รายการแม่เหล็ก หลุดผังช่อง 3 ฟื้นข่าว-ละครกู้เรตติ้ง

โลโก้ ช่อง 3

เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ของคนในแวดวงทีวี สำหรับความเคลื่อนไหวในการปรับผังรายการของช่อง 3 ภายใต้การนำทัพของ “อริยะ พนมยงค์” ที่เข้ามากุมบังเหียนแทน “กลุ่มมาลีนนท์” ตั้งแต่ปลายปี 2561

ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า วิกพระราม 4กำลังจะเสียรายการมวยดังกระฉ่อนโลก “ไทยไฟท์” ที่มีฐานคนดูจำนวนมหาศาล ให้กับคู่แข่ง “ช่อง 8” หลังจากช่อง 3 ได้เริ่มเขย่าผังรายการรอบแรกไปแล้วรอบหนึ่ง เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเครื่องหมายปรัศนีจึงเกิดขึ้นตามมาว่า…เหตุใด ไทยไฟท์ จึงจะโบยบินไปจากอ้อมอกช่อง 3 ทั้ง ๆ ที่รายการสร้างชื่อและเรตติ้งให้กับช่อง 3 มานานกว่า 10 ปี ที่สำคัญ คือ เจ้าของรายการ “นพพร วาทิน” มีความสนิทชิดเชื้อกับ “ประวิทย์ มาลีนนท์” บิ๊กบอสช่อง 3 มาอย่างยาวนาน

งานนี้ คนในแวดวงต่างมองไปในทำนองว่า “ช่อง 8 ส้มหล่น” บ้างก็ว่า “ช่อง 3 ใจดี ยื่นเรตติ้งให้คู่แข่ง”…อะไรทำนองนั้น

วันนี้แม้สมรภูมิทีวีดิจิทัลเหลือผู้เล่นเพียง 15 ช่อง แต่ดีกรีการแข่งขันไม่ได้ลดน้อยลง ตรงกันข้ามกลับรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเรตติ้งท็อป 5 ที่เดินหน้าเต็มสูบ โดยเรตติ้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ช่อง 7 ยังเป็นเบอร์ 1 ตามด้วยช่อง 3 ส่วนอันดับ 3 เป็นโมโน 29 ตามด้วยเวิร์คพอยท์ (ช่อง 23) และอันดับ 5 เป็น ช่องวัน 31

นอกจากนี้ ทุกช่องล้วนมีจุดแข็ง มีรายการเด่นเรตติ้งดีเป็นทุนเดิม แต่ทุกค่ายก็พร้อมจะทุ่มเท เพื่อสรรหาคอนเทนต์ใหม่ ๆ เข้ามา สำหรับดึงคนดูและเรตติ้งเพิ่ม เป้าหมายเพื่อดึงเม็ดเงินโฆษณาที่มีกว่า 6 หมื่นล้านบาท มาครอบครองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อย่างที่รับรู้กันดีว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะส่งผลให้ผู้ประกอบการลดงบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวีลง สื่อทีวียังต้องเผชิญหน้ากับ “สื่อออนไลน์” คู่แข่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และเข้ามาเบียดแย่งงบฯโฆษณาก้อนนี้ไป และนับวันก็จะกินเค้กก้อนโตนี้เพิ่มขึ้น ๆ

แหล่งข่าวผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจทีวีดิจิทัลวิเคราะห์สถานการณ์ของช่อง 3 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า ทีมผู้บริหารใหม่ช่อง 3 กำลังเผชิญกับโจทย์ใหญ่ ทั้งจากปัจจัยภายนอก คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อลดลง และยังต้องแข่งกับสื่อออนไลน์ที่มาแรงและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อีกด้านหนึ่งก็ต้องเผชิญหน้ากับ “ศึกใน” ที่จะต้องพยายามประสานทีมงานใหม่และทีมงานเก่า ทั้งวิธีคิด มุมมอง การทำงาน ฯลฯ ให้ก้าวไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งการสอดประสานสายสัมพันธ์กับบรรดาผู้จัดรายการ ผู้ผลิตรายการ ให้มีความเข้าใจถึงนโยบายและทิศทาง

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำธุรกิจทีวีนั้นส่วนหนึ่งต้องมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้จัดละคร ผู้ผลิตรายการ เพื่อดึงและสร้างคอนเทนต์ดี ๆ มาออกอากาศ ซึ่งที่ผ่านมา คุณประวิทย์ (มาลีนนท์) ให้ความสำคัญและมีบทบาทในด้านนี้มาก แต่หลังจากทีมบริหารชุดใหม่เข้ามา รายการดี ๆ ค่อย ๆ หลุดออกไปทีละรายการสองรายการ” แหล่งข่าวกล่าว

ตอนนี้มีกระแสข่าวว่า ผู้จัดและผู้ผลิตอีกหลายรายกำลังชั่งใจว่าจะอยู่หรือไป ส่วนหนึ่งอาจมาจากการนำโมเดลการให้เช่าเวลาและหารายได้เอง มาใช้แทนการจ้างผลิต ซึ่งทำให้ผู้ผลิตต้องคิดหนัก เพราะตอนนี้เม็ดเงินโฆษณาไม่ดี

หากย้อนกลับไปจะพบว่าที่ผ่านมา รายการวาไรตี้ รายการกีฬา หลายรายการทยอยหลุดจากผังช่อง 3 มาเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็น เดอะ วอยซ์ การแข่งขันมอเตอร์ไซค์ “โมโต จีพี” ที่โยกไปอยู่กับช่องพีพีทีวี 36 ส่วนเดอะ เฟช เมน ไทยแลนด์ ก็ย้ายไปอยู่กับช่องไทยรัฐ 32 เป็นต้น

ทั้งนี้ “อริยะ พนมยงค์” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) วางนโยบายช่อง 3 ไว้ 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ระยะสั้น คือ การฟื้นรายได้ ด้วยการเจาะตลาดออนไลน์ เริ่มตั้งแต่การปรับผังรายการใหม่ เฟสแรก ได้ปรับโฉมรายการข่าว 3 รายการ ได้แก่ เรื่องเล่าเช้านี้ เที่ยงวันทันเหตุการณ์ และข่าว 3 มิติ ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และไตรมาส 4 จะทยอยปรับรายการข่าวที่เหลือ ส่วนเฟส 2 จะเริ่มในต้นปี 2563 ด้วยการเติมรายการวาไรตี้ และละครใหม่ เพื่อฟื้นเรตติ้งให้กลับคืนมา

ส่วนในระยะยาว ช่อง 3 ต้องการจะลดการพึ่งพารายได้จากโฆษณา เน้นสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ ๆ ด้วยการใช้ทรัพยากรและศักยภาพที่มีอยู่ ทั้งนักแสดง ละคร ฯลฯ โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญ คือ การขายลิขสิทธิ์ละครในตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน

แม้ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของช่อง 3 ที่ออกมา จะเริ่มมีกำไรให้เห็นเฉียด ๆ 100 ล้านบาทบ้างแล้ว จากช่วง 2 ไตรมาสแรกที่ตัวเลขยังตัวแดง แต่ทีมงานก็จะต้องทำงานอย่างหนักต่อไป