‘ฟาร์มาจีน’ บุกแอฟริกา ทุ่มงบฯปักธงโรงงานยา

ฟาร์มาจีน ทุนจีนบุกแอฟริกา
คอลัมน์ : Market Move

ธุรกิจจีนยังคงยาตราทัพรุกเข้ายึดพื้นที่ในทวีปแอฟริกาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทยาเป็นธุรกิจจีนกลุ่มล่าสุดที่ตบเท้าเดินหน้าเข้าลงทุนมูลค่าหลายพันล้านหยวนในแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง แต่การแข่งขันต่ำ

ศักยภาพดังกล่าวเห็นได้จากผลประเมินของ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ซึ่งประเมินว่า เมื่อปี 2564 แอฟริกานำเข้ายาและเวชภัณฑ์มากถึง 2.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 28% จากปี 2562 ที่มีการนำเข้า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันแม้ประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมากถึง 1.4 พันล้านคน และอยู่ในอันดับ 4 ของโลก แต่การใช้ยาและเวชภัณฑ์ของแอฟริกายังคิดเป็นเพียง 2% ของการใช้ทั่วโลกเท่านั้น

นอกจากนี้กำลังการผลิตในประเทศที่น้อย ทำให้ยาและเวชภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้า โดยสำนักงานพัฒนาสหภาพแอฟริกา ยังระบุว่า 90% ของยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ในทวีปนี้ยังต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศ

สำนักข่าว ไคซิน รายงานว่า บริษัทยารายใหญ่หลายแห่งของจีนต่างประกาศแผนลงทุนในทวีปแอฟริกา คิดเป็นมูลค่ารวมกันหลายพันล้านหยวน นำโดย อู่ฮั่น ฮิวแมนเวล ไฮ-เทค อินดัสทรี (Wuhan Humanwell Hi-tech Industry) ที่เตรียมลงทุนในแอฟริกาเป็นรอบที่ 3 เพื่อสร้างโรงงานยาจิตเวชในโมร็อกโก และเปิดบริษัทการค้าในชาด เพิ่มจากการลงทุน มูลค่า 350 ล้านหยวน สร้างโรงงานยาในมาลี มีกำลังผลิตยาน้ำเชื่อมได้ 30 ล้านขวดต่อปี และยาฉีดอีก 40 ล้านขวดต่อปี และการลงทุน 20 ล้านหยวน ในการตั้งโรงงานยาเม็ดและยาน้ำในเอธิโอเปีย

ทั้งนี้ ปี 2565 ที่ผ่านมา ยอดขายจากตลาดต่างประเทศของอู่ฮั่นฮิวแมนเวลฯ เพิ่มขึ้น 13.6% เป็น 2.6 พันล้านหยวน และคิดเป็น 11% ของรายได้รวม

ด้าน เซี่ยงไฮ้ โพซัน ฟาร์มาซูติคัลบริษัทยาสัญชาติจีนที่มีขนาดธุรกิจต่างชาติใหญ่ที่สุดในวงการ ตัดสินใจกู้เงิน 50 ล้านยูโร (ประมาณ 391 ล้านหยวน) จากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือของธนาคารโลก (World Bank) เพื่อลงทุนโรงงานผลิตยาในโกตดิวัวร์ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยาขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกของแอฟริกา ด้วยกำลังผลิตยาต้านมาลาเรียและยาต้านแบคทีเรีย 5 พันล้านเม็ดต่อปี

นอกจากนี้ยังมี เชียร์แลนด์ ไบโอเทคโนโลยี (Cheerland Biotechnology) ซึ่งเตรียมลงทุนตั้งฐานการผลิตวัสดุทางชีวภาพในโซนแอฟริกาเหนือ ขนาดกำลังผลิต 1.2 แสนลิตร โดยจะเริ่มเดินเครื่องจักรในปี 2567 ที่จะถึงนี้

“มาร์คุส เกนเดน” ผู้อำนวยการของเชียร์แลนด์ฯ กล่าวว่า แอฟริกาถือเป็นตลาดที่บริษัทยาข้ามชาติรายใหญ่ต่างมองข้ามมาอย่างยาวนาน แม้จะมีหลายปัจจัยที่บ่งบอกถึงศักยภาพไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของจำนวนประชากรและอัตราการใช้ยาและเวชภัณฑ์ที่ยังต่ำมาก

แต่ขณะนี้ดีมานด์สินค้ากลุ่มนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแทนที่จะอาศัยการบริจาคหรือการให้ความช่วยเหลือจากต่างชาติแบบในอดีต สิ่งที่แอฟริกาต้องการในตอนนี้คือ การลงทุนจากเหล่าบริษัทยา เพื่อสร้างฐานการผลิตที่ตอบโจทย์ดีมานด์ของทวีปนี้อย่างตรงจุด

“แอฟริกามีศักยภาพที่จะเป็นตลาดยาเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง บริษัทยาสัญชาติจีนจึงต่างอาศัยจังหวะนี้เข้าจับมือกับรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนและนำเสนอสินค้าหลากหลายรูปแบบให้ผู้บริโภค-คู่ค้า”

สอดคล้องกับความเห็นของผู้จัดการของโฟซันฟาร์มาฯที่กล่าวเสริมว่า การเข้าสร้างแบรนด์ในแอฟริกายังเป็นสปริงบอร์ดให้บริษัทยาสัญชาติจีนรุกเข้าสู่ตลาดโลก และมีส่วนในการกำหนดมาตรฐานการรักษาพยาบาลในระดับสากลด้วย

ไปในทิศทางเดียวกับอู่ฮั่น ฮิวแมนเวลฯ ที่ระบุว่า โรงงานแห่งใหม่ในโมร็อกโก จะเพิ่มไลน์การผลิตยาระดับไฮเอนด์เข้าไปด้วย เพื่อรองรับโอกาสส่งออกไปยังตลาดยุโรป ซึ่งอยู่ใกล้กับโมร็อกโกมาก ต่างจากโรงงานก่อนหน้าที่เน้นผลิตยาที่จำเป็น และยาราคาจับต้องได้เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของตลาดในประเทศและในทวีป

นอกจากนี้ บริษัทอาจพิจารณาตั้งโรงงานผลิตสารออกฤทธิ์ รวมถึงตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาในโซนแอฟริกาเหนืออีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การลงทุนขยายธุรกิจในแอฟริกายังมีความท้าทาย โดยเจ้าหน้าที่ของอู่ฮั่น ฮิวแมนเวลฯ อธิบายว่า ปัญหาหลัก ๆ ของแอฟริกาจะเป็นมาตรฐานการผลิตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และไม่มั่นคงทางการเมือง ซึ่งโรงงานของบริษัทในเอธิโอเปียต้องหยุดการผลิตมานานเกือบหนึ่งปีแล้ว

ความเคลื่อนไหวของยักษ์วงการยาสัญชาติจีน สะท้อนถึงความสำคัญของตลาดประเทศแอฟริกา และความตั้งใจของบริษัทจีนที่จะรุกเข้าสู่ตลาดนี้เพื่อสร้างรายได้และต่อยอดไปยังตลาดโลก ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะมีบริษัทยารายใหญ่จากประเทศอื่น ๆ โดดเข้าร่วมการแข่งขันด้วยหรือไม่