เรียนแบบ “ศานติ“

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

ประเทศไทยเริ่มต้นการปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่รัชสมัย รัชกาลที่ 5 เปลี่ยนจากบวชเรียนกับพระ-อยู่กับปราชญ์ เข้าเรียนวิชาคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ เพื่อเข้ารับราชการ-ค้าขาย

ในช่วงใกล้เคียงกันนั้น รพินทรนาถ ฐากุร ก่อตั้งโรงเรียน “ศานตินิเกตัน”

AMARTYA SEN-อมรรตยะ เสน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, ออกซฟอร์ด, เคมบริดจ์ และ London School of Economics and Political Science เล่าเรื่องการเรียน-รู้ในโรงเรียน “ศานตินิเกตัน” ไว้ว่า

“ไม่คิดฝันว่าโรงเรียนจะสนุกได้ขนาดนี้ เรามีอิสระล้นพ้นในการเลือกว่าจะทำอะไร มีเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่กระหายใคร่รู้และชอบขบคิดมากมายให้คุยด้วย…และที่สำคัญที่สุดมีกฎระเบียบน้อยมาก แถมไม่มีการตีหรือลงโทษหนัก ๆ”

หลักการเรียนที่เรียบง่ายที่ “ศานติ” เมื่อ 100 กว่าปีก่อน กลายเป็นอมตะสมัย ก้าวหน้ากว่าโรงเรียนที่ก้าวหน้าในทุกวันนี้

หลักการเรียนที่เน้นเสรีภาพและเหตุผล ไม่ใช่เป็นต้นทางเฉพาะเรื่องการศึกษา แต่เป็นต้นทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม

รพินทรนาถ ฐากุร สร้างโรงเรียนแบบใหม่ใน “ศานตินิเกตัน” เพราะไม่เชื่อ-ไม่ชอบโรงเรียนทั่วไปในอินเดีย แม้ว่าโรงเรียนเหล่านั้นจะมีชื่อเสียงทางวิชาการเป็นเลิศขนาดไหน แต่เขาเชื่อว่า “การศึกษาเชิงลึกและถ้วนหน้า คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศ”

เช่นเดียวกับหลักคิดของ SATISH KUMAR-สาทิศ กุมาร ที่มีหลักคิดเรื่อง “เรียน” ขั้นสูงกว่า “นักเรียน” แต่เป็นหลักสูตรที่คิดขึ้นมาเพื่อใช้ชีวิตมากกว่าเพื่อประกอบอาชีพ ในวิทยาลัยชูมักเกอร์ที่เน้นการสอน “อบรมหัว สอนให้นักศึกษาใช้หัวใจ และฝึกใช้มือ ในการทำครัว ทำสวน ทำงานฝีมือ การร้องเพลง เล่าเรื่อง การอ่านกวีนิพนธ์ และการทำสมาธิภาวนา”

หลักสูตรนี้น่าจะเป็นต้นทางของหลักสูตรโรงเรียนทางเลือก หรือการเรียนแบบ Project Base ในมหาวิทยาลัยของชนชั้นกลางที่ต้องจ่ายค่าเรียนสูงลิ่ว

แต่กระนั้นก็มีโรงเรียนแห่งหนึ่งในหุบเขาดอยตุง ชื่อโรงเรียนบ้านห้วยไร่พัฒนา นักเรียนตั้งแต่ประถมศึกษา ถึงมัธยมศึกษา เรียนผสมผสานหลักสูตรการงานท้องถิ่น กับระบบ “มอนเตสซอรี่” หรือหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

โรงเรียนที่จัดการเรียนรู้ที่ใช้ภาระงานเป็นฐาน หรือ Task Based Learning มาใช้กับเด็กระดับปฐมวัย-ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ แก้ไขปัญหา เติมทักษะให้กับเด็กเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ฝึกให้เด็กสามารถอ่าน เขียนภาษาไทยได้

คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนหลักสูตร เล่าว่า ที่นี่สอนทั้งเรื่องรูปธรรม-นามธรรม เน้น “การเรียน-รู้” เป็นการศึกษาที่เปิดหน้าต่าง-ประตูให้เขามีโอกาสในสังคม ทำให้รู้จักตัวเอง มีความกล้าที่จะฝัน และทำตามความฝันของตัวเอง

“เราอยากให้นักเรียนที่มาจากหลายชนเผ่าได้เป็นพลเมืองดี ที่มีความหมายมากกว่าคนดี เพราะถ้าแค่มีคนดีอาจผลักดันอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราฝึกทักษะให้เขาเป็นพลเมืองดี รู้เข้าใจระบบสังคม การปกครอง ประชาธิปไตย พลเมืองดีจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”

ประเด็นสำคัญของการออกแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนพื้นที่ดอยตุง เป็นหลักสูตรที่ตรงเป้ากับความต้องการของเด็กในพื้นที่มากที่สุด โดยเฉพาะการเรียนรู้ทักษะอาชีพ เช่น การเกษตร เลี้ยงสัตว์ บริการ ร้านอาหาร งานสารพัดช่าง

ปัจจุบันกระบวนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ได้ขยายผลออกไปครอบคลุมโรงเรียนทั้ง 8 แห่ง ที่อยู่ในโครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย รวมทั้งการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ภาระงานเป็นฐาน หรือ Task Based Learning ใน 37 โรงเรียน

ส่วนเด็กในระดับมัธยมฯ ได้เสริมระบบการเรียนการสอนแบบ Project-Based Learning คือการเรียนรู้ที่ใช้โครงงานเป็นฐานในการเรียนรู้ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา อย่างสร้างสรรค์

แม้โลกเปลี่ยนพลิกไปหลายตลบ แต่ต้นแบบการเรียน-รู้ แบบ “ศานติ” เมื่อร้อยกว่าปีก่อนยังคงก้าวหน้า