จับตาบทสรุป #ดารุมะ บุฟเฟ่ต์ปิดร้าน ลูกค้าซื้อวอยเชอร์หวั่นโดนเท

จับตาบทสรุป #ดารุมะ บุฟเฟ่ต์ปิดร้าน

จับตาบทสรุป “ดารุมะ ซูชิ” ร้านบุฟเฟ่ต์ชื่อดัง ปิดร้านไม่มีกำหนด กระทบคนซื้อ Voucher ล่วงหน้า ผู้ลงทุนแฟรนไชส์รวบหลักฐาน ดำเนินคดี สคบ. แนะลูกค้าเก็บหลักฐานโอนเงิน-ชำระเครดิตติดต่อธนาคารขอคืนด่วน

วันที่ 19 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีโลกออนไลน์มีประเด็น ร้านอาหารญี่ปุ่นบุฟเฟ่ต์ DARUMA sushi (ดารุมะ ซูชิ) ปิดให้บริการ โดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า ประกอบกับ เฟซบุ๊กเพจของร้าน ได้หายไป และ ไม่สามารถติดต่อได้ จนทำให้ลูกค้าที่ซื้อ Voucher กังวล หวั่นจะซ้ำร้อยร้านซีฟู้ดแหลมเกตที่เคยกลายเป็นคดีความหลอกขาย Voucher

สำหรับ “ดารุมะ ซูชิ” มีสาขาราว ๆ 20 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ มีทั้งการลงทุนเองและระบบแฟรนไชส์ มีจุดขาย คือการจำหน่าย Voucher ทานอาหารบุฟเฟต์ผ่านแอพพลิเคชั่น ในราคาที่เข้าถึงง่าย 199 บาท โดยมีเงื่อนไขต้องซื้อ 5 ใบขึ้นไป และบัตร Voucher แต่ละใบมีอายุถึง 6 เดือนซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างมาก

ฝั่งความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ มีหลายรายอ้างว่าเป็นพนักงานของร้าน เล่าว่า พนักงาน รวมถึง เจ้าของแฟรนไชส์ทุกท่าน ไม่มีการทราบมาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้

โดยเพิ่งรู้ในเช้าวันที่ 17 มิถุนายน หลังจากเจ้าของบริษัทได้ดีดตัวเอง ออกจากไลน์กรุ๊ปทั้งหมด และไม่มีใครสามารถติดต่อได้ จึงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการปิดให้บริการ1วัน

ขณะเดียวกัน มีพนักงานรายหนึ่ง เล่าว่า เจ้าของหรือผู้บริหารของร้านดังกล่าว ได้เดินทางไปต่างประเทศแล้ว โดยยังมีหนี้ค้างค่าปลาแซลมอนและซัพพลายเออร์ เป็นตัวเลขกว่า 30 ล้านบาท

ด้าน “เพชร กฤชฐารวี พิจิตรพงศ์ชัย” นักธุรกิจทายาทเครื่องครัวตราจระเข้ หนึ่งในฐานะเจ้าของแฟรนไชส์ DARUMA sushi ออกมาชี้แจงผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว หลังมีดราม่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่า ขออนุญาต ชี้แจงเรื่องร้านดารุมะ ซูชิ ที่ได้ซื้อแฟรนไชส์มาจากคุณเมธา ชลิงสุข ทั้งหมด 6 สาขา ซึ่งในขณะนี้ เพชร และเจ้าของสาขาต่างๆ อีก 10 กว่า สาขา ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รวมตัวกัน รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทดารุมะและผู้บริหาร

ซึ่งทางเพชรและผู้เสียหายที่ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ได้ทำการลงเงินเพื่อเปิดสาขา โดยมีบริษัทดารุมะ เป็นผู้บริหารจัดการและเป็นคนดูแลบัญชีรายรับรายจ่ายทั้งหมดเเต่เพียงผู้เดียว และจะปันผลเป็นรายเดือนให้กับผู้ลงทุน การจัดโปรโมชั่นต่างๆ เป็นการดำเนินการโดยผู้บริหารบริษัทดารุมะ ซึ่งทางผู้ลงทุนไม่มีส่วนในการบริหารจัดการ ณ เวลานี้ทางกลุ่มผู้ลงทุนพยายามติดต่อผู้บริหารบริษัทดารุมะ เพื่อรอฟังคำชี้แจง

จนกระทั่ง วานนี้ (18 มิถุนายน 2565) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ออกมาแนะนำผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อคูปองล่วงหน้า ของร้านญี่ปุ่นชื่อดัง โดยไปใช้บริการแล้วร้านปิดไม่สามารถใช้บริการได้

ขอให้ผู้บริโภคเก็บหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อคูปองล่วงหน้า หลักฐานการคุยกันในแอพ/ แชท หากชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ขอให้ผู้บริโภคติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรขอเงินคืนโดยด่วน