ลัมปิสกินทำโคมหาสารคามสูญ ตาย 2 พันตัวป่วยนับหมื่น

เกษตรกรมหาสารคามอ่วม โรคลัมปิสกินคร่าชีวิตโค-กระบือแล้วกว่า 2.5 พันตัว กำลังป่วยอยู่นับหมื่นตัว ประธานสภาเกษตรฯเผยประเมินมูลค่าความเสียหายเกิน 50 ล้านบาท การช่วยเหลือจากราชการไม่ทั่วถึง เพราะเจ้าหน้าที่มีน้อย

นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผวจ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปิสกินในโค-กระบือ จังหวัดมหาสารคามจึงระดมสรรพกำลัง ประกอบด้วย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคลัมปิสกิน ตามมาตรการของกรมปศุสัตว์มาโดยตลอด และได้มีการระดมฉีดวัคซีน พร้อมกันทั้ง 13 อำเภอ

นอกจากนี้ จังหวัดมหาสารคามได้มีการประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปิสกินในโค-กระบือ ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 13 อำเภอ

ซึ่งจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา บรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรที่เลี้ยงโค-กระบือ ในพื้นที่มหาสารคาม ตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยอัตราชดเชยกรณีตาย จ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรตามจริง แต่ไม่เกินรายละ 2 ตัว ตามอายุ (โค 6,000-20,000 บาท/กระบือ 8,000-22,000บาท) สำหรับตัวเลขโค-กระบือที่เสียชีวิตแล้วกว่า 2.5 พันตัว และป่วยอยู่กว่าหมื่นตัว

การชดเชยหากเกินความสามารถของท้องถิ่นก็ต้องรายงานเข้ามาเพื่อให้ทางปศุสัตว์ดำเนินการเสนอเรื่องขึ้นไป ตนขอรับรองว่าเกษตรกรเจ้าของโค-กระบือจะได้รับเงินชดเชยทุกราย

ด้านนายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า น่าตกใจตัวเลขโค-กระบือเสียชีวิตกว่า 2.5 พันตัว สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจชุมชนอย่างมหาศาล

เพราะหากประเมินราคาโคมีชีวิตเฉลี่ยแค่ตัวละ 2 หมื่นบาท เป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท ที่หายวูบไปจากมือเกษตรกร แล้วที่กำลังป่วยอยู่อีกนับหมื่นตัวก็ไม่รู้ว่าจะเสียชีวิตอีกเท่าไหร่

จากการที่ตนลงพื้นที่สอบถามสมาชิกสภาส่วนใหญ่มีความกังวลว่าจะทำอย่างไร โค-กระบือที่ป่วยอยู่จะไม่ตายลงเพราะสภาพปัจจุบันการช่วยเหลือจากทางราชการไม่ทั่วถึงเพราะเจ้าหน้าที่มีน้อย ทางออกของเกษตรกรส่วนใหญ่

จึงมีการจ้างสัตวแพทย์มาฉีดยารักษาสัตว์เอง หากประเมินเงินที่เกษตรกรควักกระเป๋ารักษาเอง ภาพรวมทั้งจังหวัดน่าจะหลายล้านบาท และเกษตรกรไม่อยากได้เงินชดเชย เพราะหากสัตว์เลี้ยงไม่ตาย ขายได้ราคามากกว่านี้หลายเท่าตัว การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันตัวที่ยังไม่ติดโรค แต่ตัวที่ป่วยแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เสียชีวิต คือสิ่งที่เกษตรกรกำลังวิตกกังวล

รายงานข่าวจากมหาสารคามแจ้งว่า จังหวัดมหาสารคามมีการเลี้ยงโคเนื้ออยู่อันดับ 10 ของประเทศ ส่วนใหญ่เลี้ยงโคเนื้อพันธุ์พื้นเมือง และบราห์มัน จากเดิมมีจำนวนมากถึง 2 แสนตัว แต่ปัจจุบันมียอดการเลี้ยงอยู่ประมาณ 1 แสนตัวเศษ เนื่องจากมีพ่อค้าจากต่างถิ่นมากว้านซื้อตามตลาดนัดโค-กระบือส่งตลาดต่างประเทศ ในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่ระบาด

ส่งผลให้ราคาโคเนื้อมีชีวิตพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับทางภาครัฐมีการสนับสนุนให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงโคเนื้อกันมากขึ้น

เพราะไม่มีปัญหาทางด้านการตลาด แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคลัมปิสกิน ทำให้มีการสั่งปิดตลาดนัดโค-กระบือทั้ง 2 แห่ง ที่ อ.เมือง และ อ.นาเชือก

ซึ่งปกติจะมีการซื้อขายกันสัปดาห์ 1 ครั้ง มีเงินสะพัดนัดละหลายสิบล้านบาท ยอดซื้อขายโค-กระบือไม่ต่ำกว่า 2-3 พันตัว ภายหลังการปิดตลาดนัด จึงทำให้การซื้อขายโค-กระบือจนถึงขณะนี้อยู่ในภาวะซบเซาอย่างหนัก