จุดชี้ขาด พรรคพี่-พรรคน้อง วัดกำลัง ส.ส.-บ้านใหญ่ทั่วประเทศ

ป้อม ตู่

เลือกตั้ง 66 เกิดปรากฏการณ์ พรรคพี่-พรรคน้อง บ้านใหญ่-บ้านใหม่ ต้องแยก (ทาง) กันเดิน-รวมกันตี และหย่าขาด-ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ เป็นครั้งแรก

ศึกพี่-ศึกน้อง 2 ป. ป.ที่ 1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพลังประชารัฐ กับ ป.ที่ 2 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานยุทธศาสตร์และกำหนดแนวทางพรรค-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีรวมไทยสร้างชาติ สู้รบกัน (เอง)

พล.อ.ประวิตร-พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไขว้กันเอง ในฐานะนักการเมืองเต็มตัว บนสมรภูมิการเมือง-เลือกตั้ง 66 ต่างฐานที่มั่น-ต่างแม่ทัพและขุนพล

มือขวาชนม์สวัสดิ์คุมปากน้ำ

สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ-กลุ่มปากน้ำสูญเสีย “เสาหลัก” เอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้าไปอย่างกะทันหัน จึงตกอยู่ในสถานะ “ขาดหัว”

และอยู่ในช่วง “ผลัดใบ” แต่ “น้องเพลง” ชนม์ทิดา อัศวเหม ที่เปรียบเสมือนเป็น “ใบอ่อน” กลับไป “แตกหน่อ” ที่พรรคภูมิใจไทย ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 5

สำหรับผู้สมัคร ส.ส.ปากน้ำพลังประชารัฐ ประกอบด้วย เขต 1 นายอัครวัฒน์ อัศวเหม เขต 2 นายยงยุทธ สุวรรณบุตร เขต 3 น.ส.ภริม พูลเจริญ เขต 4 นายวรพร อัศวเหม เขต 5 นายจาตุรนต์ นกขมิ้น เขต 6 นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ เขต 7 นายต่อศักดิ์ อัศวเหม และเขต 8 นายกรุง ศรีวิไล

หลังจากสิ้นเอ๋-ชนม์สวัสดิ์ นอกจากระบบของพรรคพลังประชารัฐที่มี “หัวหน้าภาค 1” ยงยุทธ สุวรรณบุตร เป็นหัวโขนดูแลจังหวัดสมุทรปราการแล้ว ยังมี “สุนทร ปานแสงทอง” คนเก่าคนแก่ของตระกูลอัศวเหมรับไม้ต่อแทน

ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ มี ส.ส.เก่าเพียง สมุทรปราการ เขต 7 น.ส.ไพลิน เทียนสุวรรณ เพียงคนเดียวที่เป็นคนของบ้านใหม่ “ชมกลิ่น”

ราชบุรีบ้านใหญ่ที่แตกออกเป็น “สองพรรค” ระหว่าง “พรรคพี่” กับ “พรรคน้อง” พรรคพี่-พลังประชารัฐ ที่มีบ้านใหญ่นิติกาญจนา เป็น “ตัวยืน” เขต 1 นายกฤษณะ พลอยชุม เขต 2 นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา เขต 3 นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ เขต 4 นายวรวัฒน์ น้อยโสภา เขต 5 นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์

ขณะที่พรรคน้อง-รวมไทยสร้างชาติ ได้บ้านใหญ่นพอมรบดี มา “เสริมทัพ” เขต 1 “ส.ส.แคมป์” น.ส.กุลวลี นพอมรบดี เขต 2 นางภรมน นรการกุมพล เขต 3 น.ส.ชญานันท์ จินตาเจี่ยห์ เขต 4 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ เขต 5 นายวณิช บุญสอง

บ้านใหม่ชมกลิ่นกำลังหลักชลบุรี

ชลบุรีเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่แข่งขันกันดุเดือด เพราะเป็นการเดิมพันระหว่างบ้านใหญ่-แชมป์เก่า พรรคพลังประชารัฐ การเลือกตั้ง 66 ต้องเสีย “กำลังสำคัญ” ที่เป็น “บ้านใหญ่-บ้านใหม่” เหลือเพียง “ตระกูลวงศ์ทรายทอง” ปักหลัก “ป้องกันแชมป์”

เขต 1 นายสรัลชา ศรีชลวัฒนา เขต 2 ร.อ.จองชัย วงศ์ทรายทอง เขต 3 นายเพิ่มพงศ์ วงศ์ทรายทอง เขต 4 นายประมวล เอมเปีย เขต 5 นายยศพนต์ สุธรรม

เขต 6 น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ เขต 7 นายบรรจบ รุ่งโรจน์ เขต 8 นายโอฬาร์ ปัญญปิติพัฒน์ เขต 9 นายนิพนธ์ แจ่มจำรัส และเขต 10 นายสะถิระ เผือกประพันธุ์

พรรคประยุทธ์ ที่มี “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น แห่งบ้านใหม่ชลบุรี เป็นขุนพลใหญ่ ทำศึกเมืองหลวงตะวันออก การเลือกตั้ง 66 เป็น “แม่ทัพเต็มตัว”

เพราะขึ้นมาอยู่ในระบบบัญชีรายชื่อ “ลำดับเซฟโซน” หลังจากส่ง “จดหมายท้ารบ” แต่บ้านใหญ่คุณปลื้มไม่เล่นด้วย

สำหรับชลบุรี 10 เขต ประกอบด้วย เขต 1 น.ส.ณภัสนันท์ อรินทคุณวงษ์ เขต 2 นายคงพัชร ไขรัศมี เขต 3 นายสุรพงศ์ นำชัยรุจิพงศ์ เขต 4 นายจิรวุฒิ สิงโตทอง เขต 5 นายรณเทพ อนุวัฒน์

เขต 6 นายสมเจตน์ เกตุวัตถา เขต 7 นายรุ่งเพชร แจ่มเจริญ เขต 8 นายมานพ ประกอบธรรม เขต 9 นายนิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร และเขต 10 นายสมชาติ คุณปลื้ม

เสี่ยเฮ้ง ส่งผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี ทั้งคนที่เคยเป็นศัตรูทางการเมืองกับบ้านใหญ่ชลบุรี และสายเลือดเดียวกันกับคุณปลื้มที่ถูกจับไปอยู่ท้ายแถว ศัตรูที่แท้จริงจึงไม่ใช่ “พรรคนายป้อม” แต่เป็นพรรคเพื่อไทย

ปักษ์ใต้ฐานที่มั่นประยุทธ์

“ปักษ์ใต้” พล.อ.ประยุทธ์ สถาปนาเป็น “ฐานที่มั่น” ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็น “เมืองหลวง” สำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ

เขต 1 นายพูน แก้วภราดัย บุตรชาย นายวิทยา แก้วภราดัย เขต 2 นายสายัณห์ ยุติธรรม เขต 3 นายนนทิวรรธ์ นนทภักดิ์ เขต 4 นายพงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ น้องชายนายเทพไท เสนพงศ์ เขต 5 นายสนั่น พิบูลย์ เขต 6 นายฉัตรชัย ธนาวุฒิ

เขต 7 นายธีรพงษ์ เพิ่ม เขต 8 น.ส.เรขา ปรีชาวัย เขต 9 นายอำนวย ยุติธรรม น้องชายนายสายัณห์ ยุติธรรม และเขต 10 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รวมถึงจังหวัดสงขลาที่ตั้งเป้า “ปักธง” เป็นกอบเป็นกำ เขต 1 นายเจือ ราชสีห์ เขต 2 นายศาสตรา ศรีปาน เขต 3 นายพนม พรหมเพชร เขต 4 ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี เขต 5 นายปรีชา สุขเกษม เขต 6 นายภูวดล วงษ์โสภณากุล เขต 7 นายกุศล ขุนดำ และ เขต 8 นายสมหมาย ขวัญทองยิ้ม

ยังมีจังหวัดที่มี “บ้านใหญ่” ที่การันตีเก้าอี้ ส.ส.ได้แน่นอน ทั้งกระบี่ เขต 1 นายสุชีน เอ่งฉ้วน ลูกชายอาคม เอ่งฉ้วน ชุมพร เขต 3 นายสุพล จุลใส พี่ชายลูกหมี-ชุมพล จุลใส นราธิวาส เขต 1 นายวัชระ ยาวอหะซัน บุตรชายนายกูเซ็ง ยาวอหะซัน

ปัตตานี เขต 4 นายอริญชัย และ เขต 5 นายยุซรี ซูสารอ บุตรชายของนายอนุมัติ ซูสารอ พัทลุง เขต 2 นายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร ลูกชายนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร สุราษฎร์ธานี เขต 3 น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ บุตรสาวนายชุมพล กาญจนะ เขต 6 น.ส.อนงค์นาถ จ่าแก้ว ลูกสาว “นายกศักดิ์” พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว

ภาคเหนือ-อีสานประวิตรเป็นต่อ

ขณะที่ภาคเหนือ-พื้นที่สีแดง พรรคพี่-พรรคน้อง ต้องวัดกันที่สายป่านใครยาว สาวได้สาวเอา พรรครวมไทยสร้างชาติ มีจังหวัดอุตรดิตถ์ เขต 2 และ เขต 3 เป็น “ตัวความหวัง” เพราะได้ “สองพ่อลูก” ศรัณย์วุฒิ-รสริน ศรัณย์เกตุ มาเป็นตัวชูโรงสีสัน

นครสวรรค์ เขต 3 นายสัญญา นิลสุพรรณ เขต 6 นายนิโรธ สุนทรเลขา เชียงใหม่ เขต 4 และ เขต 5 “ตระกูลดัง” ณ เชียงใหม่ กิ่งกาญจน์-เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ เชียงราย เขต 7 เสี่ยติ่ง-สมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ พิจิตร เขต 2 และเขต 3 นางมาดามนิด ภรรยานายสุรชาติ ศรีบุศกร

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่มี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เป็นแม่ทัพคุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน น่าน แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน

“ผู้กองธรรมนัส” ตั้งเป้าปักธงมากกว่า 5 ที่นั่ง เช่น แม่ฮ่องสอน นายปกรณ์ จีนาคำ พะเยา ร.อ.ธรรมนัส และนายจีรเดช ศรีวิราช และลำปาง-แพร่ที่จะบุกเพิ่ม

ส่วนภาคเหนือตอนล่าง พลังประชารัฐหมายมั่นปักธงยกจังหวัด 4 เขต กำแพงเพชร ส่วน เพชรบูรณ์ พิจิตร ตาก คาดว่าจะรักษาแชมป์ไว้ได้

ส่วนภาคอีสานตอนล่าง ปักหมุดไว้ที่ภรรยา-น้องเมีย ลูกชาย-ลูกสะใภ้ “บ้านใหญ่รัตนเศรษฐ” 5 ที่นั่งของนครราชสีมา ทั้ง ทัศนียา-ทวิรัฐ-อรัชมน-ตติรัฐ-นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ

ส่วนจังหวัดอื่นที่มีลุ้น เช่น ชัยภูมิ บ้านใหญ่โล่ห์วีระ นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ ลูกชายนายอร่าม โล่ห์วีระ ขอนแก่น นายสมศักดิ์ คุณเงิน นายบัลลังก์ อรรณนพพร และกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด ที่ได้ “ตระกูลพลซื่อ” มาช่วยสู้รบ

กทม. พลังประชารัฐ คงเหลือ ผู้สมัคร ส.ส.ที่ไว้ใจได้ 3 เขต จาก “สองพ่อลูก” ศิริพงษ์-พีระพงษ์ หนองจอก-คลองสามวา-ลาดกระบัง เขต 19 มีนบุรี สะพานสูง นางนาถยา แดงบุหงา รวมไทยสร้างชาติกระแสใน กทม. “หืดขึ้นคอ”

พรรคพี่-พรรคน้อง ในสมรภูมิสู้รบเลือกตั้ง 66 ใครดีใครได้ เพราะสุดท้ายต้องมารวมกัน