CRG ทุ่มลงทุน 700 ล้าน ลุยสยายปีกธุรกิจอาหาร

“ซีอาร์จี” เปิดเกมรุก ทุ่มลงทุน 700 ล้าน นำทัพแบรนด์ดัง “เคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท อานตี้ แอนส์” เร่งขยายเพิ่ม 200 แห่ง สารพัดโมเดลไซซ์เล็ก-คลาวด์คิทเช่น-คอนเทนเนอร์สโตร์-พ็อปอัพสโตร์ มุ่งเจาะไฮเปอร์มาร์เก็ต ปั๊มน้ำมัน เพิ่มน้ำหนักดีลิเวอรี่ ก่อนเปิดโอกาสร่วมทุนพันธมิตรร้านอาหารขยายธุรกิจทุกรูปแบบ พร้อมคุมเข้มบริหารต้นทุน หากคุมไม่ไหว จำเป็นต้องปรับขึ้นบางรายการ

นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย ในเครือเซ็นทรัล อาทิ มิสเตอร์โดนัท, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์ ฯลฯ เปิดเผยว่า

ที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มา 2 ปีเต็ม และทำให้ตลาดรวมติดลบมากกว่า 10% มีมูลค่าราว ๆ 3 แสนล้านบาท โดยปี 2565 สถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น

แม้มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่ไม่รุนแรงถ้าเทียบกับการระบาดที่ผ่านมา ประกอบกับภาครัฐไม่มีมาตรการล็อกดาวน์และเตรียมให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งมีผลดีต่อธุรกิจอาหาร เพราะกิจกรรมต่าง ๆ เริ่มปลดล็อก

ทำให้ผู้คนเริ่มออกมาจับจ่ายและมารับประทานอาหารที่ร้าน หรือ dine-in มากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดร้านอาหารปีนี้จะกลับมาเติบโตขึ้นกว่า 10% หลัก ๆ มาจากการลงทุนของผู้เล่นรายใหญ่ที่เร่งขยายพอร์ตมากขึ้น หลังจากชะลอมาจากปี 2563

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญความท้าทายของภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น ประกอบกับสงครามรัสเซียและยูเครน มีผลต่อราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ ปัจจัยเหล่านี้สร้างแรงกดดันต่อการบริหารรายได้ สภาพคล่อง และสถานะทางการเงิน

โดยการขยายธุรกิจเพื่อให้ได้ scale จะช่วยเพิ่มความสามารถในการต่อรอง และลดต้นทุนได้ สำหรับซีอาร์จีต้องคุมเข้มในการบริหารสต๊อก ซึ่งตอนนี้ยังใช้วัตถุดิบจากสต๊อกเดิมที่เหลืออยู่ หากสต๊อกเก่าหมด ต้องสั่งลอตใหม่มา ราคาก็คงสูง

จึงมีการเปลี่ยนซัพพลายเออร์ และสั่งวัตถุดิบเป็นวอลุ่มใหญ่ จะได้ราคาถูกกว่า แต่เมื่อราคาวัตถุดิบบางอย่างควบคุมไม่ได้ อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาในบางรายการ

สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2565 บริษัทวางยุทธศาสตร์เชิงรุกภายใต้คอนเซ็ปต์ “GREATER WE” เตรียมงบฯลงทุน 700 ล้านบาท แบ่งเป็น การขยายสาขาและรีโนเวตร้าน มุ่งสร้างธุรกิจให้เข้มแข็ง

แต่ยังเป็นการลงทุนอย่างระมัดระวัง ปีนี้เตรียมขยายทั้งโมเดลร้านไซซ์เล็ก คลาวด์คิทเช่น พ็อปอัพสโตร์ และคอนเทนเนอร์สโตร์ มากกว่า 200 สาขา โฟกัสไปที่แบรนด์เคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท อานตี้ แอนส์ คัตสึยะ เป็นต้น

เน้นขยายไปในพื้นที่ศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ช็อปเฮาส์ต่าง ๆ และสถานีบริการน้ำมัน ให้ครอบคลุมในหลาย ๆ ทำเล พร้อมเตรียมนำเทคโนโลยีมาใช้ในร้านอาหารเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ของผู้บริโภค

จากปีที่แล้วได้นำระบบ POS มาเพิ่มประสิทธิภาพการขายสินค้า สร้างอีโคซิสเต็มให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่ง โดยสามารถต่อยอดการขยายร้านอาหารและเป็นการบาลานซ์พอร์ตกระจายความเสี่ยง

พร้อมกับการสร้างโมเดลร้านแบบใหม่ shop in shop การซินเนอร์ยีแบรนด์ในเครือมาอยู่ในร้านเดียว ที่ผ่านมาได้ทดลองแบรนด์มิสเตอร์โดนัท เปิดจำหน่ายเครื่องดื่มอาริกาโตะเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า รวมไปถึงยังเปิดโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรร้านอาหาร

ทั้งการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) รวมถึงการร่วมทุน (joint venture) กับผู้ประกอบการร้านอาหารเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพมาขยายธุรกิจ โดยใช้จุดแข็งทั้ง 2 ฝ่ายสร้างการเติบโตไปด้วยกัน หรือเกิด win-win strategy

โดยบริษัทมีจุดแข็งช่วยเสริม ทั้งอีโคซิสเต็มรองรับ แนวทางการปฏิบัติงาน ระบบหลังบ้านต่าง ๆ และซินเนอร์ยีด้านต้นทุนเพื่อขยายธุรกิจได้เร็วขึ้น

ขณะที่ R&D ต้องพัฒนาต่อเพื่อออกโปรดักต์ใหม่ ๆ ให้น่าสนใจและดึงดูดผู้บริโภค รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการทำ virtual brand คอนเซ็ปต์ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน โดยใช้ครัวเดิมที่มีอยู่ 1,000 จุด สร้างแบรนด์ใหม่เพื่อขายเฉพาะดีลิเวอรี่

ซึ่งทั้งปีคาดการณ์ยอดขายในช่องทางดีลิเวอรี่ 3,500 ล้านบาท เติบโต 15% จากปี 2564 ที่มียอดขาย 3,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 40% โดยปัจจัยหลักจะมาจากการขยายคลาวด์คิทเช่นให้ครบ 20 สาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ จากปัจจุบันมี 11 สาขา

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค ด้วยการผนึกกับแพลตฟอร์มเดอะวัน ของกลุ่มเซ็นทรัล จะเป็นจิ๊กซอว์ทำให้ซีอาร์จีได้เก็บข้อมูลลูกค้า ทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าเชิงลึกทั้งความชื่นชอบแบรนด์ อัตราการทานอาหารแต่ละสัปดาห์

เพื่อนำไปต่อยอดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และทำลอยัลตี้โปรแกรมต่าง ๆ ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะบุคคล กระตุ้นการบริโภคแบรนด์ร้านอาหารในเครือทั้ง 17 แบรนด์ อาทิ มิสเตอร์โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง ราเมน, โคล สโตน ครีมเมอรี่, ไทยเทอเรส, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ, คัตสึยะ, อร่อยดี, เกาลูน ฯลฯ มีสาขาให้บริการ 1,380 สาขาทั่วประเทศ

สำหรับผลประกอบการปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 9,303 ล้านบาท ลดลง 8% จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ร้านอาหารต้องปิดบริการตามมาตรการรัฐ จึงทำให้ยอดขายของสาขาเดิมลดลง และปีนี้จากการปรับกลยุทธ์ในทุกมิติจะช่วยให้รายได้กลับมาเติบโตได้