บริษัทเหมาจ่ายโอทีได้หรือไม่ ?

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ https://tamrongsakk.blogspot.com


หลายบริษัทชอบเหมาจ่ายโอที เช่น คนขับรถผู้บริหารที่ต้องขับรถไปรับ-ส่งนาย ซึ่งต้องลงเวลาด้วยการเขียนเวลาเข้า-ออกงาน แล้วก็เอาไปให้นายเซ็นชื่อรับรองว่าทำโอทีวันไหน เวลาใดบ้าง เพื่อส่งให้ทาง HR คำนวณค่าโอทีในแต่ละเดือน ซึ่งบางบริษัทบอกว่าเป็นงานเอกสารที่เยอะมากและวุ่นวาย

จึงตัดปัญหาเรื่องเอกสาร (แต่จะทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต) คือใช้วิธี “เหมาจ่ายโอที”

เช่น ทำสัญญาเหมาจ่ายค่าโอทีให้กับคนขับรถ โดยดูจากข้อมูลในปีที่ผ่านมาว่าเฉลี่ยเท่าไหร่ต่อเดือน แล้วนำมากำหนดเป็นอัตราโอทีเหมาจ่าย เช่น เดือนละ 6,000 บาท แล้วให้คนขับรถเซ็นชื่อยินดีรับค่าโอทีเหมาจ่ายไว้เป็นหลักฐาน ก็เลยเป็นที่มาของหัวเรื่องข้างต้นว่าเขาว่า…บริษัทสามารถทำสัญญากับพนักงานโดยให้โอทีแบบเหมาจ่ายได้ เพราะบริษัทอื่น ๆ เขาก็ทำกัน

จริงหรือ ?

ตอบตรงนี้เลยว่า “ไม่จริง” ครับ

เพราะตามกฎหมายแรงงานไม่มีมาตราไหนที่กำหนดให้นายจ้างสามารถจ่ายโอทีในลักษณะเหมาจ่ายให้กับลูกจ้าง และยังกำหนดวิธีการจ่ายโอทีไว้อย่างชัดเจนคือ

มาตรา 61 (การจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ 1.5 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง), มาตรา 62 (การจ่ายค่าทำงานในวันหยุด 1 เท่า กรณีเป็นลูกจ้างรายเดือน และ 2 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง กรณีเป็นลูกจ้างรายวัน), มาตรา 63 (การจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุด 3 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง)

โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับบริษัทที่เคยใช้วิธีจ่ายโอทีให้พนักงานแบบเหมาจ่ายไว้ดังนี้

ฎ.1390/2537 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นพนักงานขับรถของจำเลย มีเวลาการทำงานแน่นอนตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ระยะเวลาที่นอกจากเวลาปกตินี้ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย

“การที่นายจ้างทำสัญญางดเว้นไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลา”

จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว จึงสรุปได้ว่าโอทีเหมาจ่ายทำไม่ได้ เพราะขัดกฎหมายแรงงาน