เปิดรายได้-กำไร 5 ยักษ์ใหญ่ธุรกิจร้านอาหาร ไตรมาส 1/66 ขายดิบขายดี

บอนชอน
บอนชอน แบรนด์ในเครือ Minor Food

ธุรกิจร้านอาหารรับสัญญาณบวก หลังเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวฟื้น เอ็มเค-ไมเนอร์-ซีอาร์จี ประกาศรายได้กำไรไตรมาส 1 ปี 2566 เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าขยายสาขากระตุ้นยอดขายครึ่งปีหลัง

วันที่ 14 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2566 ธุรกิจร้านอาหารเริ่มเห็นสัญญาณบวก หลังจากที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ผู้บริโภคเริ่มออกมาจับจ่ายรับประทานอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารเริ่มกลับมามีรายได้-กำไรที่สูงขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจภาพรวมธุรกิจร้านอาหารยักษ์ใหญ่ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไตรมาส 1 ปี 2566 ยอดขาย-กำไร เป็นอย่างไรกันบ้าง

 

ไมเนอร์ ฟู้ดฯ โตแกร่งส่ง 4 แบรนด์ใหม่เจาะตลาด

ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการกลุ่มร้านอาหารว่าในไตรมาส 1 ปี 2566 ยอดขายโดยรวมทุกสาขา (รวมยอดขายสาขาแฟรนไชส์) เติบโต 19.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 7,728 ล้านบาท โดยสัดส่วนหลักมาจากประเทศไทย 20.1% จีน 19.8% ออสเตรเลีย 16.7%

โดยในไตรมาส 1 ไมเนอร์ฟู้ดมีสาขาร้านอาหารทั้งสิ้น 2,540 สาขา เพิ่มขึ้น 130 สาขา จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทลงทุนเอง 1,267 สาขา หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของสาขาทั้งหมด สาขาแฟรนไชส์ 1,273 สาขา หรือ 50% โดยเป็นสาขาภายใต้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย 1,914 สาขา หรือ 75% และเป็นสาขาภายใต้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารอื่น 626 สาขา หรือ 25% ครอบคลุม 24 ประเทศ ในทวีปเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป ประเทศเม็กซิโก และประเทศแคนาดา

Advertisment

สำหรับยอดขายโดยรวมทุกสาขาของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยเติบโต 21% ในไตรมาส 1/2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และมียอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG) เติบโต 11.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยในปี 2566 ไมเนอร์ ฟู้ดฯ วางเป้ารายได้เติบโต 17-20% แตะ 31,000-33,000 ล้านบาท โดยคาดว่าครึ่งปีหลังยอดขายจะเติบโตสูงเลข 2 หลัก และเติบโตกว่าครึ่งปีแรก รวมทั้งเตรียมงบลงทุน 1,700-1,900 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาแบรนด์ร้านอาหารในเครือรวมมากกว่า 200 สาขา โดยเดินหน้าขยายพอร์ตลงทุน ส่ง 4 แบรนด์ใหม่ อาทิ พูเลท์, ลิเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช, กาก้า และฟรายส์ เจาะตลาดปี 2566 รับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่

Advertisment

ปัจจุบัน ไมเนอร์ ฟู้ดฯ มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอมากถึง 27 แบรนด์ อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, แดรี่ ควีน, ซิซซ์เลอร์, เบอร์เกอร์ คิง, บอนชอน และ เดอะ คอฟฟี่ คลับ เป็นต้น

ซิซซ์เล่อร์
แฟ้มภาพ

MK รายได้-กำไร โตต่อเนื่อง

บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M ยักษ์ใหญ่อย่างอาหารหม้อร้อนหรือสุกี้ รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2566 บริษัท และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและบริการ 4,089 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 594 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีกำไรสุทธิ 325 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ขณะที่สัดส่วนรายได้หลัก ๆ ยังมาจากเอ็มเค 74% ตามด้วยยาโยอิ 18% และแหลมเจริญซีฟู้ด 6% และอื่น ๆ ในพอร์ต ทั้งนี้ ช่องทางนั่งรับประทานที่ร้าน (Dine-in) อยู่ที่ 84% เพิ่มจากปีก่อนอยู่ที่ 75% สะท้อนผู้คนกลับมาใช้ชีวิต รับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ส่วนซื้อกลับบ้านลดเหลือ 6% จาก 9% และดีลิเวอรี่ลดเหลือ 10% จาก 16%

ทั้งนี้ ปัจจุบันเอ็มเค สุกี้ มีทั้งหมด 452 สาขา, ร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ 176 สาขา, ร้านแหลมเจริญ ซีฟู้ด 33 สาขา, ฮากาตะ 149 สาขา และมิยาซากิ 19 สาขา

เอ็มเค สุกี้
แฟ้มภาพ

CRG เร่งปูพรมรับตลาดฟื้น

กลุ่ม CRG ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรือ Centel โดยมีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอทั้ง เค เอฟ ซี, มิสเตอร์โดนัท, อานตี้แอนส์ และ โอโตยะ ฯลฯ ซึ่งในไตรมาส 1 บริษัทมีสาขาร้านอาหารทั้งสิ้น 1,599 สาขา เพิ่มขึ้น 201 สาขา จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยกลุ่มธุรกิจอาหารในไตรมาส 1/2566 มีรายได้รวม 3,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 398 ล้านบาท หรือประมาณ 15% ซึ่งเป็นการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม (%SSS) ประมาณ 8% เทียบปีก่อน ขณะเดียวกันสาขาในกรุงเทพฯ ในภาคกลาง และในสาขาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็มีอัตราการเติบโตยอดขายสาขาเดิม (%SSS) ที่ค่อนข้างโดดเด่น โดยแบรนด์หลักคือ เคเอฟซี, อานตี้แอนส์ และโอโตยะ ยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธุรกิจอาหาร มีกำไรสุทธิ 91 ล้านบาท ลดลง 14 ล้านบาท หรือ 13% จากอัตราการทำกำไรที่ปรับตัวลงเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับปี 2566 บริษัทพร้อมทุ่มงบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ปูพรม 150 สาขา รับตลาดร้านอาหารฟื้นตัว พร้อมเพิ่มแบรนด์ใหม่ อาทิ ราเมน คาเกทสึ อาราชิ, ชินคันเซ็น ซูชิ และนักล่าหมูกระทะ เสริมพอร์ตโฟลิโอ ตั้งเป้าโต 20% หลังปีที่ผ่านมายอดขายทะลุ 1.28 หมื่นล้าน

เอ็มเค สุกี้
แฟ้มภาพ

S&P กำไรโตในรอบ 10 ปี

บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ที่ยืนแกร่งในตลาดเบเกอรี่ และมีร้านอาหารให้บริการหลายแบรนด์ ไตรมาส 1 ปี 2566 มีรายได้รวม 1,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 151 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุหลักมาจากยอดขายเพิ่มขึ้นจากการรับประทานที่ร้าน ทั้งจากร้านอาหารภายในและต่างประเทศ

โดยมีกำไรสุทธิใน 104.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งถือว่าในไตรมาส 1 มีกำไรมากสุดใน 10 ปี สาเหตุหลักมาจากยอดขายที่เติบโตขึ้นจากช่องทาง “รับประทานที่ร้าน” โดยเฉพาะจากร้านในศูนย์การค้า สนามบิน และโรงพยาบาล รวมทั้งรายได้จากช่องทาง “ซื้อกลับบ้าน” ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากร้านในไฮเปอร์มาร์เก็ต และศูนย์การค้า เป็นต้น

สำหรับปี 2566 นี้ บริษัทมีแพลนที่จะเปิดเพิ่มอีกสัก 20 กว่าแห่ง จากภาพรวมในไตรมาส 1/2566 มีสาขาอยู่ราว ๆ 453 แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นช็อปที่ใช้คนประมาณ 4-5 คน การขยายสาขาเพิ่มในช่วงจากนี้ไป โดยเน้นไปที่ เบเกอรี่ ช็อป, เบเกอรี่ มาร์ท มากขึ้น

S&P
แฟ้มภาพ

เซน กรุ๊ป กวาดรายได้ 913 ล้านบาท

บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สร้างรายได้รวม 913 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จากแผนธุรกิจของบริษัทที่มุ้งเน้นการสร้างการเติบโตของสาขาเดิมที่เป็นบวก และ
การขยายธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงการสร้างการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหารและรายได้จากธุรกิจค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น 41% และ 58% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

โดยมีกำไรสุทธิ 38 ล้านบาท (แบ่งเป็นส่วนของบริษัทใหญ่ 34 ล้านบาท และส่วนที่ไม่มีอำนาจควบคุม 4 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 30 ล้านบาท หรือคิดเป็น 374% จากงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทมีจำนวนสาขาร้านอาหารทั้งสิ้น 339 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของ 157 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 182 สาขา

Zen
ภาพจากเพจ ZEN Japanese Restaurant