เปิดเงินเดือน ประธานสภา-รองประธานสภา ได้รับเงินเท่าไร

เปิดเงินเดือน ประธานสภา-รองประธานสภา

ส่องเงินเดือน-ค่าตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งสำคัญ หลังมีการคัดเลือกในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เป็นที่ทราบกันแล้วว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 มีการคัดเลือกตำแหน่งประธานสภา และรองประธานสภา ผลสรุปว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือ “วันนอร์” ได้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีผู้แข่งขัน

รองประธานสภาคนที่ 1 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนโหวต 312 คะแนน ส่วนนายวิทยา แก้วภราดัย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ 105 คะแนน งดออกเสียง 77 เสียง และบัตรเสีย 2 ใบ

ต่อมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เสนอชื่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 โดยไม่มีใครเสนอชื่อแข่ง ทำให้นายพิเชษฐ์ ได้เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 ตามข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 6 วรรค 3

อำนาจและหน้าที่ของประธานสภา

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา (มาตรา 80 วรรคหนึ่ง) ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน (มาตรา 80 วรรคสอง)

หากในกรณีที่ประธานวุฒิสภาต้องทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทนแต่ไม่มีประธานวุฒิสภา และเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในระหว่างไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ให้รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ถ้าไม่มีรองประธานวุฒิสภา ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีอายุมากที่สุดในขณะนั้นทำหน้าที่ประธานรัฐสภาและให้ดำเนินการเลือกประธานวุฒิสภาโดยเร็ว (มาตรา 80 วรรคสาม)

อำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภาถูกกำหนดไว้ในมาตรา 80 วรรคสี่ โดยเป็นหน้าที่ และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และดำเนินกิจการของรัฐสภา ในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับ นอกจากนี้จะต้องวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 80 วรรคห้า) โดยรองประธานสภามีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และตามที่ประธานรัฐสภามอบหมาย (มาตรา 80 วรรคท้าย)

ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563

ระบุอำนาจหน้าที่ของประธานสภา ไว้ ดังนี้

  • เป็นประธานที่ประชุมรัฐสภา และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
  • กำหนดการประชุมรัฐสภา
  • ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา
  • รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภา ตลอดจนบริเวณรัฐสภา
  • เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก
  • แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินการใด ๆ
  • และมีอำนาจหน้าที่อื่น ตามกฎหมายบัญญัติ ที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรรับทเป็น “ประธานรัฐสภา” พร้อมระบุหน้าที่ไว้ ได้แก่ เป็นผู้กราบบังคมทูลตำแหน่งนายกฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เช่น แต่งตั้งประธานองคมนตรี และแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นต้น

เงินเดือนประธานสภา-รองประธานสภา

ประธานสภาผู้แทนราษฎร-เงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาท/เดือน, เงินเพิ่ม 50,000 บาท/เดือน

รวมทั้งสิ้น : 125,590 บาท/เดือน

รองประธานสภาผู้แทนราษฎร-เงินเดือนประจำตำแหน่ง 73,240 บาท/เดือน, เงินเพิ่ม 42,500 บาท/เดือน

รวมทั้งสิ้น : 115,740 บาท/เดือน

นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการอื่น ๆ ดังนี้

การรักษาพยาบาล (กรณีผู้ป่วยใน)

  • ค่าห้อง-ค่าอาหาร 4,000 บาท/วัน (สูงสุด 31 วัน/ครั้ง)
  • ค่าห้อง ICU-CCU 10,000 บาท/วัน (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง)
  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 100,000 บาท
  • ค่ารถพยาบาล 1,000 บาท
  • ค่าแพทย์ผ่าตัด 120,000 บาท/ครั้ง
  • ค่าแพทย์เยี่ยมไข้ 1,000 บาท/วัน (สูงสุด 31 วัน/ครั้ง)
  • ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค 4,000 บาท/ครั้ง
  • การคลอดบูตร 20,000 บาท สำหรับการคลอดแบบธรรมชาติ และ 40,000 บาท สำหรับการผ่าคลอด
  • การรักษาทันตกรรม 5,000 บาท/ปี

การรักษาพยาบาล (กรณีผู้ป่วยนอก)

  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 90,000 บาท/ปี
  • อุบัติเหตุ ฉุกเฉิน 20,000 บาท/ครั้ง

การตรวจสุขภาพประจำปี 7,000 บาท

ค่าตอบแทนสำหรับทีมงานที่ได้รับการแต่งตั้ง

  • ที่ปรึกษา 20,000 บาท/เดือน
  • นักวิชาการ 18,000 บาท/เดือน
  • เลขานุการ 15,000 บาท/เดือน

นอกจากนี้ ยังสามารถเบิกค่าเดินทางกรณีไปต่างประเทศได้ โดยปรธธานสภา ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับนายกรัฐมนตรี และรองประธานสภา ได้รับสิทธิอัตราเดียวกับรองนายกรัฐมนตรี และมีสิทธิในการรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อีกด้วย