สรกล อดุลยานนท์ : จังหวะนรก

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยาวนานครั้งนี้

ถ้าติดตามอย่างละเอียด ผมว่าเราได้ “บทเรียน” ดี ๆ ภายใต้วิกฤตครั้งนี้หลายเรื่อง

โดยเฉพาะเรื่องการบริหารวิกฤต

เราเรียนรู้อะไรหลายอย่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งเรื่อง “ควรทำ” และ “ไม่ควรทำ”

เราได้เรียนรู้ว่าเวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องที่มีผลกระทบหลายด้าน

ต้องตัดสินใจแบบไหน

อย่างครั้งนี้ที่มีเรื่อง “สาธารณสุข” กับเรื่อง “เศรษฐกิจ”

เราควรบาลานซ์ระหว่าง 2 เรื่องนี้อย่างไร

การเทน้ำหนักไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากไป จะส่งผลสะเทือนกับอีกฝั่งหนึ่งจนยากที่จะฟื้น

เหมือนช่วงแรกที่เทน้ำหนักไปที่ “สาธารณสุข” เต็มที่

ภูมิใจกับตัวเลขการติดเชื้อเป็น 0

จน “เศรษฐกิจ” แทบพังทลาย

พอมาช่วงนี้เปลี่ยนมาให้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจเยอะ จนสถิติคนติดเชื้อและผู้เสียชีวิตนิวไฮทุกวัน

คนที่เป็น “ผู้นำ” สูงสุด เหมือน “คอนดักเตอร์”

หูต้องดี

ต้องรู้ว่าช่วงไหนจะให้เครื่องดนตรีชิ้นไหนดัง

ช่วงไหนให้เครื่องดนตรีชิ้นไหนเบา

ผมว่าการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ช่วง 1 ปีครึ่งให้ “บทเรียน” เรื่อง “ผู้นำ” และ “การตัดสินใจ” กับเราเยอะทีเดียว

นำไปใช้ในการบริหารองค์กรได้ครับ

อะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ

แต่ที่ “ไม่ควรทำ” มาก ๆ คือ เรื่องการสื่อสาร

พล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวอย่างที่แย่มาก ๆ เรื่องการสื่อสารสาธารณะ

ชอบลืมไปว่าเป็น “ผู้นำประเทศ”

ทุกครั้งที่เขาพูด คือ การสื่อสารกับประชาชน

ไม่ใช่สื่อมวลชนที่อยู่ข้างหน้า

และกองเชียร์ที่อยู่ข้างหลัง

สังเกตไหมครับว่าช่วงหลัง พล.อ.ประยุทธ์ สื่อสารแบบ “จังหวะนรก” ตลอด

ประกาศว่าวันที่ 7 มิถุนายน เป็นวันแห่งการตีโต้ “โควิด-19”

การฉีดวัคซีนเป็น “วาระแห่งชาติ”

เป็นการสร้าง “ความหวัง” ให้กับคนไทย

แต่ผ่านไปแค่ 2 สัปดาห์ ปรากฏว่าวัคซีนหมด

โรงพยาบาลและศูนย์ฉีดของ กทม. ต้องยกเลิกคิวคนจอง

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่คุยนักคุยหนาว่าเป็นวัคซีนหลักของประเทศ เลื่อนส่งแล้วเลื่อนส่งอีก

และส่งน้อยกว่าที่รัฐบาลโม้ไว้

ทุกอย่างไม่เป็นไปตามสัญญา

“ความหวัง” จึงกลายเป็น “ความไม่เชื่อมั่น”

หรือตอนที่ตัวเลขคนติดโควิดเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

พล.อ.ประยุทธ์ก็ประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน

ต้องยอมรับว่าการกำหนดเป้าหมายเปิดประเทศเป็นเรื่องที่ดีมาก

เพราะแสดงให้เห็นถึงการเอาจริงของรัฐบาล

กล้าที่จะปักธง

แต่การเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมต่างหากที่มีปัญหา

ถ้าดูข้อมูลดี ๆ หาจังหวะที่ตัวเลขคนติดเชื้อลดลงหน่อย อยู่ในสภาพที่พอคุมได้

แล้วประกาศปักธง

คนจะมี “ความหวัง”

และสร้าง “ความเชื่อมั่น” ให้กับตัวผู้นำ

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พลาดเรื่องการฉีดวัคซีนไปแล้ว มาประกาศเรื่องเปิดประเทศตอนที่ตัวเลขคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ถามว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไร

อย่าลืมนะครับ คำว่า “วิสัยทัศน์” กับ “ขี้โม้” มันต่างกันที่ “ผลลัพธ์”

พูดถึง “ความฝัน” อันยาวไกลแล้วทำได้

เรียกว่า “วิสัยทัศน์”

แต่ถ้าฝันแล้ว ทำไม่ได้

ครั้งแล้วครั้งเล่า

เขาเรียกว่า “ขี้โม้”

นอกจาก “จังหวะนรก” 2 เรื่องนี้แล้ว

การหัวเราะ เล่นมุก “เทคมีโฮม คันทรีโรด” ชู 2 นิ้ว บอกว่าวันนี้อารมณ์ดี เพราะเป็น “วันสุข” ฯลฯ ในวันที่แถลงข่าวเรื่องการปิดแคมป์คนงาน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19

จังหวะนี้ไม่ใช่จังหวะ “นรก” ธรรมดา

แต่ถึงขั้น “นรกแตก”

ประชาชนเดือดร้อนกันทั่ว แต่ “ผู้นำ” หัวเราะ

ตามมาด้วยการปิดร้านอาหารไม่ให้นั่งกินในร้าน ตอนตี 1

เห็นอารมณ์สังคมช่วงนี้แล้ว สังหรณ์ว่าจะเป็นการเริ่มต้นนับถอยหลังของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ผมรู้สึกว่าผู้คนไม่ได้แค่ “โกรธ” เหมือนเดิม

แต่ “แค้น”

เรื่องอารมณ์สังคมก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่น่าเรียนรู้ครับ

ตอนนี้ยังสรุปอะไรไม่ได้

แต่อีกพักหนึ่งคงได้ “บทสรุป”

เพราะการเมืองไทยจากนี้ไป คงเริ่มนับถอยหลังแล้วครับ