สุกี้ตี๋น้อย เคล็ดลับความสำเร็จ โกยยอดขายชาบู 1,500 ล้าน

สุกี้ตี๋น้อย

ส่องเส้นทางความสำเร็จ “สุกี้ตี๋น้อย” สร้างยอดขายโตไม่หยุด เนื้อหอมมีข่าวกลุ่มเจมาร์ท-บีทีเอส เสนอซื้อหุ้น ฟากบริษัทปฏิเสธ พร้อมวางแผนระดมทุนนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

วันที่ 22 กันยายน 2565 หลังมีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มเจมาร์ทและบีทีเอส เจรจาเข้าซื้อหุ้น “สุกี้ตี๋น้อย” แบบเงียบ ๆ ซึ่งคาดว่าจะรอประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือน พ.ย. 2565 พร้อมวางแผนระดมทุน นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ล่าสุด นางสาวนัทธมน พิศาลกิจวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด ระบุว่า ยังไม่มีการขายกิจการ เป็นเพียงการเจรจาหาความร่วมมือทางธุรกิจเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตาว่าเส้นทาง “สุกี้ตี๋น้อย” หลังจากเข้ามาอยู่ในระบบนิเวศธุรกิจ (Ecosystem) ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาย้อนดูกลยุทธ์การตลาดที่ทำให้สุกี้ตี๋น้อย ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นของ “สุกี้ตี๋น้อย”

เริ่มจากความคิดอยากทำธุรกิจร้านอาหารของคุณเฟิร์น “นัทธมน พิศาลกิจวนิช” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารในวัยไม่ถึง 30 ปี จากเดิมครอบครัวของเธอมีประสบการณ์การทำอาหารอยู่แล้ว แต่เธอต้องการสร้างความแตกต่าง และอยากทำร้านอาหารที่มีรสชาติมาตรฐานเดียวกัน จึงหนีไม่พ้นร้านบุฟเฟต์ชาบู โดยเน้นชูรสชาติอร่อย ถูกปากผู้บริโภค

หากย้อนกลับไป สุกี้ตี๋น้อย เปิดให้บริการสาขาแรก เมื่อช่วงปี 2560 ที่ย่านพิพิธภัณฑ์บ้านบางเขน (ตรงข้ามกรมทหารราบที่ 11 รอ.) โดยใช้เวลาการแจ้งเกิดอย่างรวดเร็ว จากกระแสบอกต่อช่องทางออนไลน์

Key Success แห่งความสำเร็จ

“นัทธมน” เคยบอกว่า หัวใจหลักของการเปิดร้านอาหาร ต้องมองที่ลูกค้าก่อนเป็นอันดับแรก คิดว่าทำยังไงลูกค้าถึงจะอยากกลับมาทานร้านเราอีก และอยากทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ามากที่สุด สิ่งที่ทำให้สุกี้ตี๋น้อยแตกต่างจากเจ้าอื่นในตลาด คือราคาเข้าถึงง่าย 199 บาท แม้ปัจจุบันจะปรับขึ้นมาเป็น 219 บาท ตามภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่คิวรอเข้าร้านยังยาวเหยียดทุกสาขา โดยมีเมนูอาหารให้เลือกกว่า 50 เมนู ทั้งหมู เนื้อ ไก่ และทะเล ซึ่งผู้บริหารสาวเคยบอกว่า จะต้องรักษามาตรฐานเดียวกันให้ได้ทุก ๆ สาขา

อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ คือสาขาส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบสแตนด์อะโลน มีพื้นที่จอดรถกว้างขวาง เปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ไปจนถึง 05.00 น. ตลอดจนการตกแต่งร้านที่หรูหรา สะอาด และทันสมัย ทำให้สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย ทั้งกลุ่มครอบครัว วัยทำงาน และวัยรุ่นทั่วไป ปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยมีจำนวนสาขา 32 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และเริ่มขยายออกไปในต่างจังหวัด โดยบางสาขามีจำนวนลูกค้าเฉลี่ยหลายพันคนต่อวัน

เปิดรายได้สุกี้ตี๋น้อย

หากย้อนดูรายได้สุกี้ตี๋น้อยย้อนหลังพบว่ามีการเติบโตขึ้นทุก ๆ ปี

– ปี 2562 มีรายได้รวม 499 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15 ล้านบาท
– ปั 2563 มีรายได้รวม 1,217 ล้านบาท กำไรสุทธิ 140 ล้านบาท
– ปี 2564 มีรายได้รวม 1,564 ล้านบาท กำไรสุทธิ 147 ล้านบาท

เป้าหมายเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

หลังจากมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ก่อนหน้านี้ “สุกี้ตี๋น้อย” มีแผนเตรียมนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2567 แต่สิ่งสำคัญต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งก่อน ทำให้ต้องปรับปรุงครัวกลาง ที่ใช้เป็นจุดเก็บและระบบโลจิสติกส์กระจายสินค้าไปยังสาขาต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานมากขึ้น และจะสามารถรองรับสาขาที่เตรียมจะเปิดเพิ่มให้ครบ 60 แห่ง