สุกี้ตี๋น้อย ยันไม่ขายกิจการ แต่ต้องการหาพาร์ตเนอร์ช่วยขยายธุรกิจ

“สุกี้ตี๋น้อย” เผยไม่ขายกิจการ เพียงแต่เจรจาหาพาร์ตเนอร์ช่วยขยายธุรกิจให้โตเร็วอย่างยั่งยืน พร้อมเดินหน้าขยายสาขาในต่างจังหวัด อนาคตเป้าหมายใหญ่ ต้องการเป็น “Global Brand” บุกตลาดต่างประเทศ

วันที่ 22 กันยายน 2565 จากกรณีที่มีข่าวว่ากลุ่มเจมาร์ทและบีทีเอส เข้าเจรจาเข้าซื้อหุ้น “สุกี้ตี๋น้อย” เพื่อนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ล่าสุด นางสาวนัทธมน พิศาลกิจวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของร้าน “สุกี้ตี๋น้อย” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สุกี้ตี๋น้อยไม่ได้ขายกิจการ เป็นเพียงการหารือกับธุรกิจอื่น ๆ เพื่อร่วมมือกันขยายธุรกิจเท่านั้น ซึ่งยอมรับว่ามีการเจรจากับเจมาร์ทจริง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ

อีกทั้ง ยังมีการพูดคุยกับหลาย ๆ อุตสาหกรรม เพื่อหาพาร์ตเนอร์ให้เหมาะสมกับการทำธุรกิจของสุกี้ตี๋น้อย เพื่อช่วยให้บริษัทเติบโตมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยจะมีการสาขาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการมีความท้าทายมากกว่าเดิม

Advertisment

ถามว่าเติบโตไปคนเดียวได้ไหม อาจจะได้ แต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน บริษัทจึงต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือคนที่อยู่ในวงการธุรกิจมาช่วยส่งเสริมธุรกิจ โดยมีเป้าหมายให้สุกี้ตี๋น้อยเติบโตอย่างรวดเร็ว มั่นคงและยั่งยืน

นางสาวนัทธมนกล่าวต่อถึงแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2565 เตรียมเปิดเพิ่มอีก 3 สาขา ในกรุงเทพฯ ส่วนปี 2565 จะมุ่งขยายสาขาออกไปในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยความท้าทายของการขยายสาขาไปต่างจังหวัดจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของการขนส่ง โลจิสติกส์ ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อรักษามาตรฐานเดียวกันให้ได้ทุก ๆ สาขา ส่วนรายได้ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท

สำหรับแผนการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังดำเนินการต่อไป เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ ภายใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2567 แต่สิ่งสำคัญต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งก่อน โดยก่อนหน้านี้ได้มีการลงทุนปรับปรุงครัวกลาง ที่ใช้เป็นจุดเก็บและระบบโลจิสติกส์กระจายสินค้าไปยังสาขาต่าง ๆ และเพื่อรองรับสาขาที่เตรียมจะเปิดเพิ่มให้ครบ 60 แห่งด้วยเช่นกัน

Advertisment

โดยปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยมีทั้งหมด 41 สาขา มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยรวมในทุกสาขา 30,000-40,000 คนต่อวัน อนาคตอาจมีโปรเจ็กต์เริ่มเก็บฐานข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์การทำตลาดให้ตอบโจทย์มากขึ้น

อีกหนึ่งเป้าหมายใหญ่ คือ ต้องการให้สุกี้ตี๋น้อยกลายเป็น “Global Brand” อนาคตอาจมีแผนไปเปิดในต่างประเทศ ซึ่งอาจเริ่มที่ประเทศใกล้เคียงก่อน โดยก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการที่ประเทศลาวติดต่อเข้ามา ชวนให้ไปเปิดสาขา แต่เรายังไม่พร้อม และคาดว่าต้องเตรียมตัวอีกหลายปี

อย่างไรก็ตาม แม้โควิด-19 คลี่คลายลงไปแล้ว แต่ธุรกิจร้านอาหารยังมีอุปสรรค ทั้งเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น รวมถึงการขาดแคลนพนักงาน จึงนำหุ่นยนต์มาช่วยเสิร์ฟอาหารในร้าน หลังจากเริ่มทดลองที่สาขารัตนาธิเบศร์เป็นที่แรก ปัจจุบันได้นำไปใช้ทุกสาขาแล้ว เชื่อว่าจะช่วยเสริมการบริการให้ดีมากขึ้น