โควิดทุบซ้ำร้านย่อย-ค้าปลีก ร้องศูนย์การค้าลดค่าเช่าพื้นที่

ตลาดนัดจตุจักร

โควิด-19 ระบาดรอบสอง ทุบซ้ำธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ร้านค้าย่อยกระอัก “แพลทินัม-จตุจักร-ตลาดโบ๊เบ๊-ยูเนี่ยน มอลล์” ซบ แบกต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ ร้องศูนย์การค้าเยียวยา ช่วยลดค่าเช่า

การโจมตีระลอกใหม่ของโควิด-19 ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ (12 มกราคม 2564) แม้จะมีระยะเวลาเพียง 1 เดือน แต่ด้วยมีความรุนแรงของการแพร่ระบาดที่กระจายไปใกล้ ๆ จะ 60 จังหวัดทั่วประเทศ และจำนวนผู้ป่วยสะสมของประเทศทะลุหลักหมื่น (คน) จากตัวเลขการพบผู้ติดเชื้อที่เพิ่มใหม่ในแต่ละวันอยู่ในเกณฑ์สูงเป็นหลักร้อย ส่งผลให้ประชาชนตื่นกลัวและลดความเสี่ยงด้วยการหลีกเลี่ยงการเดินทาง-การจับจ่าย

แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบการอย่างหนัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้าส่งรายย่อยที่เปิดขายสินค้าตามศูนย์การค้า ศูนย์ค้าปลีกค้าส่ง

โควิดทำลูกค้าลด-ซบหนัก

ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งในศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัมแฟชั่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้บรรยากาศการจับจ่ายซื้อของในแพลทินัมและศูนย์ค้าส่งต่าง ๆ ในกรุงเทพฯซึ่งแย่อยู่แล้ว ยิ่งแย่ลงไปอีก และซบเซาค่อนข้างมาก คนที่เดินมาจับจ่ายซื้อของไปขายต่อมีน้อยมากในแต่ละวัน ลดลงไปโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 70-80%

“ปีที่ผ่านมาศูนย์ก็ช่วยเหลือลดค่าเช่าให้ ซึ่งก็เข้าใจศูนย์เหมือนกัน และมาเจอเหตุการณ์นี้อีก แต่หากศูนย์ไม่ช่วยเราก็แย่”

เช่นเดียวกับเจ้าของร้านค้าปลีกค้าส่งเสื้อผ้า ตลาดโบ๊เบ๊ และตลาดนัดสวนจตุจักร เปิดเผยว่า หลังมีโควิดรอบใหม่เกิดขึ้น ลูกค้าหายไปเยอะมาก บางร้านขายไม่ได้เลยก็มี หลายร้านตัดสินใจปิดหรือหยุดขายเพื่อลดค่าใช้จ่าย หากพ้นเดือนมกราคมไป หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ทุกคนคงหนัก โดยส่วนตัวขอรอดูอีกสักเดือน หรือหากเป็นไปได้ อยากให้รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ไปเลย เมื่อศูนย์ปิดตามประกาศทางการ สัญญาเช่าก็จะได้หยุดไปด้วย

ขณะที่เจ้าของร้านค้าส่งในศูนย์การค้ายูเนี่ยน มอลล์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาแม้ว่ายูเนี่ยน มอลล์ จะประกาศลดค่าเช่าลง 50% ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากศูนย์วางเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ไว้ค่อนข้างมาก จึงทำให้ผู้เช่าหลาย ๆ รายไม่ได้รับสิทธิตามที่ศูนย์ประกาศ หลายรายจึงปิดร้านหยุดขายเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะเปิดไปก็ขายไม่ได้ คนเดินก็น้อย เพราะกลัวโควิด

เจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่งที่มีสาขาอยู่ในศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค และพาราไดซ์ เพลส เปิดเผยว่า หลังจากมีกระแสข่าวว่าพบผู้ติดเชื้อเข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ ส่งผลกระทบให้ยอดขายในวันต่อมาของทางร้านหายไปทันที 100% และจนถึงขณะนี้ยอดขายของแต่ละร้านก็กลับมายังไม่ถึง 50% ดังนั้น จึงอยากให้ศูนย์เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาในเรื่องส่วนลดค่าเช่า เพื่อพยุงให้สถานการณ์ของผู้เช่ายังคงสามารถเดินไปได้ ขณะเดียวกัน ร้านก็ได้หันมาขายสินค้าในช่องทางออนไลน์ การบริการดีลิเวอรี่ ทำให้ยังพอมีรายได้เข้ามาบ้างเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถเทียบกับยอดขายหน้าร้านที่หายไปได้

“ภายในสิ้นเดือนมกราคม หากศูนย์ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือ เราและร้านค้ารายย่อยทุกร้านก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าแน่นอน เพราะยังมีภาระหนี้จากธนาคารที่ต้องกู้มาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากผลกระทบจากโควิดเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งปีที่ผ่านมาเราได้รับการช่วยเหลือจากศูนย์เป็นอย่างดี ด้วยการลดค่าเช่าเป็นขั้นบันไดเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงธันวาคม 2563 ทำให้ยังสามารถอยู่ได้ ซึ่งครั้งนี้โดยส่วนตัวอยากให้ศูนย์ลดค่าเช่าให้ 50% ในช่วงนี้เพื่อให้ร้านผ่านสถานการณ์นี้ไปได้”

ขณะที่เจ้าของร้านจำหน่ายและรับซ่อมโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่งในศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 3 กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้เจ้าของพื้นที่ยังไม่มีการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในศูนย์แต่อย่างใด หลังจากช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาได้รับหนังสือแจ้งจากศูนย์ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าเช่า 3% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลาย ฝ่ายบริหารศูนย์น่าจะมีมาตรการช่วยเหลือ หลังจากปีที่ผ่านมา ศูนย์ลดค่าเช่าให้ 20% เป็นเวลา 1 ปี (ม.ค.-ธ.ค. 63)

ผู้ให้เช่ายื่นมือช่วย

จากการสอบถามไปยังบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด ซีพีเอ็น ให้ข้อมูลว่า การระบาดระลอก 2 ที่มีการล็อกดาวน์ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา มหาชัย และเซ็นทรัลพลาซา ระยอง และเปิดให้บริการเพียงบางส่วน ในซูเปอร์มาร์เก็ตและธุรกิจจำเป็น โดยธุรกิจต่าง ๆ ในจังหวัดทั่วประเทศที่มีการประกาศปิดให้บริการโดยภาครัฐ ซีพีเอ็นได้ดำเนินการยกเว้นค่าเช่าให้สำหรับร้านค้าที่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามประกาศภาครัฐ

ส่วนธุรกิจที่ยังเปิดให้บริการได้ ซีพีเอ็นเน้นการดูแลความสะอาดอย่างเต็มที่ ให้ลูกค้ามั่นใจในการมาที่ศูนย์การค้า และอำนวยความสะดวกในการค้าขายทุกช่องทาง ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ต่าง ๆ อีกทั้งยังคงพิจารณาส่วนลดให้ความช่วยเหลือร้านค้า โดยเฉพาะที่มีประวัติการชำระเงินที่ดี ด้วยการปรับปรุงกระบวนการให้ดูแลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนการให้ส่วนลดค่าเช่านั้นจะพิจารณาตามความเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับในส่วนของศูนย์การค้าเดอะมอลล์ แม้ขณะนี้จะยังไม่มีมาตรการเยียวยาผู้เช่าออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ศูนย์ก็ไม่นิ่งนอนใจ โดยจะมีการพิจารณาช่วยเหลือผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบที่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถประกอบกิจการหรือเปิดร้านได้จากผลกระทบของโควิด-19 โดยจะพิจารณาในลักษณะเคสบายเคส

ขณะที่ นางสาวสมฤดี จันทรพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจและเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 นับจากรอบแรกเมื่อปีที่แล้วถึงปัจจุบัน ตลาดนัดจตุจักรมีผู้ค้าทำการค้าประมาณ 50% จากทั้งหมดมีผู้ค้าอยู่ประมาณ 10,000 แผงค้า

“จากผลกระทบโควิดในรอบแรก สำนักงานตลาดได้ยกเว้นค่าเช่าให้ผู้ค้าตลาดจตุจักร ที่เก็บในอัตรา 1,800 บาท/แผง/เดือน เป็นเวลา 5 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากผลกระทบโควิดรอบ 2 คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้”