ฝ่าพายุเศรษฐกิจสไตล์ “ศุภชัย” พัฒนา “คน” เติมความรู้คู่คุณธรรม

“ในความเปลี่ยนแปลง หากบริษัทไม่ปรับตัว จะขาดทุนและปิดตัวลง ส่วนบริษัทที่เสมอตัวแสดงว่า ทำ Digital Transformation ได้สำเร็จ และบริษัทที่เติบโตและกำไรเพิ่มต่อเนื่อง คือ Tech Company เป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี ซึ่งประเทศก็ไม่แตกต่างกัน”

นั่นคือบทสรุปที่ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวในงานสัมมนา PRACHACHAT BUSINESS FORUM 2024 #ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง ภายใต้หัวข้อ The new chapter ธุรกิจไทย (ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม)

6 ความเปลี่ยนแปลง

พายุแห่งความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ “นายศุภชัย” ตีความถึงการเปลี่ยนจากโลกยุค 4.0 เป็น 5.0 ซึ่งมีความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกใน 6 ด้านที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คือ 1.การลดความเหลื่อมล้ำ 2.การปฏิรูปดิจิทัล 3.ปัญหาโลกร้อนและเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ที่ทั่วโลกวางไว้ในปี 2050

4.ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตจะมีมากกว่า 2 ขั้วอำนาจ มีโอกาสจะเกิดขั้วอำนาจใหม่ อย่างอินเดียประกาศจะเป็นเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกในปี 2030 5.พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันเปลี่ยนแปลง และ 6.สุขภาพมนุษย์ ทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายเกี่ยวกับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

4 ปัจจัยความจำเป็นใหม่

หากพูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำ พบว่ามีปัจจัยพื้นฐานใหม่ 4 เรื่องคือ 1.ความรู้ต้องคู่คุณธรรม การเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ 2.ระบบการเงิน ที่วันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกใบอนุญาต Virtual Bank

โดยมีเป้าหมายไปยังกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการเงินในระบบ ซึ่งมีอยู่ถึง 70% ของประชากรไทย สิ่งที่ใหญ่มากซ่อนอยู่ คือเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในระบบภาษี (ใต้ดิน) ที่เรามองไม่เห็นใหญ่มากกว่า 2-3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เกินกว่า 50% ของ GDP ซึ่งทำให้สังคมและเศรษฐกิจขาดศักยภาพ

3.การเข้าถึงระบบการสื่อสาร และเทคโนโลยี เพื่อให้เข้าถึงตลาด องค์ความรู้ โดยไม่ต้องผ่านระบบเศรษฐกิจเดิม เช่น ปัจจุบันมีอินฟลูเอนเซอร์ TikTok ซึ่งถ้า วันนี้TikTok เข้าตลาดหุ้นแนสแดคได้ก็จะมีมูลค่าตลาดใกล้เคียงกับ Google , Facebook เป็นต้น

“ในอนาคตแค่ อินเทอร์เน็ต มือถือ อาจจะไม่พอ เพราะมีความจำกัดของการทำงาน ตามหลักแล้ว จำเป็นจะต้องมีคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนางานวิจัยเพิ่มองค์ความรู้”

4.ระบบประกันสังคม มีความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันนับว่ามีความผิดปกติที่ผู้มีฐานะมากก็จะมีมูลค่าประกันสูง ส่วนผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่มีประกัน ถ้ากลุ่มนี้ป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ ทั้งครอบครัวจะประสบปัญหาทันที

ดังนั้น ระบบของประกันสังคม ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เป็นระบบที่ต้องให้ทุกคนเข้าถึงได้ และเป็นสิ่งจำเป็นใหม่ ที่จะให้ระบบสังคมเกิดความมั่นคงของชีวิตเพิ่มขึ้น

“หากเราบอกว่าจะทำความเหลื่อมล้ำให้ลดลง แม้จะไม่สามารถที่จะทำให้หมดไปได้ ควรให้เกิดความเสมอภาคทั้ง 4 เรื่องใหญ่นี้ จึงเป็นเรื่องที่เป็นนโยบายระดับรัฐและให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นนโยบายระดับโลกอีกด้วย”

ผนวก 3 สิ่งเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5.0

ถ้าพูดถึงวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงกำลังเข้าสู่ยุค 5.0 นิยามไว้ว่า “ยุคสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืนที่เรารู้ว่าเป็นยุคที่มนุษย์และเทคโนโลยีเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้กระทั่งองค์กรจะเป็นหนึ่งเดียวกับเทคโนโลยี”

“หากสามารถผนวก 3 เรื่องที่เป็น Agenda ของโลก คือ ความยั่งยืน ทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี เราจะเข้าสู่ยุค 5.0 จริงๆคือยุคAI ยุคนี้ขีดความสามารถของมนุษย์ที่เกิดขึ้น นอกจากคุณธรรม จริยธรรม ก็คือในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ต้องสามารถที่จะปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก”

เศรษฐกิจไทยอยู่ตรงไหน

นายศุภชัยตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ตรไหน IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) คาดการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2567 โต 2.7% ลดลงจากคาดการณ์เมื่อต้นปีที่มองไว้ 3% ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปขยายตัว 0.9% เพราะเศรษฐกิจกำลังแย่ ส่วนรัสเซีย 2.6% สหรัฐอเมริกา 2.1% โตน้อยลงจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่คาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยเร็วๆนี้ ส่วนอินเดีย 6.5% และจีน 5% เพราะส่งออกจีนมีการเติบโต

หากมองที่“เศรษฐกิจอาเซียน” ขยายตัว 4.2% หลายประเทศในอาเซียนเติบโตเป็นไปในทิศทางที่ดี เช่น ฟิลิปปินส์โต 5.5% ไทยเติบโตช้าที่สุดในกลุ่มอาเซียน แต่หลายประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งเข้าปรับทิศทางการลงทุนมาที่อาเซียน และอินเดียที่เศรษฐกิจเติบโต 6.5% รวมแล้วมีประชากรถึง 2,000 ล้านคน ดังนั้น ในปี 2030 เศรษฐกิจกลุ่มอาเซียนอาจจะอยู่อันดับ 4 ของโลก รองจากอินเดีย

“GDP ประเทศไทยโตช้าที่สุดในอาเซียน และอีกไม่นานหลายประเทศในอาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทย ประเทศไทยกำลังเดินช้ามาก นโยบายสังคม ระบบนิเวศ 
โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการศึกษา การให้สิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดการลงทุนเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในอาเซียน ทั้งดิจิทัล เทคฮับ โลจิสติกส์ฮับ เทรดฮับ รวมถึงไฟแนนเชียลฮับ”

ความสามารถดิจิทัลไทย

IMD จัดอันดับประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 35 จากปีก่อนอันดับที่ 40 รองจากมาเลเซีย อยู่ที่อันดับ 34

ดัชนี IMD ให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง คือ ความรู้ เทคโนโลยี และความพร้อมในอนาคต ซึ่งในด้านความรู้ ไทยอยู่อันดับที่ 41 แม้เราจะเป็นระดับเศรษฐกิจที่ 26 ของโลก ซึ่งอนาคตกลุ่มประเทศในอาเซียน กำลังจะแซงประเทศไทยภายใน 2-3 ปี ของไทยจะไปอยู่ในระดับที่ 30 ของโลกได้ ใน 3-4 ปี เพราะเพื่อนบ้านมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วมาก

ส่วนด้านเทคโนโลยีไทยอยู่อันดับที่ 15 เติบโตเร็วมาก ทำให้ไทยเป็น Tech Hub ได้ สุดท้ายเรื่องความพร้อมในอนาคตประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 42 ในตัวชี้วัด ซึ่งในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากรมนุษย์

ชู 5 เสานำไทยผ่านพายุ

การที่ไทยจะผ่านพายุเศรษฐกิจ ไปได้ต้องอาศัย 5 เสาสำคัญ คือ 1.Transparency ความโปร่งใส ระดับตัวชี้วัดใหม่ การเดินหน้าประเทศต้องเริ่มต้นจากเป้าหมาย และวางตัวชี้วัดที่ถูกต้อง 2.Market Mechanism กลไกตลาดและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ การตอบสนองตลาด การใช้ระบบ AI 3.Leadership & Talents ผู้นำและบุคลากร 5.0 วางระบบการศึกษาให้ดีขึ้น

4.Empowerment เด็กเป็นศูนย์กลางเพิ่มคุณธรรม พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีศักยภาพตอบสนองความต้องการของตลาด AI จะทำให้คนเรามีเอ็มพาวเวอร์มากขึ้น

และ 5.Technology กำหนดหลักสูตรคอมพิวเตอร์เป็นวิชาบังคับ ส่งเสริมด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ม.ต้น เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีในภูมิภาค โดยจะต้องเพิ่มจำนวนคอมพิวเตอร์ให้นักเรียน 6 แสนเครื่อง หากเป็นไปได้ ทุกโรงเรียนต้องมี Learning Center ภายในปี 2025 และมุ่งสร้างความรู้ควบคู่ไปกับคุณธรรม