บิ๊กป้อมดันงบปี’67กว่า 6 พันล้าน ปลดล็อกพื้นที่อุทยานสร้าง “อ่างวังโตนด”

อ่างวังโตนด

“บิ๊กป้อม” ดันโครงการ “อ่างเก็บน้ำวังโตนด” จ.จันทบุรี มูลค่า 6,400 ล้านบาท ให้กรมชลประทานชง ครม.อนุมัติงบประมาณปี 2567 สั่งทุกหน่วยงานเคลียร์ปมขอใช้พื้นที่อุทยานฯเขาสิบห้าชั้น-พื้นที่ป่าสงวนฯป่าขุนซ่อง ปรับลดใช้พื้นที่อุทยานฯ แก้ปัญหาช้างป่า

นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวผ่านรายการผู้ว่าฯพบประชาชน ว่า ในวันที่ 27 มิถุนายน 2565 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด ความจุ 99.50 ล้านลูกบาศก์เมตร

ซึ่งที่ผ่านมารายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว แต่ยังติดปัญหาการคัดค้านขององค์กรเอ็นจีโอและติดหน่วยงานในพื้นที่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่งช่วยรองรับพื้นที่ EEC ได้

โครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนดถือเป็นหนึ่งในอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งตามมติ ครม.เมื่อ 7 เมษายน 2552 ให้กรมชลประทานศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.จันทบุรี เนื่องจาก อ.แก่งหางแมวมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยมากถึง 1,841 มิลลิเมตรต่อปีแต่ไม่มีอ่างเก็บน้ำที่เพียงพอ ปัจจุบันอ่างทั้ง 4 แห่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 แห่ง คือ อ่างคลองประแกด ความจุ 60.26 ล้านลูกบาศก์เมตร และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80.70 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 และอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ความจุ 68.10 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะเสร็จปี 2567

แต่คาดว่ายังไม่เพียงพอในการเก็บน้ำจึงจำเป็นต้องก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนดเป็นแห่งที่ 4 หากก่อสร้างอ่างทั้ง 4 แห่งแล้วเสร็จจะทำให้มีความจุของอ่างรวมทั้งหมด 308.56 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นความมั่นคงทางน้ำใน จ.จันทบุรี

แหล่งข่าวจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดติดปัญหาพื้นที่ดำเนินโครงการบางส่วนครอบคลุมเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น และป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง แม้ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ได้พิจารณาผ่านความเห็นชอบ EHIA แล้ว แต่องค์กรเอ็นจีโอกรีนพีซท้วงติงเรื่องการสูญเสียพื้นที่และระบบนิเวศของป่าไม้ ปัญหาผลกระทบต่อสัตว์ป่า ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กังวลเรื่องผลกระทบจากช้างป่า ยังไม่ได้นำเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ (กก.อช.) พิจารณาอนุมัติเรื่องการขอใช้พื้นที่โครงการดังกล่าว

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ดังนั้น ก่อนลงพื้นที่ พล.อ.ประวิตรจึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุมร่วมกัน เพื่อเคลียร์ปัญหาที่ติดค้างต่าง ๆ อยู่ เพื่อให้กรมชลประทานสามารถเสนอรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อประกอบการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นบางส่วน และขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง หลังจากนั้นตามขั้นตอนกรมชลประทานจะต้องนำเสนอเรื่องให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

ซึ่ง พลเอกประวิตรต้องการให้กรมชลประทานเสนอ ครม.ของบประมาณปี 2567 ในการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด มูลค่า 6,400 ล้านบาท ให้ได้ตามกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (2567-2572) เพื่อจะได้รองรับการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และ 3 จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หากเกิดปัญหาภัยแล้ง

“สภาพนิเวศวิทยาของป่าไม้ในพื้นที่อุทยานฯที่จะก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด ปัจจุบันเป็นป่าไม้เบญจพรรณเป็นป่าไม้ชั้น 2 ไม่ใช่ที่อยู่ของสัตว์ป่า ส่วนพื้นที่ป่าสงวนฯจากการตรวจสภาพป่า 90% บางส่วนเป็นพื้นที่ทำกินที่ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกมานานแล้ว ต้องให้ชาวบ้านเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ปรับลดพื้นที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนดลงตามความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) จากเดิม 14,600 ไร่ เหลือ 11,982 ไร่ โดยส่วนที่เป็นพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติฯได้ปรับลดจาก 7,503 ไร่ เหลือ 6,191 ไร่ พื้นที่ป่าสงวนฯปรับลดจาก 7,097 ไร่ เหลือ 5,791 ไร่

และกรมชลประทานได้เสนอขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่องจากกรมป่าไม้ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งหมู่บ้านและที่ทำกินอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนคำขอใช้พื้นที่กรมอุทยานฯยังมีข้อทักท้วงที่กรมชลประทานต้องชี้แจงเพิ่มเติมสภาพนิเวศของป่าไม้ ผลกระทบของช้างป่าและแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Mitigation Plan : EIMP) และเงินชดเชยให้กับชาวบ้านในพื้นที่

“ส่วนขนาดอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ความจุ 99.50 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังคงไว้เพื่อความคุ้มค่าและประโยชน์ ภาคการเกษตร ท่องเที่ยว พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ขนาดความจุของอ่างช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 87,700 ไร่ เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.แก่งหางแมว อ.นายายอาม และ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี บรรเทาอุทกภัย น้ำท่วมรุนแรงบริเวณพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของลุ่มน้ำคลองวังโตนดลดลง 40-50% และเป็นแหล่งน้ำดิบสำรองสนับสนุนพื้นที่ EEC ประมาณ 50-100 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินของช้าง มีการปรับลดใช้พื้นที่เหลือ 6,191 ไร่ จากพื้นที่ราบจำนวน 30,000 ไร่ และผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นกว่า 70,000 ไร่”

นายเดช จินโนรส นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนซ่อง กล่าวกับ “ประชาชาติธุกิจ” ว่า การสร้างอ่างกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 149.74 ไร่ พื้นที่เกษตรกรรม 6,483.65 ไร่ และ 580 ครัวเรือนที่อาจก่อให้เกิดการบุกรุกขยายพื้นที่เกษตรในอนาคตนั้น ได้มีการเตรียมพื้นที่ 2 แปลง จำนวน 500-600 ไร่ ย้ายชาวบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่สร้างอ่าง 4 หมู่ คือ หมู่ 1 หมู่ 8 หมู่ 11 หมู่ 18 เพื่อให้ชาวบ้านได้ซื้อที่ดินปลูกบ้าน ราคาไร่ละ 100,000-120,000 บาท คาดว่าจะเพียงพอแน่นอนเพราะถึงเวลาเคลื่อนย้ายคงมีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่ขายสิทธิกลับบ้านในภาคอีสานไปแล้ว

“หมู่ 1 ต้องย้ายออกทั้งหมู่บ้าน มี 300-400 ครัวเรือน น่าจะเหลือประมาณ 100 ครัวเรือน เพราะเป็นรายเล็ก ๆ มีที่ดินเพียง 1-2 งาน จะได้ค่าชดเชยในอัตราไร่ละ 60,000 บาท มีเงินเพียง 20,000-30,000 บาท รวมค่าสิ่งปลูกสร้างอีกเล็กน้อย และมีเงินช่วยเหลืออีกครอบครัวละ 40,000 บาทจากหน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงจังหวัดจันทบุรี ชาวบ้านจะมีทุนไปซื้อที่ดินปลูกบ้านและทำงานรับจ้างได้เหมือนเดิม อนาคต อบต.จะเข้าไปดูแลพัฒนาไฟฟ้า แหล่งน้ำ ถนน ส่วนอีก 3 หมู่บ้านมีเพียง 10-20 ครัวเรือน ส่วนใหญ่จะมีสวน ที่ดินแปลงใหญ่” นายเดชกล่าว

“เวลานี้ช้างชอบออกมาหาอาหารตามสวนผลไม้ การสร้างอ่างจะช่วยกั้นช้างได้ระดับหนึ่ง และช้างจะมีแหล่งน้ำกิน เหมือนที่อ่างเก็บน้ำคลองหางแมวที่มีช้างออกมากินน้ำ 40-50 ตัว เมื่อสร้างอ่างช้างจะเข้าไปอยู่ในป่าอ่างฤาไน” นายเดชกล่าว