เมืองไทยหมดเสน่ห์

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ

2-3 วันที่ผ่านมามีโอกาสได้นั่งอ่านข่าวสำหรับสื่อมวลชน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นเพรสรีลีส เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ผ่านมา

เนื้อหาข่าวเป็นการเปิดเผยของ หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ที่แถลงถึงความสำเร็จในการดึงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์

พร้อมย้ำว่าไทยเป็นฮับของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค โดยมีผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เลือกใช้ไทยเป็นฐานผลิต ยกตัวอย่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์, เอสเอไอซี มอเตอร์, บีวายดี ออโต้ และฟ็อกซ์คอนน์ ส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัล ก็มี อเมเซอน เว็บไซต์ เซอร์วิส เป็นต้น

ขณะที่ นายนฤตย์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ย้ำว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องโครงสร้างขั้นพื้นฐาน บุคลากรที่มีคุณภาพ มีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง รวมถึงนโยบายสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ พร้อมสรุปรวมตัวเลขการลงทุนดังกล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) มีจำนวน 2,687 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท

อ่านแล้วเกิดอาการใจพองโตขึ้นมาทันที ดีใจที่ต่างชาติแห่เข้ามาลงทุนมากมายขนาดนี้

ด้วยความสนใจก็เลยคลิกท่องเว็บไซต์บีโอไอต่อ คลิกอ่านโน่นนี่นั่นไปเรื่อย ๆ และไปสะดุดอยู่กับข่าว 2 ชิ้น 2 ช่วงเวลา ซึ่งมีกราฟิก สรุปภาวะการส่งเสริมการลงทุนประกอบ

ข่าวแรก เป็นข่าวเมื่อ 3 ก.พ. 2565 พาดหัวว่า “บีโอไอ เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูง 6.4 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมเป้าหมาย-BCG หนุนขยายตัวเพิ่ม” เป็นการสรุปภาวะส่งเสริมการลงทุน ปี 2564

ส่วนอีกข่าว เป็นข่าวเมื่อ 13 ม.ค. 2566 พาดหัวว่า“บีโอไอปลื้ม! ยอดลงทุนปี 65 พุ่งกว่า 6.6 แสนล้าน ยานยนต์ไฟฟ้า-ดิจิทัลปักหมุด ย้ำไทยฐานลงทุนในภูมิภาค” ซึ่งสรุปภาวะการส่งเสริมการลงทุน ปี 2565

อ่าน 2 ข่าวและดูกราฟิกประกอบ และเปรียบเทียบ…เริ่มมีข้อสงสัย

อ้าว! ทำไมมูลค่าการลงทุนของ ปี 2564 ที่แถลงเมื่อ 3 ก.พ. 2565 ที่ระบุว่ามีตัวเลข 642,680 ล้านบาท แต่พอแถลงเมื่อ 13 ม.ค. 2566 ตัวเลขมูลค่าการลงทุนกลับระบุว่ามีเพียง 478,950 ล้านบาท

ตัวเลขการลงทุนหายไป 163,730 ล้านบาท!…ตัวเลขนี้หายไปไหน?า

จากการสอบถามบรรดาผู้รู้หลายท่าน ก็ได้ใจความว่า ตัวเลขหายไปอาจจะเกิดจากการคืนคำขอรับการส่งเสริม ซึ่งอาจจะด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง

ขณะเดียวกันก็ทำให้คิดย้อนไปถึงเมื่อสักปี 2562-2563 ตอนนั้นมีข่าวบริษัทยักษ์ใหญ่แห่เข้าไปลงทุนที่ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย กันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นอินเทล, ฮิวเลตต์ แพคการ์ด พานาโซนิค โซนี่ โตชิบา ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่ปีนังมีพื้นที่เพียงราว ๆ 1,048 ตร.กม.เท่านั้น หรือมีพื้นที่มากกว่าภูเก็ตประมาณ 2 เท่า

ในอดีต ปีนังเป็นเมืองท่าที่สำคัญ และขึ้นชื่อว่ามีโรงเรียนดี มีคุณภาพ คนไทย (คนรวย) มักจะส่งลูกหลานไปเล่าเรียนที่นั่น นอกจากนี้ ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ แต่ตอนนี้ปีนังยกฐานะขึ้นเป็น ซิลิคอล วัลเลย์ หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว

ผมย้อนถามตัวเองในใจว่า ประเทศไทยไม่น่าสนใจตรงไหน มีอะไรที่สู้ประเทศอื่นไม่ได้

โดยส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่า ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษี อินฟราสตรักเจอร์ แรงจูงใจต่าง ๆ เมืองไทยไม่แพ้ชาติใด ๆ ในโลกแน่นอน

แต่อีกด้านหนึ่งก็ยอมรับว่า ช่วงหลายปีหลังมานี้ ประเทศไทยของเรามีชื่อเสียงกระฉ่อนมากในเรื่องของการคอร์รัปชั่น

คงไม่ต้องสาธยายกันมาก มีข่าวให้ได้เห็นกันแทบทุกวัน นักลงทุนเขาก็คงบอกกันปากต่อปาก และคงไม่มีใครอยากมา เพราะนี่คือต้นทุนทางธุรกิจอย่างหนึ่ง

นี่คือสิ่งที่ทำให้เมืองไทยหมดเสน่ห์ แต่ยังไม่มีใครแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที