“ดิ เอ็มสเฟียร์” กุญแจสำคัญ ดึงงานอีเวนต์ระดับโลกมาไทย

ศุภลักษณ์ อัมพุช “ดิ เอ็มสเฟียร์” กุญแจสำคัญ ดึงงานอีเวนต์ระดับโลกมาไทย

“ดิ เอ็มสเฟียร์” ศูนย์รวมความบันเทิงและแหล่งแฮงเอาต์ขนาด 200,000 ตร.ม. ในย่านพร้อมพงษ์ นับเป็นโครงการสำคัญที่ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ทุ่มเทอย่างเต็มที่ และได้เพิ่มงบฯลงทุนอีกถึง 50% จาก 1 หมื่นล้านบาท เป็น 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของ “ดิ เอ็มดิสทริค” ย่านการค้าบนถนนสุขุมวิทตอนกลางเสร็จสมบูรณ์ และพร้อมเริ่มเปิดบริการเฟสแรก ในเดือนธันวาคม 2566 นี้ ตามกำหนดการที่วางไว้เดิม ตามด้วยการผลักดัน UOB Live พื้นที่จัดอีเวนต์ให้เปิดใช้งานได้ทันงานเคานต์ดาวน์สิ้นปี

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และผู้ปลุกปั้นโครงการดิ เอ็มดิสทริค ที่ประกอบด้วยดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ และดิ เอ็มสเฟียร์ ในการแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างธนาคารยูโอบี ประเทศไทย, ดิ เอ็มดิสทริค และเออีจี ถึงแนวคิดความสำคัญและความคืบหน้าของดิ เอ็มสเฟียร์ ส่วนประกอบสุดท้ายของ “ดิ เอ็มดิสทริค” ย่านช็อปปิ้งแห่งใหม่ใจกลางกรุง

Q : การทุ่มงบฯเพิ่มอีกถึง 5 พันล้านบาท สำหรับดิ เอ็มสเฟียร์

โดยพื้นฐานทำเลของกรุงเทพฯ เหมาะจะเป็นฮับในด้านต่าง ๆ อยู่แล้ว ด้วยระยะทางที่สามารถบินเข้ามาจากเมืองใหญ่ของประเทศหลัก ๆ อย่าง ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินเดีย ฯลฯ ภายในเวลาประมาณ 3-7 ชั่วโมง แต่ที่ผ่านมากรุงเทพฯ เสียโอกาสในการจัดงานอีเวนต์ใหญ่ ๆ หลายครั้ง เนื่องจากจุดอ่อน 2 ด้าน คือ ขาดสถานที่สำหรับจัดงานอีเวนต์ที่รองรับงานได้หลากหลายรูปแบบ อยู่ใจกลางเมือง สามารถเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะได้ และมีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงสถานที่ให้ผู้ร่วมงานไปแฮงเอาต์ก่อน-หลังงานได้

อีกจุด คือ ความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งทำให้ทั้งผู้จัด ศิลปินและผู้ชมจากต่างชาติ ขาดความเชื่อมั่นในการเดินทางเข้ามาจัด-ชมงานในประเทศไทย

ทั้ง 2 จุดนี้เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ที่ผ่านมา งานอีเวนต์ขนาดใหญ่ เช่น คอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลก มักเลือกจัดที่สิงคโปร์ มากกว่ากรุงเทพฯ ส่งผลให้ไทยเสียโอกาส โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจในยุคหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว ระหว่างที่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ยังไม่ฟื้นตัวและหนี้ครัวเรือนยังคงสูง

ด้วยเหตุนี้ ดิ เอ็มสเฟียร์ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะดึงดูดงานอีเวนต์ระดับโลกให้เข้ามาจัดในไทย ด้วยฟังก์ชั่นที่อุดจุดอ่อนได้หมด ทั้งทำเลใจกลางเมืองเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า รายล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งที่จอดรถ ร้านอาหาร แหล่งช็อปปิ้ง-ท่องเที่ยว-ที่พัก

รวมถึงพื้นที่ฮอลล์ UOB Live ซึ่งสามารถจัดงานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งบันเทิง กีฬา แฟชั่นโชว์ นิทรรศการ ประชุม-สัมมนา ฯลฯ รองรับผู้ชมถึง 6,000 ที่นั่ง รวมไปจนถึงการบริหารของเออีจี บริษัทด้านจัดงานบันเทิง-กีฬาระดับโลก

ดังนั้น แม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลให้ต้องใช้เวลาก่อสร้าง ดิ เอ็มสเฟียร์นานขึ้นกว่าที่วางแผนไว้ พร้อมกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ ค่าแรง พลังงานและที่ดิน แต่เป็นความจำเป็นและคุ้มค่าที่จะลงทุนเพิ่มจาก 1 หมื่นล้านบาท เป็น 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สามารถเปิดบริการเฟสแรกได้ตามกำหนดในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสำคัญของทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขณะนี้สามารถเห็นผลตอบรับได้จากการที่แม้จะยังไม่เปิดบริการ แต่มีผู้จัดอีเวนต์รายใหญ่หลายรายเข้ามาติดต่อสอบถามการจองพื้นที่ของ UOB Live เช่นเดียวกับที่มีผู้จัดกว่า 170 รายเดินทางมาดูสถานที่จริงแล้ว

Q : การท่องเที่ยวด้านความบันเทิงมีศักยภาพมากเพียงใด

แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่าง ดิ เอ็มสเฟียร์ นี้มีความสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงสร้างรายได้เข้าประเทศไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ สะท้อนชัดจากความสำเร็จของสิงคโปร์ที่สร้างแหล่งท่องเที่ยวอย่าง เกาะเซ็นโตซาขึ้นมาและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้นับล้านคนต่อปี

นอกจากนี้เชื่อว่า อีเวนต์บันเทิง-กีฬาและงานสัมมนา ยังเป็นกิจกรรมที่มีศักยภาพและโอกาสสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศได้สูงยิ่งกว่าแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เนื่องจากไม่เพียงเม็ดเงินจากการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวแต่ยังมีการจ้างงานจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการจัดงานต่าง ๆ เช่นเดียวกับโอกาสที่ศิลปินไทยจะได้สร้างชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในระดับโลกจากการคอลลาบอเรชั่นกับศิลปินดังจากต่างประเทศที่มาจัดการแสดงในไทยอีกด้วย

หากสถานที่ท่องเที่ยวด้านความบันเทิงและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ หรือในไทยสามารถเปิดบริการได้แบบ 24 ชั่วโมง จะยิ่งส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ตามแนวคิด Seamless Metropolis ที่นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยว-จับจ่ายได้ตลอดเวลา เพราะแค่สภาพปัจจุบันการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวยังช่วยให้ปี 2566 นี้กำไรของดิ เอ็มดิสทริค มีแนวโน้มสูงกว่าปี 2562 หรือก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ถึง 50%

ด้วยศักยภาพนี้ UOB Live พื้นที่จัดอีเวนต์ขนาด 6,000 ที่นั่ง จึงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของโครงการดิ เอ็มสเฟียร์ โดยมีกำหนดเปิดบริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พร้อมด้วยอีเวนต์เปิดตัวหลากหลายรูปแบบที่จะหมุนเวียนจัดต่อเนื่องยาว 1 เดือน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม คาดว่าเมื่อเปิดบริการอย่างเป็นทางการแล้ว UOB Live จะมีงานอีเวนต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเน้นแนวดนตรีและกีฬาเข้ามาใช้สถานที่จำนวนไม่น้อยกว่า 100 งาน/ปี

นอกจากนี้กำลังอยู่ระหว่างผลักดันให้สามารถเปิด UOB Live เร็วกว่ากำหนดเพื่อใช้จัดงานเคานต์ดาวน์ช่วงสิ้นปี 2566 นี้ เพื่อชิงดีมานด์ในช่วงอีเวนต์สำคัญของเทศกาลปลายปีและสร้างความสุขให้กับชาวไทยอีกด้วย

Q : การเปลี่ยนชื่อจาก EM Live เป็น UOB Live

การเปลี่ยนชื่อนี้เนื่องจากบริษัทได้ธนาคารยูโอบี เข้ามาเป็นพันธมิตรใหม่ ในฐานะผู้ได้สิทธิตั้งชื่อ โดยมีระยะเวลาสัญญา 5 ปี นอกจากการสนับสนุนด้านเงินทุนแล้ว ความร่วมมือนี้ยังสามารถต่อยอดไปถึงการแชร์ฐานลูกค้าระหว่างกัน โดยธนาคารยูโอบีมีฐานลูกค้าจำนวนมากเป็นผู้ที่ทำงานในเขตเมืองของกรุงเทพฯ และมีกำลังซื้อสูง ซึ่งสามารถมาเป็นลูกค้าของดิ เอ็มสเฟียร์ได้

ขณะเดียวกันยูโอบีก็สามารถใช้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เกี่ยวกับการเข้าร่วมอีเวนต์ที่จัดใน UOB Live เพื่อดึงดูดผู้บริโภคทั้งในไทยและอาเซียนให้เข้ามาเป็นลูกค้าของธนาคารได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สัญญาสิทธิตั้งชื่อนี้จำกัดเฉพาะพื้นที่จัดอีเวนต์ของโครงการดิ เอ็มสเฟียร์เท่านั้น ส่วน BANGKOK ARENA ซึ่งเป็นพื้นที่จัดอีเวนต์ขนาด 1.6 หมื่นที่นั่งของโครงการแบงค็อก มอลล์ ย่านบางนานั้น ยังไม่มีผู้ได้รับสิทธิตั้งชื่อ