EV เปิดสงครามราคารอบใหม่ รถจีนผลิตในไทย ดัมพ์อีกคันละ 1 แสน

ORA Good Cat

รถ EV จีนระเบิดสงครามราคาระลอกใหม่ หลังพาเหรดขึ้นไลน์ผลิตในประเทศ “ORA Good Cat” จากเกรท วอลล์ นำร่องเปิดตัวถล่มคันละแสนบาท ค่าย MG-BYD-ฉางอาน จ้องขยับตาม ส่วนอีกหลายแบรนด์เดินหน้าเข้ามาตรการ EV 3.5 ยอมควักกระเป๋าให้ส่วนลดเท่า EV 3.0 ยืนขายราคาเดิมหวังระบายสต๊อก สรรพสามิตแจงไร้กังวลเตรียมเงินอุดหนุนไว้กว่า 3 หมื่นล้านบาท มั่นใจดันไทยเทียบชั้นเวทีโลก

หลังวันที่ 31 ธันวาคม 2566 สิ้นสุดมาตรการส่งเสริมรถ EV ระยะแรก หรือ EV3.0 แล้ว ครม.เศรษฐา 1 ต่อยอดปั้นมาตรการส่งเสริมรถ EV ระยะที่สอง หรือ EV3.5 หลายคนจับจ้องว่าราคาขายรถ EV จะขยับสูงขึ้นจากเม็ดเงินอุดหนุนที่ได้น้อยลง แต่ตรงกันข้ามในตลาดกลับเกิดสงครามราคาขึ้นอีกรอบ ไม่เพียงแต่หลายแบรนด์จะยอมเฉือนเนื้อขายราคาเดิม ค่ายที่ประกาศขึ้นไลน์ประกอบและทำคลอดในประเทศก็ยังเดิมหน้าถล่มราคาขายต่ำกว่าเดิม ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดรถ EV แต่ละรายตอนนี้ไม่กล้ากะพริบตา

ORA ถล่มคันละแสน

นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ORA Good Cat ผลิตในไทย 3 รุ่นย่อย รุ่น PRO, รุ่น ULTRA สามารถวิ่งได้ 480 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (มาตรฐาน NEDC) ตั้งราคาขาย 799,000 บาท และ 899,000 บาท ส่วนรุุ่น GT มีพละกำลังสูงสุด 126 กิโลวัตต์ หรือ 171 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 250 นิวตัน-เมตร วิ่งได้ 460 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (มาตรฐาน NEDC) มีราคา 1,099,000 บาท ซึ่งระดับราคาจะต่ำกว่าช่วงนำเข้า

รวมถึงลูกค้าจะได้รับเงื่อนไขพิเศษมากมาก อาทิ ดอกเบี้ย 8.5% เมื่อดาวน์ 25% ผ่อน 48 เดือน ฟรี ประกันภัยชั้นหนึ่ง นาน 1 ปีเต็ม ฟรี GWM โฮมชาร์จเจอร์ ฟรีค่าอะไหล่และค่าแรงบำรุงรักษาตามระยะทาง GPSI ภายในระยะเวลา 5 ปี

ฟรี บริการช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 ปี ฟรี บริการระบบตรวจสอบและสั่งการรถผ่านอินเทอร์เน็ต พร้อมแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตภายในรถระยะเวลา 3 ปี

นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน เกรท วอลล์ฯ ยังได้ทำ MOU กับกรมสรรพสามิตเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV3.5 โดยจะมีรถ EV นำเข้ารุ่น ORA 07 ทั้ง 2 รุ่นย่อยขายในราคาเดิม LONG RANGE ราคา 1,299,000 บาท และรุ่น PERFORMANCE ราคา 1,499,000 บาท แม้ว่าเงินอุดหนุนการเข้าร่วมระยะที่สองจะได้น้อยกว่าถึงคันละ 5 หมื่นบาทก็ตาม

ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ ORA Good Cat รุ่นผลิตในประเทศที่เกรท วอลล์ฯ สามารถทำราคาขายได้ต่ำลงจากราคาเดิมราว ๆ 6 หมื่นบาท ส่วนรุ่น GT ถูกลงเป็นแสนบาทนั้น เพราะได้ยกเลิกแบตเตอรี่ขนาด 47 kWh กับ 63 kWh เหลือเป็นแบตเตอรี่ LFP 57.7 kWh ผลิตโดย Svolt พิกัดเดียว

ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจีเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้ MG จะเข้าร่วมมาตรการ EV 3.5 แต่ก็ยังคงราคาขายรถ EV ทุกรุ่นในราคาเดิม แม้ว่าเงินอุดหนุนที่จะนำมาหักในราคาไม่เท่ากับ EV 3.0 ก็ตาม เนื่องจากมีการวางแผนรองรับกับช่วงเวลาก่อนที่เริ่มผลิตจริงในประเทศไว้เรียบร้อยแล้ว และยืนยันว่าราคาขาย MG4 ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยที่จังหวัดระยอง เมื่อออกสู่ตลาดนั้นราคาก็จะใกล้เคียงกับราคาขายปัจจุบัน

“ช่วงนี้อยู่ระหว่างเร่งส่งมอบพร้อมจดทะเบียนให้กับลูกค้าที่ซื้อรถผ่านมาตรการ EV 3.0 ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2567 นี้”

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า มีหลายคนมองว่าที่ MG ขายราคาเดิมนั้นเพราะยังมีสต๊อกค้างอยู่ ยอมรับว่ายังพอมีอยู่แต่ไม่เยอะ สาเหตุที่ MG สามารถทำราคาได้ใกล้เคียงกันนั้นเพราะพยายามทำให้การเปลี่ยนผ่านจาก EV3.0 มาเป็น EV3.5 รวมไปถึงรถคลอดออกจากไลน์ผลิตในประเทศไร้รอยต่อมากที่สุด

ทุบราคา MG4 ลงอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า นอกจากราคาขายที่บริษัทแม่กำหนดไว้แล้ว ปรากฏว่าขณะนี้บรรดาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ MG ยังจัดโปรโมชั่นเรียกลูกค้าเข้าโชว์รูม ทุบราคา MG4 รุ่น D จากราคา 869,000 บาท เหลือ 699,000 บาท ส่วนรุ่น X จากราคา 969,000 บาท เหลือ 799,000 บาท หรือลดลงราคาเป็นแสน ถือเป็นเทคนิคการขายของดีลเลอร์แต่ละราย โดยตัดของแถม เช่น อุปกรณ์ชาร์จมาเป็นส่วนลดเพิ่มเติมให้กับลูกค้า โดยระบุว่าเป็นรุ่นนำเข้าราคาพิเศษลอตสุดท้าย ก่อนจะผลิตจากโรงงานในประเทศไทย

BYD ฉลองขายดีรับคืน 1 แสน

เช่นเดียวกับแบรนด์ Deepal จากฉางอาน ซึ่งอยู่ระหว่างขยายตัวแทนจำหน่าย ซึ่งปี 2566 มีโชว์รูมและศูนย์บริการถึง 40 แห่ง และในปี 2567 จะขยายเป็น 100 แห่ง ยังทำโปรโมชั่นทั้งดาวน์เริ่มต้น 0% ผ่อนนานถึง 84 เดือนพร้อมสิทธิพิเศษมากมายมูลค่า 250,000บาท อาทิ ฟรีประกันภัยชั้น 1 พร้อม พ.ร.บ. ของแถมอุปกรณ์อื่น ๆ โดยยังคงราคาขาย Deepal L07 ในราคา 1,329,000 บาท และ Deepal S07 ในราคา 1,399,000 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่ขายในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป

ขณะที่ BYD ยังทำแคมเปญฉลองครบ 3 ล้านคันทั่วโลก ด้วยการมอบสิทธิพิเศษตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 สำหรับ BYD SEAL รุ่น Dynamic ราคาเริ่มต้น 1,325,000 บาท รับเงินคืน 50,000 บาท เหลือ 1,275,000 บาท BYD DOLPHIN ราคาเริ่มต้น 699,999 บาท รับของแถม BYD ATTO 3 ราคาเริ่มต้น 1,099,900 บาท รับเงินคืน 100,000 บาท เหลือ 999,900 บาท

ยันต้นทุนผลิตในประเทศต่ำลง

ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแบรนด์รถ EV จีนอีกหลายแบรนด์ที่อยู่ระหว่างขึ้นไลน์ผลิตตามเงื่อนไขนำเข้ามาขายก่อนผลิตชดเชยภายหลัง ตอนนี้มีถึง 7 รายที่ประกาศความชัดเจนขึ้นไลน์ประกอบ อาทิ

ORA Good Cat จากค่ายเกรท วอลล์ฯ, NETA V-II, WULING AIR, VOLT และ MG4 ซึ่งทั้ง 4 รายยืนยันจะมีรถ EV ประกอบภายในประเทศวางจำหน่ายไตรมาสแรกปีนี้ ส่วนไตรมาสที่ 2 จะตามมาด้วย BYD Dolphin ราว ๆ เดือนเมษายน ที่เหลือ เช่น GAC AION และฉางอาน น่าจะพร้อม 100% ราวปลายปีนี้
“ส่วนใหญ่ยืนยันว่า การผลิตในประเทศจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่านำเข้า และสามารถทำราคาขายได้ต่ำลงอีกกว่าที่ขายอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะวอลุ่มซึ่งจะทำให้ได้อีโคโนมีออฟสเกล”

ทั้งนี้คาดว่าทั้ง 7 โรงงานน่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนราว ๆ 7 หมื่นล้านบาท อาทิ เกรท วอลล์ฯ 2.2 หมื่นล้านบาท มีกำลังผลิตต่อปีราว ๆ 1 แสนคัน (รวมส่งออก) MG ใช้เม็ดเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท มีกำลังผลิตต่อปี 1 แสนคัน (รวมส่งออก) ขณะที่แบรนด์ NETA ใช้เม็ดเงินลงทุน 3,500 ล้านบาท มีกำลังผลิตต่อปี 2 หมื่นคัน BYD ใช้เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิตรวมส่งออก 1.5 แสนคัน, GAC เฟสแรก ใช้เม็ดเงินลงทุน 6 พันล้านบาท กำลังการผลิต 2 หมื่นคัน, ฉางอาน เม็ดเงินลงทุน 8.8 พันล้านบาท กำลังการผลิตเฟสแรก 1 แสนคัน, วูหลิง 200 ล้านบาท กำลังการผลิต 6 พันคันต่อปี

“เชอรี่” ตั้งบริษัทในไทยแล้ว

รายงานข่าวจากเชอรี่ กรุ๊ป ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนชั้นนำระดับโลกที่ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย กางแผนพร้อมเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในราว ๆ เดือนมีนาคม 2567 นี้ ขณะนี้จดทะเบียนตั้งบริษัทในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ บริษัท โอโมด้า แอนด์ เจคู่ ประเทศไทย จำกัด เป็นที่เรียบร้อย ตามแผนงานพร้อมแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ภายใต้แบรนด์ OMODA (โอโมด้า) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้า 100% และ JAECOO (เจคู่) รถ SUV สมรรถนะสูง พร้อมเปิดราคาเดือนมีนาคมในช่วงงานมอเตอร์โชว์ปีนี้

“ตลอดระยะเวลากว่า 27 ปี เชอรี่ กรุ๊ป ได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านยนตรกรรมอย่างไม่หยุดนิ่ง ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง โดยได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา 5 แห่งทั่วโลก พร้อมกับวิศวกรนักวิจัยพัฒนากว่า 7,000 คน ผ่าน 5 เป้าหมายของยานยนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ขับขี่อย่างแท้จริง เชอรี่ กรุ๊ป มีสิทธิบัตรจากการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่า 20,000 รายการ รวมไปถึงเทคโนโลยี Super Hybrid และเทคโนโลยีไฮบริด รุ่นที่ 3 C-DM ไฮบริดไฟฟ้าสมรรถนะสูง จนคว้ารางวัล Top Ten Engines and Hybrid Systems มาแล้ว และเชอรี่ยืนยันว่าจะใช้ประเทศไทย ศูนย์กลางรถยนต์พวงมาลัยขวาแห่งเอเชีย

สรรพสามิตพร้อมจ่ายอุดหนุน

ขณะที่นายภาคภูมิ ตันธนศรีกุล เลขานุการกรม กรมสรรพสามิต ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การจ่ายเงินอุดหนุนรถ EV นั้น กรมจะจ่ายเป็นรายไตรมาส หรือทุก ๆ 3 เดือน โดยขณะนี้วงเงิน 3,000 ล้านบาทแรกในโครงการ EV3.0 จ่ายไปหมดแล้ว ขณะที่ในปีงบประมาณ 2567 กรมได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายอีก 3,000 ล้านบาท รวมถึงจะมีเงินงบฯกลางอีก 7,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินอุดหนุน EV3.0

ส่วนโครงการ EV3.5 ที่ขณะนี้มีค่ายรถทยอยเข้ามาลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) แล้ว ทั้งค่ายฉางอาน, เอ็มจี และเกรท วอลล์ฯ ซึ่งทั้ง 3 ค่ายนี้ก่อนหน้านี้ได้เข้าร่วม EV3.0 มาอยู่แล้ว เป็นการมาต่อยอดไปสู่ EV3.5 ต่อ

“ในส่วนเงินอุดหนุน EV3.5 เราก็จะมีงบฯกลางอีก 7,000 ล้านบาท เตรียมไว้รองรับ ดังนั้นไม่ว่าโครงการไหนมาก่อน ก็จ่ายอุดหนุนได้ทั้งหมด” นายภาคภูมิกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ยังมีอีกหลายบริษัทที่อยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมลงนามในข้อตกลงรับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 โดยมีการคาดการณ์การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากมาตรการ EV3.5 ประมาณ 175,000 คัน ในปี 2567-2568 ส่งผลให้เกิดการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ ประมาณ 350,000-525,000 คัน ภายในปี 2570 โดยมียอดประมาณการเงินอุดหนุนในมาตรการ EV3.5 ทั้งโครงการอยู่ที่ 34,060 ล้านบาท

โดยมั่นใจว่ามาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จะทำให้มีการเปลี่ยนผ่านอุตฯยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตฯยานยนต์ไฟฟ้า สามารถรักษาฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ และสามารถขยายโอกาสประเทศไทยในเวทีโลก และที่สำคัญจะสอดรับกับเป้าหมายการผลิตและใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2573