มากกว่ากระดุมเม็ดแรก

อาทิตย์ นันทวิทยา
อาทิตย์ นันทวิทยา
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

งานสัมมนาใหญ่ครั้งแรกของปีนี้ Prachachat Business Forum 2024 เราใช้แท็กไลน์ # ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง ตั้งคำถามสำคัญให้ตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ มาช่วยกันหาคำตอบร่วมกันว่า

“เรา” (ธุรกิจไทย เศรษฐกิจไทย คนไทย) จะฝ่าสารพัดความท้าทายต่าง ๆ ที่เปรียบได้กับ “พายุ” ไปได้อย่างไร ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม ทั้งปัญหาจีโอโพลิติกส์, เทคโนโลยีดิสรัปชั่น, โลกร้อน, สังคมสูงวัย ฯลฯ

คำตอบ ข้อเสนอแนะ มุมมองจากประสบการณ์ของวิทยากรทั้ง 9 ท่าน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้เรียบเรียงไว้ในฉบับนี้อย่างครบครัน

คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เอสซีบี เอกซ์” เป็น 1 ใน 9 วิทยากรในวันนั้น ที่ไม่เพียงมาบอกเล่าประสบการณ์ในการทรานส์ฟอร์มองค์กร ยังตั้งคำถามให้พวกเราคิดตามต่อด้วยว่า จริง ๆ แล้วอะไรคือต้นเหตุของการที่ทำให้ทุกคนบอกได้หมดว่า “ตัวล็อก” ประเทศไทย เศรษฐกิจไทยคืออะไร แล้วทำไมถึงไม่ทำ หรือทำไม่ได้

“ผมคิดว่าเราเป็นประเทศที่มีความเห็น คือทุกเรื่องของความเห็นมีสองฝั่งเสมอ แต่ว่าเราจบเรื่องไม่ได้ สุดท้ายเถียงกันไปเถียงกันมาแล้วไม่ได้ทำอะไรให้เกิด เพราะทุกอย่างที่อยากทำมักมีอีกฝ่ายที่เห็นตรงข้าม แต่ถ้าเราใช้ระบบให้เหมือนกับประเทศที่เขาทำให้เกิดขึ้นได้ คือยอมรับกติกาให้เกิดการทดลองทำ ผลลัพธ์ออกมาจะถูกหรือผิดก็ปรับเปลี่ยนได้ ใช้กติกาของสังคมที่อยู่ด้วยกันได้ ทำให้เราเดินต่อได้”

โลกวิ่งไปข้างหน้าด้วยสปีดที่เราไม่เคยเจอ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ทำให้ “นักวิ่ง” หรือผู้ที่อยู่ในภาคธุรกิจต้องเป็น “นักวิ่งที่ทั้งวิ่งเร็วและอึด” เหมือน “มาราธอนแบบวิ่งเร็ว” ดังนั้น คนที่จะเป็น “ผู้นำ” ได้ต้องอึดมากและเร็วมากด้วย ต้องตัดสินใจในลักษณะที่อาจยังมองไม่เห็นความชัดเจน แต่ก็ต้องเดินไป

SCBX เองยังอยู่ในเจอร์นี่ของการเปลี่ยนแปลง ยังไม่สามารถเคลมได้ว่าสำเร็จอย่างแท้จริง และความสำเร็จแท้จริงอาจจะไม่มี เพราะต้องปรับตัวไปตลอดเวลา สิ่งที่คิดว่าโอเคแล้วก็อาจไม่โอเค ไม่เวิร์ก แข่งขันไม่ได้ เพราะแค่หยุดเดินหยุดวิ่งก็เหมือนเดินถอยหลังแล้ว

“ถ้าผมจะแชร์ในสิ่งที่ทำมาอาจถูกหรือผิดก็ได้ คงต้องแบ่งเป็นธุรกิจเดิม (Incumbent) กับสตาร์ตอัพ ธุรกิจเดิมที่มีมานาน มีมาร์เก็ตแชร์ที่ดี ทำธุรกิจได้แล้วมองไปข้างหน้า คิดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง ด้วยสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อาจรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำ ผมคิดว่าอย่าไปทำในธุรกิจเดิม พยายามทำให้ธุรกิจเดิมเป็นตัวที่ทำกำไร (Cash Cow) อย่าไปเปลี่ยนแปลง หรือทรานฟอร์มนั้น แต่พยายามทำให้องค์กร รวมถึงพนักงานภูมิใจว่าการทำกำไรไม่ได้ผิดอะไร”

โฟกัสในสิ่งที่ตัวเองทำ มีวินัยในการลงทุน ปรับกระบวนการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้บริษัทแข็งแรงและแข่งขันได้ ทำให้พนักงานในองค์กร ซึ่งอาจเคยมีความฝันจะไปดาวอังคาร เปลี่ยนความภูมิใจของเขาให้รู้สึกว่าเป็น Cash Cow ที่ยังภูมิใจ

“เอารีซอร์สไปพัฒนา หรือทำข้างนอกตัว Cash Cow ถ้าจัดสรรอย่างถูกต้องจะทำให้เรามีทั้งความต่อเนื่อง และแบ็กอัพแพลน ยังสามารถมีโอกาสทดลองโดยไม่ดิสรัปต์สิ่งที่ไม่ควรจะดิสรัปต์”

ส่วนเรื่องใหม่ ธุรกิจใหม่ รวมถึง “สตาร์ตอัพ” ควร Asset Light (ไม่ลงทุนในสินทรัพย์ถาวร) และเริ่มต้นด้วยการนำเทคโนโลยีมากำหนดโครงสร้างต้นทุน

“ตั้งเฟรมไว้เลยว่าจะอยู่บนคอสต์สตรักเจอร์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด ถ้าทำไม่ได้ อย่าทำ เพราะโลกของการแข่งขันเราไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำถูกหรือเปล่า ดังนั้น คอสต์ของการทดลอง การผิด การเรียน ถ้าทำได้ถูกเท่าไรก็มีโอกาสผิดได้มาก เรียนได้มาก และสำเร็จได้มากกว่า”

สิ่งที่จะทำ และเป้าหมายที่แข็งแรงจะเป็นตัวดึงดูด “ทาเลนต์” เพราะ “เงิน” ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

“ทุกเรื่องที่เราทำ เราจะพยายามโฟกัสเรื่องคอสต์ โฟกัสเรื่องการเปลี่ยนกระบวนการ ให้ทุกคนมีอีโคโนมี และเรียนผิดเรียนถูก นี่คือคัลเจอร์ใหม่ของการทำงาน นั่นคือคำแนะนำ หรือประสบการณ์ที่อยากจะแชร์”

“เอสซีบี เอกซ์” เชื่อในเทคโนโลยี AI ว่ากำลังเปลี่ยนโลก มีโครงการ AI Literacy สร้างหลักสูตรให้พนักงานกว่า 2 หมื่นคนเรียน และตั้งเป้าที่จะทำให้เกิดขึ้นด้วย ว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า 75% รายได้ทั้งหมดมาจาก AI

“ทุกบริษัทมีเป้าแบบนี้ไม่ใช่เรื่องการทำมาหากิน แต่เป็นเรื่องของกระบวนการทำงานที่จะต้องนำเอไอเข้าไปในกระบวนการทำงานทั้งกลางบ้าน หลังบ้าน และหน้าบ้าน”

คุณอาทิตย์ย้ำว่า ผมเชื่อในเรื่องการลงมือปฏิบัติ (Execution) ความคิดที่หล่อมาก แต่ Execution ห่วย สุดท้ายอาจไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ความคิดที่อาจไม่ต้องหล่อมาก แต่ Execution ได้ จะมีผลลัพธ์

สิ่งสำคัญกว่าคือ “คิดแล้วต้องกำหนดเป้าหมาย ต้องมีตัววัดที่ชัดเจน” มีคัลเจอร์ของการพร้อมที่จะสนับสนุนความคิดให้เกิดการทำต่อ ซึ่งอาจจะไม่ถูก แต่ยังได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ไม่ถูก หรืออาจจะยังไม่ดี แต่เราเรียนรู้กับมันยังไง

“ผมเห็นด้วย 100% ทั้งเรื่องศึกษา การกิโยติน กม.ต่าง ๆ ที่ต้องปลดล็อกสิ่งเหล่านี้ แต่คำถามที่เราควรจะต้องคิดต่อ ทำไมรัฐบาลไม่ทำ รัฐบาลอยากทำหรือเปล่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ทำไม่ได้ และต้องมาช่วยกัน ผิดหรือถูกไม่ทราบ แต่ควรทำให้ประเทศเราได้มีโอกาสลอง”

ลองคือ “ลองทำ ไม่ใช่ลองพูด” ถ้ามีแต่ “พูดอย่างเดียวแล้วไม่ได้ทำ” ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

“ประเทศไทย สิ่งที่เราพูดกันมานาน ทั้งเรื่องโลเกชั่นก็ดี เรื่องความพร้อมหลาย ๆ เรื่อง เรามีแมตทีเรียลที่ดีมาก ๆ เพียงแต่เหมือนยังกลัดกระดุมไม่ค่อยถูก ซึ่งตัวกระดุมอาจไม่ใช่โครงการ ไม่ใช่ความคิดที่แบบโอ้โห มันไม่มีวันชอต หรือโฮมรัน ทำไงให้ประเทศแหลมคม มุ่งมั่น มีกระบวนการที่จะคลี่คลายความขัดแย้งของความคิดนำไปสู่การทำงาน ปลดความไม่เชื่อใจกัน ไม่งั้น เริ่มต้นทำอะไรก็จะไม่ดี”

สุดท้ายไม่ว่าใครจะขึ้นมา ก็จะเจอแบบเดียวกันหมด และสิ่งที่เป็นผลลัพธ์ ก็คือไม่ได้ทำ ถ้าเปลี่ยนตรงนี้ได้ กลั้นใจสักนิด ให้โอกาสกับตัวเราเอง ประเทศเราเอง และเจเนอเรชั่นต่อไป ประเทศไทยมีความหวังแน่นอน