เปิด 4 ทางวินิจฉัยกฎหมายเลือกตั้ง ทางออกประยุทธ์ ประวิตร

ศาลรัฐธรรมนูญ

เปิด 4 ทางเป็นไปได้ ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชะตากฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายลูก 2 ฉบับ จะกลายเป็นวาระร้อนคู่ขนานกับความไม่ลงรอยระหว่าง 2 ลุง-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

เพราะศาลรัฐธรรมนูญ กำลังจะตัดสินร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ. … หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง (ซึ่งเกี่ยวกับการตั้งตัวแทนพรรคประจำเขต ประจำจังหวัด การทำไพรมารีโหวต และการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพรรคการเมือง) ที่พิจารณากันในวันที่ 23 พฤศจิกายน

และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ… หรือ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. (แก้ไขสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบพึงมี หาร 500 มาสู่สูตร “สัมพันธ์ทางตรง” กับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน) ศาลนัดพิจารณาในวันที่ 30 พฤศจิกายน

นักการเมือง-คอการเมือง ต่างจับตาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างตาไม่กะพริบ พรรคเพื่อไทยที่เตรียมจะจัดประชุมใหญ่ พร้อมกับเปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ ต้องเลื่อนวาระออกไปก่อน เพื่อรอดูความชัดเจนของกฎหมายลูก

ส.ส.ที่กำลังจะตัดสินใจ “ย้ายพรรค-สลับขั้ว” ต่างก็รอดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปัจจุบันเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย ได้ร่วมกระบวนการตรากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ตั้งแต่แรกเริ่ม วิเคราะห์ฉากสำคัญในศาลว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่คิดว่าน่าจะเป็นปัญหามากนัก

“ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญจะเคร่งครัดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนและสมาชิกพรรค ว่าจะต้องทำอย่างจริงจัง ถ้าตัดสินแนวนี้จะตัดสินโดยยึดหลักอุดมการณ์และอุดมคติ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของการเมืองไทย อาจเป็นการสร้างภาระให้พรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองที่เพิ่งก่อตั้งลำบาก เพราะจะต้องมีตัวแทนประจำเขต ตัวแทนประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ”

แต่ไม่ได้แตกต่างกันมากระหว่างผ่าน กับไม่ผ่าน ถ้าผ่านศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองก็ทำงานง่ายขึ้น ถ้าไม่ผ่านก็ทำงานยากขึ้น ส่วนจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้จริงหรือไม่ ผมคิดว่าไม่จริง เพราะท้ายที่สุดพรรคการเมืองก็จะทำขั้นตอนเป็นพิธีกรรม ในแง่ความจริงของสังคมไทย ไม่ว่าตั้งตัวแทนเขต หรือทำไพรมารีโหวตก็ทำแบบปลอม ๆ ถ้าให้เดาทางศาล คิดว่าศาลน่าจะรู้ข้อเท็จจริงของสังคมไทย ไม่ยึดสิ่งที่เป็นอุดมคติ คิดว่ากฎหมายพรรคการเมืองผ่านได้

ส่วน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มีความหมายต่อนักการเมืองมาก เพราะส่งผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบต่อพรรคการเมือง ถ้าผ่านศาลรัฐธรรมนูญ พรรคใหญ่จะได้เปรียบสูงมาก ได้ทั้ง ส.ส.เขตและได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกเต็ม ๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น แนวคิดไม่ให้กฎหมายผ่านก็อาจจะมีสูง

และการไม่ให้ผ่านก็มีเหตุผลที่พอจะชี้แจงได้ เพราะตัวรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไข แก้ไขไม่ครบทุกมาตรา ยังมีคำว่า ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ ในมาตรา 93 และ 94 ซึ่งอาจยกเป็นข้ออ้างให้ไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญได้

“ถ้ามองในเชิงเหตุผลทางการเมืองและกฎหมายคิดว่าไม่ผ่านสูง แต่ศาลคงไม่ได้มองมิติเหตุผลทางการเมือง แต่น่าจะมองเหตุผลทางกฎหมายเป็นหลัก” สมชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคสาม เขียนไว้ว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.นั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสําคัญให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป

แล้วสูตรคำนวณ ส.ส.แบบหาร 100 ที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังตีความเป็นสาระสำคัญหรือไม่ “สมชัย” วิเคราะห์ว่า “เป็นสาระสำคัญอยู่แล้ว”

ดังนั้น ถ้าเป็นสาระสำคัญ กฎหมายจะต้องตกไปทั้งฉบับ เพราะศาลคงไม่สามารถไปชี้ว่าให้แก้ตรงไหน ถ้าศาลไปชี้ให้แก้ตรงไหนก็ถือว่าศาลใจดี ไปแก้ตามที่ศาลสั่ง อาจเป็นแนวทางหนึ่ง แต่ศาลเองต้องมีความชัดเจน

“อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า ศาลจะชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่ไม่ได้บอกว่าให้เขียนใหม่อย่างไร เพราะการร่างกฎหมายเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีเสนอกฎหมายสู่สภา ถ้าศาลชี้ให้เขียนอย่างไร ก็เท่ากับว่าศาลเป็นผู้เขียนกฎหมายเอง”

ถ้ากฎหมายตกไป “สมชัย” มองทางออกมีอยู่ 4 ทาง

1.เสนอกฎหมายเข้ามาใหม่โดยเร็ว ฝ่ายรัฐบาลอาจเตรียมพร้อมไว้แล้ว ในฐานะที่มีเครื่องไม้เครื่องมือทางการเมืองอยู่แล้ว อาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภา อาจจะเสนอพิจารณา 3 วาระรวดได้หรือไม่

2.ถ้ามีเหตุยุบสภา การออกกฎหมายอาจจะทำไม่ได้ คณะรัฐมนตรีอาจออกพระราชกำหนดเพื่อเป็นกรอบให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง

3.ให้ กกต.ออกคำสั่ง ประกาศ ในการเลือกตั้ง แต่คิดว่า กกต.คงไม่ทำวิธีนี้

4.ย้อนกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับไปฉบับดั้งเดิม 2560 คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับ 3 มาตราคือ มาตรา 83 เปลี่ยนเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน มาตรา 86 เรื่องการคำนวณว่าจังหวัดนี้จะมี ส.ส.เขตกี่คน และมาตรา 91 การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ใช้ระบบ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ

อย่างไรเสียปี 2566 ก็ต้องมีการเลือกตั้ง เป็นวาระที่หนีไม่พ้น