รถจีนแห่ดีล ปตท.จ้างผลิต เสียบแพ็กเกจอีวี-โตโยต้าลุยกระบะไฟฟ้า

ค่ายรถจัดทัพอีวีเซ็นเอ็มโอยูสรรพสามิตเข้าโครงการแพ็กเกจอีวี รับส่วนลด 1.5 แสนบาท พร้อมสิทธิประโยชน์ภาษี ก่อนเริ่มมอเตอร์โชว์ 23 มีนาคมนี้ “เอ็มจี-เกรทวอลล์” มาแน่ จับตาแบรนด์จีนน้องใหม่พาเหรดเข้าตลาดไทย ซุ่มเจรจา “บริษัทร่วมทุน ปตท.-ฟ็อกซ์คอนน์” จ้างผลิต โดดเข้าเงื่อนไขสรรพสามิต ยักษ์ญี่ปุ่น “โตโยต้า” เตรียมเขย่าวงการ ส่งรถกระบะอีวีชิมลาง ค่ายรถบ่นอุบ ถูกเรียกแบงก์การันตีก้อนโต สรรพสามิตยันวางเงินตามระดับความเสี่ยง พร้อมแจงไม่ให้สิทธิรถ “ไมเนอร์เชนจ์” หวั่นเงินอุดหนุนรัฐไม่ถึงผู้บริโภค 100%

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์ที่แสดงความพร้อมที่จะเข้ามาลงนามสัญญากับกรมสรรพสามิต เพื่อเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของรัฐบาล

และจะนำรถอีวีมาจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์ ระหว่างวันที่ 23 มี.ค.นี้ ไปจนถึงวันที่ 3 เม.ย. 2565 มีอยู่ด้วยกัน 2-3 ค่าย โดยค่ายเอ็มจีกับเกรทวอลล์ มอเตอร์ มีแน่นอน และมีรถอีวียี่ห้อไมด้าอีกราย ที่จะร่วมมาตรการ แต่ในงานมอเตอร์โชว์อาจจะเพียงนำรถมาโชว์ก่อน

ค่ายญี่ปุ่นยังไม่พร้อม

ส่วนผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น ขณะนี้หลายค่ายแสดงความสนใจ แต่ยังดำเนินการไม่ทันนำรถอีวีมาขายในงานมอเตอร์โชว์ ซึ่งก็มีแนวโน้มว่า อาจจะนำมาขายได้ในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า

“เรื่องความพร้อม คือเราดูจากโมเดลรถอีวีที่แต่ละค่ายมีอยู่ ถ้ามีโมเดลอยู่แล้ว ทำตลาดอยู่ในประเทศอื่น ก็จะมาได้เร็ว ภายใน 3-4 เดือน ก็สามารถนำมาขายในเมืองไทยได้เลย แต่ก็มีอีกส่วนคือ ถ้าเป็นแบบที่มีการพัฒนาโมเดลขึ้นมาใหม่เลย

แบบนี้อาจจะช้า คงต้องใช้เวลาถึงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ทั้งนี้ เราพยายามเร่งพิจารณาอยู่ เพราะต้องการดูในเรื่องราคาที่ค่ายรถจะนำไปขาย เพื่อให้ค่ายรถที่เข้าร่วม สามารถขายรถอีวีได้ในราคาที่คำนวณส่วนลดตามจริง และค่ายรถได้รับกำไรที่เป็นมาตรฐานด้วย” นายณัฐกรกล่าว

นายณัฐกรกล่าวด้วยว่า การลงนามคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ใน 1-2 สัปดาห์นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่างกฎหมายและร่างสัญญาต่าง ๆ ตรวจเสร็จเรียบร้อยก่อน ซึ่งบางส่วนจะต้องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

“ในงานมอเตอร์โชว์ คาดว่ามีรถพร้อมจะเอามาขายอยู่ 2,000-3,000 คัน แต่ตลอดทั้งปีผมคาดว่าอาจจะขายได้ 7,000-10,000 คัน ซึ่งงบประมาณเพียงพอ เพราะถ้า 10,000 คัน ก็ใช้แค่ 1,500 ล้านบาท จากที่ขออนุมัติหลักการไว้ 3,000 ล้านบาทในปีแรก โดยรถต้องมีการจดทะเบียนก่อน กรมถึงจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ค่ายรถ” นายณัฐกรกล่าว

โตโยต้าซุ่มทำกระบะอีวี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในงานมอเตอร์โชว์จะเห็นค่ายรถที่มีความพร้อมเข้ามาร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ เอ็มจี กับเกรทวอลล์ มอเตอร์ ที่มีรถพร้อม

ส่วนอีกค่ายเป็นรถอีวียี่ห้อไมด้าจากประเทศจีน ซึ่งทางกรมสรรพสามิต จะมีการเซ็นสัญญาเพื่อร่วมมาตรการก่อนวันที่ 23 มี.ค.นี้

“ไมด้าเป็นรถที่จะนำเข้ามาจากจีนเป็น CBU ก่อน แล้วจากนั้นจะมาจ้างบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.ปตท.กับ Foxconn ผลิตในประเทศภายใน 1-2 ปีจากนี้” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นมี 2-3 ค่ายที่กำลังพิจารณากันอยู่ โดยอาจจะนำมาขายได้ในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า คือนิสสันที่มีรถอีวีอยู่แล้ว ขณะที่มิตซูบิชิก็กำลังพิจารณาว่าอาจจะนำเข้ารถอีวีขนาดเล็กมาจำหน่าย

นอกจากนี้มีโตโยต้าที่มีแนวคิดจะพัฒนารถกระบะอีวี ซึ่งคาดว่าจะผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยภายในปีนี้ โดยอาจจะเป็นช่วงปลายปี เพราะปัจจุบันกำลังเร่งออกแบบอยู่ อย่างไรก็ดีทางกรมสรรพสามิตคงต้องติดตามดูความคืบหน้าอีกที ว่าสามารถทำได้ทันหรือไม่

“รถที่จะนำมาขายได้ในอีก 4-5 เดือน ซึ่งจริง ๆ แล้วในหลักการค่ายรถสามารถเปิดให้จองในงานมอเตอร์โชว์ได้ แต่ไม่รู้จะทำหรือไม่ เพราะจะยังไม่มีราคาขายที่แท้จริง กรมสรรพสามิตจะยังไม่อนุมัติราคาให้ ซึ่งอาจจะมีเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังจากนั้น ถ้าค่ายไหนจะทำก็ต้องรับความเสี่ยงไปเอง” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ค่ายรถยนต์ที่ไม่ได้มีการเซ็นสัญญากับกรมสรรพสามิตจะไม่สามารถนำรถอีวีไปขายและจัดโปรโมชั่นขายรถตามมาตรการรัฐได้ ดังนั้นการเข้าร่วมมาตรการค่ายรถยนต์จะต้องยื่นโครงสร้างราคาขายมาให้กรมอนุมัติก่อน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภค และเพื่อให้เม็ดเงินในส่วนที่รัฐบาลอุดหนุนถึงมือผู้บริโภค 100%

บ่นอุบเรียกแบงก์การันตีก้อนโต

แหล่งข่าวผู้ผลิตรถญี่ปุ่นเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากกรมสรรพสามิตหารือร่วมกับค่ายรถยนต์เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาและจะเรียกลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันภายในสัปดาห์นี้ คาดว่าน่าจะต้องมีการคุยกันในรายละเอียดเพิ่มเติม

เพราะมีเงื่อนไขบางตัวที่ค่ายรถยนต์ยังรับไม่ได้ เช่น การเรียกแบงก์การันตี ซึ่งทางกรมสรรพสามิตต้องการเยอะ ส่วนค่ายรถก็ไม่อยากจ่ายก้อนโตแบบนั้น นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยโดยเฉพาะการปิดกั้นไม่ให้รถอีวีรุ่นไมเนอร์เชนจ์ได้รับสิทธิ ซึ่งถ้ามองตามวัตถุประสงค์ของการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มตัว หลักเกณฑ์นี้ก็ไม่น่านำมาใช้เพราะจะทำให้การไปสู่เป้าหมายช้าลง

เอ็มจีพร้อมบุก 3 รุ่น

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัปดาห์นี้จะเข้าไปเซ็น MOU พร้อมวางแบงก์การันตีกับทางกรมสรรพสามิต

ซึ่งจะทำให้เอ็มจีสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าในงานมอเตอร์โชว์ปลายเดือนนี้ได้ต่ำลงจากราคาปกติ เนื่องจากมีต้นทุนภาษีสรรพสามิตต่ำลง ส่วนลูกค้าก็ได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีก 1.5 แสนบาท โดยขณะนี้เอ็มจีมีรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่นพร้อมนำเสนอ นั่นคือเอ็มจี อีพี และ MG ZS EV ซึ่งล่าสุดมีรุ่นไมเนอร์เชนจ์มาให้ลูกค้าเลือกด้วย

“MG ZS EV ไมเนอร์เชนจ์” ที่มาพร้อมฟีเจอร์ล้ำสมัยและมีสมรรถนะสูง ด้วยมอเตอร์ขนาด 177 แรงม้า แบตเตอรี่ 50.3 กิโลวัตต์/ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ 403 กิโลเมตร”

รายงานข่าวจากเอ็มจี เซลส์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปีนี้จะส่งรถอีวีลงตลาดไม่ต่ำกว่า 3 รุ่น และสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ให้แข็งแกร่ง รองรับกับตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ MG ZS EV ไมเนอร์เชนจ์ พิเศษสุด ๆ จองตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 21 มีนาคมนี้ ที่ www.mgcars.com เท่านั้น โดยจอง 10,000 บาท สามารถใช้เป็นส่วนลดได้ 20,000 บาท รับประกันแบตเตอรี่นาน 8 ปี

หรือ 180,000 กิโลเมตร รับประกันคุณภาพรถยนต์นาน 4 ปี หรือ 120,000 กิโลเมตร ฟรี MG Home Charger พร้อมค่าติดตั้ง ประกันภัยชั้น 1 นาน 1 ปี ฟรี อุปกรณ์เชื่อมต่อกระแสไฟ V2L มูลค่า 10,000 บาท โดยจะประกาศราคาอย่างเป็นทางการในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ วันที่ 22 มีนาคมนี้

ส่วนรุ่น MG EP มาพร้อมกับดอกเบี้ย 1.89% แถมฟรี MG โฮมชาร์จเจอร์จำนวน 1 ชุด, ค่าติดตั้ง MG โฮมชาร์จเจอร์, ประกันภัยชั้น 1 พร้อม พ.ร.บ.คุ้มครอง 1 ปี และพิเศษเงื่อนไขการรับประกันแบตเตอรี่ 8 ปี หรือ 180,000 กิโลเมตร

ขณะที่รายงานข่าวจากค่ายเกรท วอลล์ฯ เปิดเผยว่า เตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า “ORA Good Cat GT” เสริมทัพอีกรุ่นในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 นี้ และจะนำเอสยูวีออฟโรดสไตล์โมเดิร์นขวัญใจขาลุย “TANK 300 HEV” ซึ่งจะนำมาจัดแสดงในตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย

และขณะนี้ยังได้ปูพรมแคมเปญ ORA GOOD CAT ทุกรุ่น รับดอกเบี้ย 0.99% และ 1.79% นาน 48 เดือน ฟรีประกันภัยชั้น 1 นาน 1 ปี พร้อมฟรี 1 โฮมชาร์จเจอร์

พร้อมติดตั้ง GWM Pro Service Inclusive (GPSI) ค่าอะไหล่และค่าแรงบำรุงรักษาตามระยะทาง ภายใน 5 ปี หรือ 75,000 กม. ฟรีบริการส่งมอบรถทั่วประเทศ, บริการช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชม. ฟรี 5 ปี, รับประกันคุณภาพรถใหม่ 5 ปี หรือ 150,000 กม., รับประกันแบตเตอรี่ EV 8 ปี หรือ 180,000 กม., ฟรีคะแนนสะสม GWM point 15,000 คะแนน

“เนต้า” ขอรับแพ็กเกจอีวีด้วย

แหล่งข่าวจากบริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเตรียมนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ “เนต้า (Neta)” จากประเทศจีนเข้ามาทำตลาด โดยจะมี 2 รุ่น ด้วยกัน คือรุ่น V เป็นคอมแพ็กต์เอสยูวี วิ่งได้ไกล 400 กม. ต่อการชาร์จและ รุ่น U pro วิ่งได้ไกล 600 กม.

โดยพร้อมอวดโฉมในงานมอเตอร์โชว์ ผ่านผู้จำหน่ายซึ่งได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากบริษัท และเร็ว ๆ นี้บริษัทจะเข้าไปทำเอ็มโอยูกับทางกรมสรรพสามิต เพื่อขอรับแพ็กเกจส่งเสริมอีวี ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งเงินอุดหนุนและการลดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิต

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับราคาขายคาดว่าจะเปิดเผยภายในงาน ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากได้แพ็กเกจสนับสนุนจากรัฐบาล รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่น จะสามารถแข่งขันในตลาดได้สบาย ๆ ส่วนการผลิตชดเชยในปี 2567 นั้น

แม้บริษัทจะไม่ได้มีโรงงานประกอบในประเทศไทย แต่จะใช้วิธีจ้างผลิตซึ่งขณะนี้ได้มีการตกลงกับทางกลุ่มบริษัทอรุณพลัสในเครือ ปตท.ไปแล้ว ส่วนกำลังการผลิตเป็นเท่าใดนั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

สำหรับบริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ตั้งอยู่ที่อาคารอาร์เอสยูทาวเวอร์ สุขุมวิท 31หมวดธุรกิจ การขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ รถตู้ และรถขนาดเล็กที่คล้ายกัน

วัตถุประสงค์ประกอบกิจการติดต่อประสานงาน ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการขายรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ใหม่ มีนายฝาง หยุนโจว เป็นคณะกรรมการ มีทุนจดทะเบียน 110 ล้านบาท

ด้าน นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส ประธานบีอาร์จี กรุ๊ป กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บีอาร์จีได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนจำหน่ายเจ้าแรกจากบริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด

เพื่อจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าน้องใหม่มาแรงอย่าง “Neta” มาพร้อมสเป็กพวงมาลัยขวาและเทคโนโลยีอัจฉริยะมากมาย มีศูนย์บริการมาตรฐาน และในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ยังเปิดรับจองทั้งรุ่น Neta V รวมถึง Neta U Pro นอกจากนี้ภายในบูทบีอาร์จียังมีรถยนต์ไฮไลต์สุดพิเศษ “Tesla Model Y” รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ดีไซน์สุดล้ำ

มาพร้อมกับขุมพลังจากแบตเตอรี่ ลิเทียมไอออน และมอเตอร์ไฟฟ้าอันทรงพลัง สามารถเดินทางได้ระยะทางไกลถึง 525 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยมากมาย อาทิ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ และระบบ Sentry Mode เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า

SERES เครือ “ตงฟง” ขอเอี่ยว

ขณะที่ นายพิทยา ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ อีวี ไพรมัส ในเครือ ตงฟง มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์แบรนด์ DFSK แต่ผู้เดียวในประเทศไทย และได้ทำการเปิดตัวรถ SUV เครื่องสันดาปไปแล้ว 2 รุ่นคือ DFSK GLORY i-Auto และ DFSK GLORY 560

ล่าสุดยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดจำหน่ายแบรนด์ SERES แต่ผู้เดียวในประเทศไทยอีก 1 แบรนด์ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) SERES ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ SERES ในประเทศไทยอย่างน้อย 3 รุ่นในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยเตรียมแนะนำรถ SERES จำนวน 2 รุ่นแรกในประเทศไทย คือ SERES 3 และ SERES 5 ภายในปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่นของค่ายอีวี ไพรมัส ในเครือตงฟง มอเตอร์นั้น คาดว่าจะใช้แนวทางเดียวกับแบรนด์เนต้า โดยจะใช้วิธีนำเข้ามาจำหน่ายก่อนและเลือกจ้างผลิตชดเชยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด

แจงแบงก์การันตีตามความเสี่ยง

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องมีความพร้อม โดยนอกจากพิจารณาเรื่องโมเดลรถแล้ว ทางกรมสรรพสามิตจะต้องให้ค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการต้องวางเงินประกัน

หรือแบงก์การันตีด้วย แต่จะพิจารณาไม่ให้เป็นภาระผู้ประกอบการมากเกินไป โดยจะพิจารณาตามความเสี่ยงเป็นสำคัญ

“เรื่องนี้เป็นการบริหารความเสี่ยง ถ้าค่ายรถมีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อาจจะวางแค่ 10 ล้านบาท คือความเสี่ยงน้อย แต่ถ้าทุนจดทะเบียนต่ำ อาจจะต้องเรียกแบงก์การันตีมากหน่อย เพราะถือว่ามีความเสี่ยง” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ การเข้าร่วมมาตรการจะเป็นการการันตีว่าเงินที่รัฐบาลอุดหนุน 70,000-150,000 บาทต่อคัน รวมถึงการลดอากรขาเข้า เป็นการช่วยลดต้นทุนของค่ายรถ และการลดภาษีสรรพสามิตเป็นการลดค่าบริหารจัดการให้ค่ายรถ

ดังนั้นส่วนลดเหล่านี้จะถึงมือผู้บริโภคแน่นอน 100% โดยในงานมอเตอร์โชว์นี้จะเห็นรถอีวีถูกลง จากราคาคันละ 900,000 บาท จะลดลงเหลือคันละราว ๆ 700,000 บาทแน่นอน

หวั่นไมเนอร์เชนจ์เอาเปรียบผู้ซื้อ

ส่วนกรณีผู้ประกอบการระบุว่าทางกรมสรรพสามิตไม่ให้รถที่เป็นไมเนอร์เชนจ์ได้ประโยชน์เงินอุดหนุนและภาษีจากมาตรการด้วยนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า เนื่องจากทางกรมสรรพสามิตกังวลว่าจะเป็นการไปเปิดโอกาสให้ผู้ขายปรับขึ้นราคารถ

ทำให้เงินส่วนลด 150,000 บาท ที่ภาครัฐอุดหนุนให้ประชาชนผู้บริโภคจะไปถึงมือประชาชนไม่ครบ 150,000 บาท แต่จะกลายเป็นกำไรของค่ายรถไป จึงไม่ให้รถไมเนอร์เชนจ์ได้สิทธิด้วย

“ที่ไม่อยากให้มีไมเนอร์เชนจ์ ก็เพราะว่าเดี๋ยวผู้ประกอบการอาจจะเอารถที่ราคาอาจจะตั้งไว้ 850,000 บาท พอไมเนอร์เชนจ์ก็ปรับราคาขึ้นเป็น 900,000-950,000 บาท ซึ่งอันนี้จะทำให้เงินส่วนลดถึงมือผู้บริโภคแบบไม่เต็ม 100%

เพราะตรงนี้พิสูจน์ยาก ยกตัวอย่าง นำเข้ารถจากต่างประเทศมา อาจจะบอกว่า เพิ่มไฟซีนอน 100,000 บาท แต่จริง ๆ แล้วต้นทุนอาจจะแค่ 10,000 บาท ดังนั้นไมเนอร์เชนจ์อาจจะทำให้มีการขึ้นราคาเกินกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องเอาโครงสร้างราคามาให้ดูกันด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ปตท.+ฟ็อกซ์คอนน์รับจ้างผลิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 3 ก.พ. 2565 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจ้งความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน “ฟ็อกซ์คอนน์” เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรเรียบร้อยแล้ว ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3,220 ล้านบาท

ภายใต้ชื่อบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (“Horizon Plus”) โดยบริษัท อรุณพลัส จำกัด ( บริษัทย่อย ปตท.) ถือหุ้น 60% และบริษัท ลี่ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (บริษัทย่อย “ฟ็อกซ์คอนน์”) ถือหุ้น 40%

ก่อนหน้านี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท อรุณ พลัส จำกัด จะพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV Value Chain ทั้งหมด

ด้วยบริการครบวงจรทั้งการออกแบบ ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนชิ้นส่วนสำคัญ เช่น Battery Platform Drivetrain หรือ Motor โดยแผนลงทุนในช่วง 5-6 ปี จะเริ่มจากการสร้างโรงงานใหม่ในพื้นที่ EEC ภาคตะวันออก วางระบบการผลิต การบริหารซัพพลายเชน

พร้อมตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรม โรงงานดังกล่าวจะสามารถผลิต EV ทั้งคัน ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะของฟ็อกซ์คอนน์ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่มีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ที่จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนในการพัฒนารถ EV ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเป้าหมายการผลิตในระยะแรก 50,000 คัน/ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระยะหลังพัฒนาขึ้นมาก สามารถใช้แพลตฟอร์มซึ่งเป็นพื้นฐานเดียวกันได้เกือบทั้งหมด ส่วนต้องการจะให้เป็นแบรนด์ใดนั้น ก็สามารถเปลี่ยนเฉพาะส่วนตัวถังด้านบน (กระดอง) ทำให้กระบวนการรับจ้างผลิตทำได้ง่ายขึ้น

ไม่เหมือนการรับจ้างผลิตรถยนต์ในอดีต ซึ่งทั้งเจ้าของแบรนด์และผู้รับจ้างผลิตจะต้องมาทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้นดีไซน์ การใช้เทคโนโลยี รวมถึงกระบวนการผลิตซึ่งกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างอาจต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร