ดร.สุรเกียรติ์-ดร.สันติธาร : สงครามเก่า-สงครามใหม่เปลี่ยนโลก

ดร.สันติธาร เสถียรไทย ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
ดร.สันติธาร เสถียรไทย ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และผู้ดำเนินรายการ

เป็นโจทย์ใหญ่ที่ถามและพูดคุยกันมาหลายปีว่า สำหรับประเทศไม่ใหญ่ไม่โตอย่าง “ไทย” เราควรดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการค้าระหว่างประเทศอย่างไร ในโลกที่มีการแบ่งขั้วและแข่งขันกันรุนแรงอย่างในปัจจุบัน จะเป็นคนกลางอยู่เฉย ๆ ไม่เลือกข้าง ได้หรือไม่ ?

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ตอบคำถามนี้ชี้แนะทางเลือกและทางรอดของไทย ในเสวนาพิเศษ “Geopolitics Outlook” ในงานสัมมนา “PRACHACHAT BUSINESS FORUM 2024 #ฝ่ายพายุความเปลี่ยนแปลง จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)

สงครามเก่า-สงครามใหม่ เปลี่ยนโลก

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กล่าวถึงผลกระทบของไทยจากความปั่นป่วนของโลกว่า ตอนนี้โลกมีสงครามใหม่ ๆ คือ สงครามเศรษฐกิจ ซึ่งนำโดยค่ายสหรัฐกับจีน และมีสงครามแบบดั้งเดิม (Conventional Warfare) เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญ คือ สงครามเศรษฐกิจกับสงครามแบบดั้งเดิมนั้นสัมพันธ์กัน เกี่ยวข้องกัน มีผลกระทบโดยตรง

สงครามเศรษฐกิจเกิดมานานแล้ว ต่างฝ่ายต่างเรียกหาเพื่อน มีการก่อตั้งกลุ่มการค้าต่าง ๆ ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็เรียกอาเซียนและไทยเข้าไปร่วม จนทำให้อาเซียนเริ่มปริแยกออกจากกัน มีบางกลุ่มที่อาเซียนเข้าร่วมโดยไม่ได้ไปด้วยกันทั้ง 10 ประเทศ

ส่วนสงครามแบบดั้งเดิม แม้ว่าจะเกิดอยู่ไกล แต่ไทยก็ได้รับผลกระทบ สงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้นมา ราคาพลังงานขึ้น เงินเฟ้อเกิดขึ้นทั่วโลก

“เราอยู่ของเราดี ๆ ไม่ได้ไปขัดแย้งอะไรด้วยเลย รัสเซียกับยูเครนอยู่ไกล แต่ความเดือดร้อนก็เกิดขึ้นที่เรา”

ดร.สุรเกียรติ์เรียกสถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ จุดของโลกในปัจจุบันว่าเป็น “เกือบ ๆ สงครามโลก” แต่ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วโลกเหมือนเมื่อก่อน เป็นสงครามโลกที่เกิดระดับภูมิภาค เป็น “Regional War” เพียงแต่สงครามระดับภูมิภาคเหล่านี้จะขยายวงออกไปกว้างเท่าไหร่ จะเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง ไม่มีใครรู้

นอกจากนั้น ดร.สุรเกียรติ์แสดงความกังวลถึงพื้นที่เสี่ยงสงครามที่อยู่ใกล้ไทย ทั้งทะเลจีนใต้ ช่วงแคบไต้หวัน และคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อไทยมากขึ้น

“ทั้งสงครามใหม่และเก่าผูกกัน ก็กลับมาที่ว่าโลกกำลังปั่นป่วน มันกำลังไม่มีระบบเศรษฐกิจ ไม่มีระบบการเมือง กำลังเป็นโลกที่สหประชาชาติทำอะไรไม่ได้ เลขาธิการสหประชาชาติได้แต่ออกมาพูดว่า อย่ารบกันนะ แล้วเขาก็รบกันต่อไป”

“นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวัน ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว และผมคาดว่า ปีนี้ก็คงจะหนักขึ้น ทั้งเรื่องการค้า เทคโนโลยี กรีนอีโคโนมี และเรื่องสงครามดั้งเดิม”

ดร.สันติธาร เสถียรไทย ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
ดร.สันติธาร เสถียรไทย ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และผู้ดำเนินรายการ

โลกไม่ได้แค่ “ผันผวน” แต่โลกกำลัง “หักมุม”

ดร.สันติธาร เสถียรไทย มองสถานการณ์โลกในปัจจุบันว่า เรากำลังอยู่ในโลกที่ไร้ระเบียบ โลกในปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคที่ไม่ใช่แค่ผันผวน แต่โลกอยู่ในจุดที่จะหักมุม เป็น Twists And Turns ซึ่งมันเปลี่ยน 3 ด้านที่กระทบเศรษฐกิจและธุรกิจไทยอย่างมาก คือ “สงครามดุดัน แข่งขันดุเดือด และอาเซียนโดดเด่น”

ดร.สันติธารขยายความว่า สงครามดุดันขึ้น และปัญหาคือเราไม่ค่อยรู้ว่าสงครามจะเกิดที่ไหน สองคือ สงครามเศรษฐกิจ ซึ่งรุนแรง แข่งขันดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ และกระทบต่อไทยมาก จีนมีความสามารถในการผลิตมาก แต่เศรษฐกิจในประเทศจีนไม่ดี จีนต้องส่งออกนอกประเทศ ธุรกิจจีนจึงมาบุกตลาดอาเซียน และธุรกิจไทยได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ส่วนสาม “อาเซียนโดดเด่น” คือ ต่างชาติมองว่าอาเซียนไม่เป็นศัตรูกับใครมากนัก ธุรกิจต่าง ๆ จึงลดความเสี่ยงเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น

“แต่ต้องขีดเส้นใต้เน้นว่า ‘อาเซียน’ เพราะถ้าดูในอาเซียน ไทยยังไม่ใช่ตัวเอก ตอนนี้ยังอยู่กลาง ๆ เป็นตัวประกอบ ตอนนี้ตัวเด่น ๆ เป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย แล้วค่อยเป็นไทย ก็หวังว่าในอนาคตไทยจะเด่นขึ้นได้”

จุดยืนไทย “เป็นกลาง” ทุกเรื่องไม่ได้

สำหรับประเด็นหลักที่ว่า ในโลกที่มีการแบ่งขั้ว ไทยควรวางตัวอย่างไร ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์กล่าวว่า ก่อนที่จะตัดสินใจได้ว่าไทยจะวางตัวอย่างไร เราต้องเข้าใจโลกก่อนว่า โลกมันปั่นป่วนอย่างไร ดิสรัปต์อย่างไร

“เราจะอยู่เฉย ๆ ท่ามกลางความปั่นป่วนได้ไหม ในเมื่อทุกคนเขาก็มาชวนเราเป็นพวกหมด” ดร.สุรเกียรติ์ย้ำคำถามสำคัญนี้ ก่อนแสดงความเห็นของตนเองว่า “ไทยไม่ควรอยู่เฉย ๆ”

“เราชอบพูดว่าเราเป็นกลาง เพื่อความสบายใจ แต่บางเรื่องมันเป็นกลางไม่ได้ ต้องเข้าข้างความถูกต้อง เวลาเราพูดว่าเป็นกลาง เราหมายความว่าเราไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง เวลาเราพูดคำว่าเป็นกลาง ภาษาไทยฟังดูดี แต่ภาษาอังกฤษขึ้นพาดหัวว่า ‘Thailand Take Neutral Stance.’ บางเรื่องมัน Neutral ไม่ได้ รัสเซียบุกยูเครน เราต้องบอกว่ารัสเซียทำไม่ถูก ถ้าเราบอกว่าเป็นกลาง เราเสียทันที”

“เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจความอ่อนไหวของโลก ถ้าพูดพลาดไปนิดเดียว เสียหายเรื่องความมั่นคงทันที เสียเพื่อนทันที อยู่เฉย ๆ ก็ไม่ได้ พูดผลีผลามถลำถลากไป ประเทศชาติก็เสียหาย ที่มันแย่คือความเสียหายด้านต่างประเทศนี่เราไม่ค่อยรู้ตัว กว่าเราจะรู้ตัวว่ามันเสียหาย เวลามันล่วงเลยไปนานแล้ว เราก็จะสงสัยว่าทำไมคนนี้เขาไม่เป็นเพื่อนกับเรา ทำไมคนนี้เขาไม่มาลงทุนกับเรา ทำไมคนนี้เขาแกล้งเรา กว่าจะรู้ว่ามันเป็นเพราะเราไม่พูดอะไร หรือพูดอะไรที่ไม่ถูกต้อง”

“เวลาที่ใครมาชวนเราเป็นพวก เช่น จีนกับอเมริกา เราต้องกล้าแสดงจุดยืน อยู่เฉย ๆ ไม่ได้”

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ยกตัวอย่างสิงคโปร์ว่า เป็นประเทศที่กล้าแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ในบางเรื่องสิงคโปร์แสดงจุดยืนชัดเจนว่าเข้ากับจีน เพราะได้ประโยชน์จากจีนมากกว่า แล้วเขากล้าบอกสหรัฐอเมริกา และบางเรื่อง สิงคโปร์เลือกข้างสหรัฐ แล้วก็กล้าบอกจีนตรง ๆ

“ผมคิดว่าเราเป็นเพื่อนกับทุกคน แต่เราต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงความอ่อนไหวของสถานการณ์ มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่สถานการณ์ไม่ซับซ้อน หลายเรื่องต้องตัดสินใจ-ต้องเลือกข้าง แต่ถ้ามีข้อมูลไม่มากพอแล้วตัดสินใจ ก็พัง”

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์บอกอีกว่า หลายเรื่องไทยต้องปรับจุดยืนของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเมียนมา ซึ่งไทยเกรงใจรัฐบาลทหารเมียนมา แต่มันถึงเวลามานานแล้วที่ไทยจะต้องแสดงจุดยืนว่า รัฐบาลทหารเมียนมาจะใช้อาวุธสงครามเข่นฆ่าประชาชนอย่างนี้ไม่ได้

“ถ้าเพื่อนเราทำไม่ถูก เราก็ต้องบอกเพื่อนเรา”

ดร.สันติธาร เสถียรไทย ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
ดร.สันติธาร เสถียรไทย ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และผู้ดำเนินรายการ

3 สงคราม “เศรษฐกิจแห่งอนาคต”

สำหรับเรื่อง Future Economy หรือเศรษฐกิจแห่งอนาคต ดร.สันติธารกล่าวว่า มีการแข่งขัน หรือ “สงคราม” เกิดขึ้นหลายมิติ โดยไฮไลต์ 3 สงคราม คือ สงครามเทคโนโลยี (Tech War) สงครามเศรษฐกิจสีเขียว (Green War) และสงครามแย่งชิงคนเก่ง (Talent War)

ดร.สันติธารบอกว่า สงครามเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายระดับ มีสงคราม-การแข่งขันระดับประเทศยักษ์ แต่ก็มีสงคราม-การแข่งขันของประเทศเล็ก ๆ ด้วยในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างสงครามระดับยักษ์ สหรัฐกับจีนที่แข่งขันพัฒนาเทคโนโลยี AI พัฒนาชิป และสงครามระดับเล็กแข่งขันพัฒนาแอปพลิเคชั่น หรือการนำ AI มาพัฒนาให้ตอบโจทย์ ซึ่งไทยคงไม่ได้ไปแข่งในสงครามระดับยักษ์ แต่สามารถแข่งในสงครามเล็กได้

“ไม่ได้หมายความว่าสงครามยักษ์ใหญ่เขาตีกันแล้วเราเป็นหญ้าเล็ก ๆ เราจะต้องตายหมด มันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป บางครั้งต้นกล้าก็เป็นตาอยู่ได้เหมือนกัน”

“ผมคิดว่าสงครามเกิดขึ้นหลายระดับ สงครามที่ยักษ์ใหญ่เขาตีกัน เราก็ดูไป เราอาจจะไม่ต้องเลือกข้าง มันจะแล้วแต่ประเด็น เราเลือกคนที่ให้ประโยชน์เรา เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็มีสงครามที่พวกคนตัวเล็กแข่งกันเองอยู่เหมือนกัน”

นอกจากนั้น ดร.สันติธารแนะว่า อยากให้ไทยเห็นสงคราม-การแข่งขันเหล่านี้เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง โดยเปรียบสงคราม-การแข่งขันเหล่านี้เป็น “คลื่นยักษ์” และเปรียบไทยเหมือน “นักกีฬาสูงวัย” ที่กำลังวังชาน้อย ไม่สามารถว่ายน้ำแข่งแบบปกติได้ ต้องมีบอร์ดในมือแล้วโต้คลื่นไป ถ้าไทยโต้คลื่นโดยกระโดดขึ้นขี่คลื่นทัน ก็มีโอกาสที่ไทยจะแซงหน้าคนอื่น

“โลกปัจจุบันเปลี่ยนเร็วจนเป็นดิสรัปชั่น แต่ถ้าเราจับคลื่นทัน เราจะเป็นคนดิสรัปต์คนอื่น ถ้าโลกไม่มีคลื่นใหญ่ เราแซงคนอื่นไม่ได้ พอโลกมันมีคลื่นใหญ่เราเลยแซงได้”

ด้าน ดร.สุรเกียรติ์เสริมในประเด็นนี้ว่า ในการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีน ไม่ได้แข่งขันกันแค่สายนั้น ๆ แต่ยังมีความพยายามบั่นทอนศักยภาพคือ ตะวันตกพยายามทำให้จีนไม่สามารถเติบโตได้มาก โดยยั่วยุให้จีนสั่นไหวด้วยเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับจีน เช่น เรื่องอุยกูร์ เรื่องไต้หวัน

“นี่คือความน่ากลัวที่เกิดขึ้น ซึ่งผมคิดว่าเราต้องรับรู้ แต่ที่สำคัญคือไม่ว่าโลกจะสั่นไหวแค่ไหน เรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เราควรที่จะกล้าและพัฒนา ผมว่าประเทศไทยไม่น่าห่วงเรื่องนโยบายเศรษฐกิจเท่านโยบายการศึกษา คนของเราคุณภาพไม่พอจริง ๆ เมื่อเทียบกับเวียดนามกับประเทศต่าง ๆ”

“เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ทุ่มเทลงมาที่การพัฒนาคนของเรา ถ้าเราไม่แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค ถ้าเรายังบริหารการศึกษาด้วยกฎหมาย บริหารการศึกษาด้วยระบบราชการ ประเทศไทยอันตรายมากที่จะไม่รอดในสงครามเทคโนโลยี สงครามเรื่องคน สงครามเรื่องกรีน ยังไม่ต้องพูดถึง Geopolitics ในระดับใหญ่” ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา