ฝ่ายค้าน บี้ ประยุทธ์ ลาออก อย่าอ้างศาลอยู่ถึง 10 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ออกแถลงการณ์ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก อย่าอยู่ยาว 10 ปี

วันที่ 30 กันยายน 2565 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อ่านแถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้านหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยวาระดำรงตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังไม่ครบ 8 ปี ว่า

พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นพ้องต้องกันว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะมีความคลาดเคลื่อน ในข้อกฎหมาย อันเป็นสาระสำคัญ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนี้

การพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากจะต้องหาถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษรแล้ว ต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย โดยต้องพิจารณาการจัดทำรัฐธรรมนูญของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าได้มีการพิจารณาถึงสาระสำคัญ หรือเหตุผลเบื้องหลังของแต่ละมาตราไว้อย่างไร

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามความเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดเห็นและความรู้สึกของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละช่วงเวลาได้ เมื่อในชั้นร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ห้ามการดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี โดยมิได้บัญญัติข้อยกเว้นใดๆ ไว้ ได้มีความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

และประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปรากฏชัดในบันทึกการประชุม อันเป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ดำรงอยู่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย

และมาตรา 264 ให้นับความเป็นนายกฯ ต่อเนื่อง จึงไม่อาจแปลความเป็นอย่างอื่นได้ว่า การนับเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นต้นไปเท่านั้น

คำวินิจฉัยให้เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับนั้น จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังจากครบวาระในครั้งนี้แล้วอีก 2 ปี จนถึงปี 2568 นั้น น่าจะเป็นการตีความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร ที่มีถ้อยคำชัดเจน ที่ประชาชนเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว

เพราะจะส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งได้รวม 10 ปี ซึ่งเกินกว่า 8 ปี และเกินกว่า 2 วาระตามปกติของการดำรงตำแหน่งนายกฯ อันผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ต้องการจำกัดวาระและระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกฯ ไม่ให้เกินกว่า 2 วาระ หรือ เกินกว่า 8 ปี และยังขัดต่อการรับรู้ทั่วไปของประชาชน และยังขัดต่อข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557

ซึ่งการตีความลักษณะนี้จะมีผลแปลกประหลาดคือ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ระยะเวลา 8 ปี ก่อนวันที่ 6 เมษายน 2560 กลับไม่นำมานับ แต่หลังจากวันที่ 6 เมษายน 2560 กลับนำมานับ ทั้งๆ ที่มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนากยฯ ฉบับเดียวกัน

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อนึ่งในชั้นเริ่มต้นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ กรณีนี้จึงถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมเป็นนายกฯ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 264

ระบุด้วยว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำลายหลักการรากฐานของระบอบประชาธิปไตย เปิดให้เกิดการผูกขาดอำนาจ รวมถึงทำลายบรรทัดฐานทางกฎหมาย คุณค่าของกฎหมายสูงสุด ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งไม่ยอมรับผลคำวินิจฉัยได้

ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าควรปฏิรูปการทำหน้าที่ของศาลใหม่ ให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดกรณีที่ผลคำวินิจฉัยซึ่งมีผลผูกพันทุกองค์กรนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่คำนึงถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ถูกต้อง

“คำวินิจฉัยไม่ใช่ฟอกขาวให้พล.อ.ประยุทธ์ ฐานะผู้สืบทอดำนาจทุกวิถีทาง เป็นคนที่ผิดสัญญากับประชาชน ที่จะอยู่ไม่นาน ผิดสัญญากับประชาชนที่จะปฏิรูปประเทศต่างๆ ทำให้ประเทศตกขบวนผู้นำอาเซียน พล.อ.ประยุทธ์ควรใช้โอกาสประกาลาออกจากตำแหน่งนายกฯ โดยไม่อ้างคำวินิจฉัยของศาลและ ขอให้ประชานให้บทเรียนกับ พล.ประยุทธ์และองคาพยพในการเลือกตั้งครั้งต่อไป”

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมทำหน้าที่ต่อไปให้ดีที่สุด โดยในช่วงเปิดสมัยประชุม เดือนพฤศจิกายน พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เพื่อยื่นญัตติขอให้เปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ เพื่อซักถามประเด็นปัญหาต่างๆ กับรัฐบาล