“รีเจ็กต์สินเชื่อ” พุ่งไม่หยุด อีวีจีนไร้ปัญหา-ปิกอัพอ่วม

ผลิตรถ

ค่ายรถกุมขมับ ยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์พุ่งไม่หยุด หลังหนี้เสียรถยนต์ทะลุ 2.3 แสนล้าน เทียบสันดาปรีเจ็กต์เรตสูงกว่า EV หลายเท่าตัว ปิกอัพฮอตแตะ 50% SMEs ถูกจัดเข้ากลุ่มสร้างหนี้เสียมากสุด ค่ายรถเปิดเกมรุกใหม่หลังผนึกแคปทีฟไฟแนนซ์ไม่ได้ผล รุกปล่อยสินเชื่อเอง สภาอุตฯเผยตัวเลขผลิตรถยนต์เดือนแรกลด 12%

นายธวัชชัย จึงสงวนพรสุข กรรมการบริหาร กลุ่มพระนครยนตรการ ตัวแทนขายรถยนต์หลากหลายยี่ห้อ อาทิ ฟอร์ด, มาสด้า, มิตซูบิชิ, วอลโว่, อีซูซุ, ฮอนด้า และเกรท วอลล์ มอเตอร์ เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ปี 2567 ยังน่าห่วงมากเพราะไม่มีปัจจัยบวกใด ๆ ที่จะมาช่วยกระตุ้น หนำซ้ำภาวะการขายยากขึ้นอีกจากความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ โดยรวมตอนนี้มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อกว่า 35-40%

ทำให้เชื่อว่ายอดขายปีนี้ทั้งตลาดคงไม่โตขึ้นใกล้เคียงปี 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มพระนครฯเองจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการขยายธุรกิจ ทั้งการเพิ่มแบรนด์ใหม่ (รถจีน) และการขยายอู่ซ่อมสีตัวถังซึ่งพยายามทำให้ครบทุกแบรนด์ที่จำหน่าย

“อย่าลืมว่าลูกค้าซื้อรถปัจจุบัน 80-90% ใช้สินเชื่อ ดังนั้นเชื่อว่าตลาดคงซึม ๆ ไปอย่างนี้อีกพักใหญ่ ส่วนยอดขายของเราปีนี้ตั้งไว้ราว ๆ 2 หมื่นคัน เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ทำได้ 1.8-1.9 หมื่นคัน หรือมีมูลค่ารวม 2 หมื่นล้านบาท”

รีเจ็กต์เรตสันดาปแตะ 50%

ผู้สื่อข่าวรายงานจากการสำรวจยอดปฏิเสธสินเชื่อของไฟแนนซ์ต่าง ๆ พบว่า กลุ่มรถปิกอัพซึ่งเป็นกลุ่ม SMEs ใช้ประกอบธุรกิจ มีอัตราการปฏิเสธสูงถึง 50% เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มักถูกจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่สร้างปัญหาหนี้เสียมากสุด แม้ว่าช่วงหลังค่ายรถจะใช้วิธีร่วมมือกับแค็ปทีฟไฟแนนซ์ ยืดเวลาการผ่อนให้ยาวขึ้นเพื่อให้การผ่อนชำระต่องวดต่ำลง แต่ก็ช่วยได้นิดหน่อย

โดยในช่วงปี 2566 ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทยตามข้อมูลแบงก์ชาติระบุไว้ 16.2 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสียรถยนต์อยู่ในลำดับต้น ๆ สูงถึง 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 28% และยังมีหนี้ที่ต้องจับตาพิเศษอีกกว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่ในส่วนกลุ่มรถยนต์นั่งโดยเฉพาะรถ EV กลับไม่ค่อยพบยอดการปฏิเสธสินเชื่อ

นายสุนทรพันธ์ เดชะเทศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปอโยต์ และจี๊ป ประเทศไทย ภายใต้บริษัท เบลฟอร์ต ออโตโมบิล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดรถยนต์ในปีนี้ถ้าจะให้ประเมินต้องบอกว่าไม่ชัดเจน เนื่องจากต้องรอดูสภาพเศรษฐกิจและแรงเหวี่ยงของการปล่อยสินเชื่อว่าจะกระทบเป็นลูกโซ่ลามมาสู่ตลาดรถยนต์นั่งมากน้อยแค่ไหน หลังจากตลาดรถเพื่อการพาณิชย์เจอไปเต็ม ๆ จากมาตรการเข้มงวดของไฟแนนซ์ในช่วงที่ผ่านมา แต่เท่าที่ดูตลาดยังไม่เห็นสัญญาณบวก ประกอบกับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มาแรงทำให้ผู้ประกอบการยังต้องรอดูสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด

แหล่งข่าวจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตลาดรถยนต์ยังต้องเผชิญปัจจัยลบ ทั้งภาวะเศรษฐกิจและอัตราหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น โดยคาดว่าตลาดรถยนต์จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ตลาดที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือ ปิกอัพ ยกตัวอย่าง โตโยต้า ไฮลักซ์ แชมป์ ทั้งดีลเลอร์และบริษัทแม่ร่วมมือกันผลักดันยอดขายก็ค่อย ๆ ดีขึ้น ปัญหาใหญ่คือสถาบันการเงินมีความเข้าใจว่ารถรุ่นนี้เป็นรุ่นใหม่ ทำให้คนซื้อมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งประกันภัยและเงินดาวน์จำนวนมาก ลูกค้าในกลุ่มนี้จึงถูกคัดกรองมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่รถรุ่นนี้โตโยต้าต้องการให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

พลิกทำสินเชื่อเอง

นายประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้จัดจําหน่ายและให้บริการหลังการขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า BYD อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ภายใต้กลุ่มธุรกิจเรเว่ เปิดเผยถึงสถานการณ์ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน และปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ขณะนี้ BYD ยังไม่ได้รับผลกระทบจากตรงนี้มากนัก ที่ผ่านมาอาจจะมียอดปฏิเสธสินเชื่อเพียง 5% นั้น

สถานการณ์ของเราต้องบอกว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ลูกค้าส่วนใหญ่วางเงินดาวน์ 25% ไฟแนนซ์ผ่านฉลุย นอกจากนี้ ลูกค้าประมาณ 25% ยังเป็นกลุ่มซื้อเงินสด ส่วนที่ซื้อผ่อนหลัก ๆ เป็นกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน รายได้ระดับ 40,000 บาทขึ้นไป หรือกลุ่มเจ้าของกิจการ นอกจากนี้ กลุ่มเรเว่ฯอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจเพื่อเข้าไปดูไฟแนนซ์เอง

“เราอยากอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในอนาคตใช้เงินของเราเอง หรืออาจจะร่วมกับสถาบันการเงินพันธมิตร ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ราว ๆ ไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ปีนี้”

ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า เรเว่ ออโตโมทีฟ จ้องขยายธุรกิจไฟแนนซ์มาพักใหญ่ โดยมีข้อมูลว่าได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร หวังให้การปล่อยสินเชื่อในอนาคตมีความรัดกุมมากขึ้น

จับตาค่าย EV ปล่อยกู้เอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สินเชื่อเช่าซื้อของระบบแบงก์ไทยปี 2567 จะกลับมาเติบโตในแดนบวก 1.5% จากที่หดตัว 0.4% ในปี 2566 เนื่องจากปีนี้ คาดว่าจะมีอานิสงส์จากการเร่งตัวขึ้นของยอดขายรถใหม่ ที่คาดการณ์ที่ 8 แสนคัน เทียบกับ 7.76 แสนคันในปี 2566 ซึ่งจะมีผลเหนืออัตราการตัดขายหนี้ปี 2567 ที่คาดว่าจะมีระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2566 สุดท้ายแล้วจึงทำให้มีโอกาสเห็นยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อที่พลิกกลับมาขยายตัวที่ 1.5% สู่ระดับ 1.197 ล้านล้านบาทได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง กอปรกับปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงและปัญหาอำนาจซื้อ จึงทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อข้างต้นยังถือว่าเป็นไปอย่างจำกัด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนโควิดที่เห็นอัตราการขยายตัวที่กว่า 6% ต่อปี

ทั้งนี้ ในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) สินเชื่อเช่าซื้อ จะขยับขึ้นต่อเนื่องจาก 2.51 หมื่นล้านบาท มาที่ 2.66 หมื่นล้านบาท และคาดว่าสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อเช่าซื้อรวมของระบบแบงก์จะขยับขึ้นไปที่ 2.22% จาก 2.13% ในปี 2566

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า มีปัจจัยติดตามอยู่ที่กระแสความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้า BEV และกฎเกณฑ์จากทางการ โดยที่ผ่านมาความนิยมของรถ BEV มีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของค่ายรถและกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทรถยนต์ที่เน้นทำการตลาดรถยนต์สันดาปเดิมเป็นหลัก ทำให้ในระยะถัดไปคงต้องจับตาถึงการปรับกลยุทธ์ของผู้ผลิตรถยนต์สันดาป รวมถึงการที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV อาจเข้ามารุกตลาดสินเชื่อเช่าซื้อเอง ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการแข่งขันในระยะต่อไป

ยอดผลิตหดตัวไม่หยุด

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตลาดที่หดตัวส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตรถยนต์อย่างชัดเจนโดยมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง เดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้มีทั้งสิ้น 142,102 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2566 ราว ๆ 12.46% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง ผลิตได้ 52,509 คัน ลดลง 7.27% รถกระบะขนาด 1 ตัน ผลิตได้ทั้งหมด 86,788 คัน ลดลง 16.02%

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ตลาดปิกอัพ ส.อ.ท.คาดการณ์ปี 2567 ไฟแนนซ์ยังเข้มการปล่อยสินเชื่อด้วยหนี้เสียที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าดูจากการปฏิเสธสินเชื่อตอนนี้น่าจะมีสูงถึง 50% และที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือจำนวนรถถูกยึด ปีที่แล้วมีรถที่ไหลเข้าลานประมูลเพิ่มขึ้นถึง 3 แสนคัน ซึ่งปกติเฉลี่ยแค่ 1.8 แสนคันต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าลูกหนี้ไม่มีกำลัง ปีนี้ก็คงต้องระวังเรื่องนี้ด้วย