกว่าเติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้นเป็นเท่าตัว ถือเป็นผู้ผลิตลำดับต้น ๆ ด้านปุ๋ยอินทรีย์เคมีในตลาดเกษตรแนวใหม่ และยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

และแนวโน้มปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคมยังเติบโตต่อเนื่อง จบไตรมาส 1 ปี 2564 อัตราการเติบโตสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โควิดระบาดมายังไงก็ไม่กลัวแล้ว ยังเดินหน้าธุรกิจปุ๋ยต่อไป

โดยยอดขายปุ๋ยที่ดีขึ้นมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.โควิดทำให้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ เรื่องอาหารปลอดภัย (food safety) มากขึ้น คนพร้อมจะจ่ายซื้อความเป็นออร์แกนิกของพืช คนยิ่งนิยมหาปุ๋ยที่เป็นออร์แกนิก กินแล้วสุขภาพดี

2.ทิศทางคนทำเกษตรมากขึ้น และ 3.เกษตรกรที่เคยใช้ปุ๋ยอินทรีย์แล้วรู้สึกว่าไม่ได้ผล ก็หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีเพิ่มขึ้น เพื่อฟื้นฟูดิน ทุกอย่างจะไหลมาหาปุ๋ยอินทรีย์เคมีมากขึ้น ๆ ทุกปี

ทุ่ม 1.5 พันล้านขึ้น 3 โรงงานใหม่

จักรรัตน์บอกต่อไปว่า ขณะนี้บริษัทกำลังขยายการลงทุน โดยจะสร้างโรงงานเพิ่มอีก 3 แห่ง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 150,000 ตัน วงเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท อีก 2 ปีถ้าก่อสร้างโรงงานเสร็จกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนตัน คาดว่ายอดขายจะเพิ่มเป็นประมาณ 2,000 ล้านบาท

เราขยายกำลังการผลิตจำนวนมากมีเป้าหมายขยายตลาดไปต่างประเทศ แบ่งเป็นตลาดภายในประเทศ 35-40% ที่เหลือ 60% เป็นตลาดต่างประเทศ

ที่ผ่านมาเราส่งออกไปประเทศในอาเซียนมานานแล้ว ได้แก่ เมียนมากัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม มาเลเซีย ส่งออกส่วนใหญ่เป็น OEM ส่วนตลาดภายในประเทศ ทำ OEM เป็นส่วนใหญ่เช่นกัน ทำแบรนด์ตัวเองน้อย สัดส่วนทำ OEM 80% ทำแบรนด์มุกมังกร 20%

Smart Climate Fertilizer
ผลิตภัณฑ์ใหม่รับโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืช ผลไม้ต่าง ๆ ดังนั้น ดร.จิตติมา เรืองรัตนากร (วีระนันทนาพันธ์) ผู้บริหารสูงสุด บริษัท นันทกรี จำกัด ในฐานะคนรุ่นใหม่จึงคิดปุ๋ยที่จะรองรับโลกในอนาคต

โดย ดร.จิตติมากล่าวว่า ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนา (R&D) ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่รองรับเพื่อตอบโจทย์เกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer เรียกว่าปุ๋ย “Smart Climate Fertilizer”

ถ้าเราใช้ปุ๋ยตัวนี้ลงไปพืชจะสามารถทนสภาวะแล้งหรือสภาวะอากาศที่เปลี่ยนไปได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีการพิสูจน์มาแล้วว่ามีคุณสมบัตินั้นจริง ๆ อีกทั้งทางต่างประเทศเริ่มมีการวิจัยแล้ว

สมมุติปีไหนเกษตรกรประสบปัญหาแล้ง ปริมาณน้ำฝนน้อย น้ำไม่เพียงพอก็ยังสามารถที่จะพยุงต้นพืชนั้นได้หรือยืดเวลาของพืชชนิดนั้น ๆ เพื่อรอน้ำมาได้ คือ พืชไม่ตายเพราะว่าขาดน้ำการใช้ปุ๋ยชนิดนี้จะไปช่วยโอบอุ้มแร่ธาตุนั้นไว้ได้นาน 6 เดือน

อย่างไรก็ตามอันนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชด้วย “Smart Climate Fertilizer” ใช้ได้กับพืชทุกชนิด แต่เราจะเน้นในส่วนของผัก ยางพารา ผลไม้ อย่างอินทผลัม ทุเรียนภูเขาไฟ ทุเรียนนนท์

เช่น เนื่องจากพืชเหล่านี้จะต้องดูแลพิเศษ อย่างผลไม้จะมีความบอบบางเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพอยู่ได้ไปจนถึงเก็บเกี่ยว มันจะบอบช้ำง่ายต่างจากพวกข้าวที่แห้ง ๆ

อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยชนิดนี้มีต้นทุนราคาสูง แต่จริง ๆไปเปรียบเทียบกับผลผลิตสุดท้ายที่ได้คุ้มค่า เพราะบางทีใส่ปุ๋ยเท่ากัน แต่ผลผลิตที่ได้ไม่เท่ากัน

สำหรับผลิตภัณฑ์ Smart Climate Fertilizer จะใช้เวลาพัฒนาอีกไม่เกิน 2 ปีจะวางตลาด พร้อมกับการเปิดโรงงานใหม่ ต่อไปการผลิตปุ๋ยแต่ละชนิดจะมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพราะฉะนั้น จะมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเฉพาะขยายมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ที่วางแผนไว้โรงงานหนึ่งจะผลิตอะมิโนเข้มเป็นต้นไปเลย อีกโรงงานจะเป็นคอมพาวนด์สมาร์ทไคลเมตไปเลย