เกมซ้อนเกม เดดล็อกโหวตพิธา เพื่อไทย ลุ้นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ชิงนายก
คอลัมน์ : Politics policy people forum

ในช่วงเช้าวันโหวตนายกรัฐมนตรี 13 กรกฎาคม 2566 โอกาสของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ เหลือน้อยลงทุกที

แม้ว่าการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2 เดือนก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลจะกวาด ส.ส.สูงสุด 151 ที่นั่ง และได้จำนวนโหวตปาร์ตี้ลิสต์ 14,438,851 คะแนน

แต่ด้วยชนักติดหลังที่ “พิธา” ต้องเผชิญ กรณีหุ้นไอทีวี และปมแก้มาตรา 112 อาจยากที่จะทำให้เขาได้ไปต่อ

ชนักหุ้นไอทีวี

24 ชั่วโมงก่อนที่ประชุมรัฐสภา เปิดประชุมให้ “พิธา” แสดงวิสัยทัศน์ “ถ้า” ได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ปรากฏว่า เวลาประมาณ 10 โมง ของวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เริ่มประชุมวาระสำคัญ

ผ่านมาประมาณครึ่งชั่วโมง กกต.ก็มีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดคุณสมบัติของ “พิธา” ภายหลัง รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีหลักฐานปรากฏว่า “พิธา” แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดในวันสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 82 วรรคสี่

พิธาพังเพราะโอนหุ้น

รายงานข่าวจาก กกต.ระบุว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหุ้นสื่อของ “พิธา” มีมติ 3 ต่อ 2 เห็นว่า “พิธา” ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)

แต่หลังจากนำเรื่องเข้าประชุม กกต.ใหญ่อยู่ 3 ครั้ง 3 วันติด กกต.เสียงข้างมากก็มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยหลักฐานคือ วัตถุประสงค์ตามหนังสือรับรอง และบริคณห์สนธิ ระบุว่า ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือฯ รับบริการและดำเนินกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ ประกอบกิจการรับจ้างโฆษณาทางโทรทัศน์ ประกอบกิจการผลิต จัดทำ จัดการเกี่ยวกับวิทยุโทรทัศน์

นอกจากนี้ มีแบบหนังสือนำส่งงบการเงิน ของไอทีวี ปี 2565 แจ้งว่า ประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์ แม้ปัจจุบันไม่ได้ประกอบกิจการ แต่เมื่อยังไม่จดเลิก ก็ยังประกอบกิจการได้ ขณะเดียวกัน บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นยังปรากฏเป็นชื่อนาย “พิธา” อยู่ แม้จะระบุว่าถือในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ไม่มีหมายเหตุว่า “ถือแทนใคร”

ก่อนจะมีการ “โอนหุ้น” 42,000 หุ้น (ให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ น้องชาย) ไปเมื่อ 25 พฤษภาคม กกต.จึงมีเหตุผลที่ขอให้ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) และ 98 (3) และให้ “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่

ต่อมา กกต.ส่ง “ม้าเร็ว” 2 ราย พร้อมด้วยลังเอกสารถึง 3 ลัง มายื่นเป็น “หลักฐาน” ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้อง กระทั่งเวลา 15.15 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้อง “ในทางธุรการ” ก่อนจะนำเสนอคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 49 ต่อไป

โดยเงื่อนไขที่จะนำคำร้องเข้าที่ประชุมยังต้องมี “ขั้นตอนทางธุรการ” โดยศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจคำร้องว่าถูกต้องตามกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ และพิจารณาว่าสมควรรับคำร้องหรือไม่

มาตรา 112

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ในเวลาเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่าได้รับคำร้อง “ในทางธุรการ” คดีหุ้นสื่อของ กกต.แล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญยังรับคำร้องไว้พิจารณา อันเป็นกรณีที่ “ธีรยุทธ สุวรรณเกสร” อดีตทนายความของพระพุทธอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2)

ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ… เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

โดยศาลรัฐธรรมนูญให้ “พิธา” และพรรคก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน

พลันที่ข่าวแพร่กระจายออกไปตามสื่อต่าง ๆ เป็นจังหวะเดียวกับที่พรรคเพื่อไทย เพิ่งเลิกประชุม ส.ส.ของพรรค ที่มีมติสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกฯ โดยให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอชื่อ

ข่าวการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องมาตรา 112 จึงกลายเป็นประเด็นสนทนาที่ ส.ส.และแกนนำเพื่อไทยหยิบขึ้นมาสนทนา โดยประเมินว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นลบ เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง อาจเข้าขั้นถึงยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

นอกจากนี้ ข้อกล่าวหาเรื่องมาตรา 112 กลายเป็น “ข้อกล่าวหา” สำคัญ ที่ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ฝ่ายตรงข้ามพรรคก้าวไกล และ “พิธา” ใช้เวทีโหวตนายกฯ อภิปรายโจมตี

ทางแยก พท.เป็นรัฐบาล

เมื่อ “พิธา” ไม่อาจผ่านด่าน ส.ว. เป็นนายกฯ คนที่ 30 เพราะชนักติดหลังในรอบแรก การเมืองอาจถึงทางแยกสำคัญ

เพราะฝ่ายตรงข้ามอำนาจเตรียมงัดแท็กติก “เกมญัตติ” ตามข้อบังคับของรัฐสภาขึ้นมา “ปิดกั้น” การโหวต “พิธา” รอบสอง

ไม่ใช่แค่ ส.ว.ที่คิดเกมนี้ แต่พรรคการเมืองผู้ร่วมเดินทางบนเส้นทางเดียวกับพรรคก้าวไกลก็มองเกมนี้ออก

ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ที่อาจนำมาใช้ พลิกเกม-พลิกกระดานการเมือง แยกออกมาเป็น ขั้นตอนตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาดังนี้

ขั้นแรก เมื่อ “พิธา” ไม่ผ่านการโหวตนายกฯ รอบแรก พรรคก้าวไกลและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะเสนอชื่อ “พิธา” ขึ้นมาโหวตเป็นนายกฯ อีกครั้ง ตามกำหนดที่ประธานรัฐสภาวางไว้ 3 วันคือ 13, 19, 20 กรกฎาคม

แต่จะมีผู้ทักท้วงว่า โดยหยิบยกข้อบังคับข้อที่ 41 มาท้วงว่า ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน

“เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป”

เพราะข้อบังคับข้อที่ 36 ระบุว่า “ญัตติ” ที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ให้ผู้รับรองญัตติแสดงการรับรองโดยวิธี ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ เว้นแต่การรับรองการเสนอชื่อบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามข้อ 136

ข้อ 136 ระบุว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมรัฐสภา

การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อได้หนึ่งชื่อ จากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญ ตามรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวน

สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การรับรองตามวรรคสอง ให้กระทำเป็นการเปิดเผย ให้ประธานประกาศรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภา

ดังนั้น ข้อบังคับข้อ 136 จะถูกแปลความว่า การเสนอชื่อ “พิธา” ให้โหวตเป็นนายกฯ เข้าข่ายเป็น “ญัตติ” เพราะการเสนอชื่อนายกฯ มี “ผู้รับรอง” และมีการ “โหวต” จึงเท่ากับเป็นญัตติ

เมื่อญัตติโหวต “พิธา” เป็นนายกฯ ไม่ผ่านการเห็นชอบในรอบแรก ที่ประชุมรัฐสภาจึงไม่อาจเสนอญัตติที่มีชื่อ “พิธา” ซ้ำได้

ขั้นที่สอง แน่นอนว่าการใช้แท็กติกนี้จะเกิดการ “ทักท้วง” อย่างกว้างขวาง-รุนแรง-แหลมคม แต่สุดท้ายจะยุติด้วยการโหวตในรัฐสภา

ขั้วพรรคก้าวไกล กำ 312 เสียง แต่พรรคขั้วรัฐบาลเดิมมี 188 เสียง บวก 250 เสียง ส.ว. รวม 438 เสียง

เกมนี้ต้องใช้เสียงข้างมากตัดสิน

ขั้นที่สาม การโหวตนายกฯ ในรอบต่อไป อาจมีบางพรรคการเมืองเสนอ ชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ ซึ่งขณะนี้แคนดิเดตนายกฯ มีอยู่ 8 คน (ไม่รวมพิธา) 2 ขั้ว

ขั้ว 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล-พรรคเพื่อไทย หากตัดชื่อ “พิธา” ยังมีแคนดิเดต 3 คน จากพรรคเพื่อไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคเพื่อไทย

ขณะที่ขั้วรัฐบาลเดิม แคนดิเดตนายกฯ 5 คน นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์

ถึงเวลานั้น 1 ใน 8 แคนดิเดตจะถูกชูขึ้นมาโหวตในรอบที่ 2

หวังจับข้ามขั้ว

ในหมู่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีการวิเคราะห์สถานการณ์หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตัดสินใจ “วางมือ” ทางการเมืองแล้ว อีกไม่นานก็จะถึงคิว “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ลาออกบ้าง

ฟุ้งซ่านถึงขนาดว่า เมื่อไม่มี 2 ลุง ลุงตู่-ลุงป้อม โอกาสที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะกลายเป็น “พรรคร้าง” แล้วสมาชิกพรรคที่เหลือจะไหลมารวมกับพรรคพลังประชารัฐ จากนั้นจับมือข้ามขั้ว เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และพรรคที่เหลือ

พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลโดยไม่มี “ภาพเป็นผู้ร้าย” แต่ด้วยความ “จำเป็น” ทางการเมือง

“เราต้องเร่งตั้งรัฐบาลให้จบ และอย่างมีความชอบธรรม เพราะเชื่อว่าเมื่อพิธาไม่ผ่าน จะต้องมีการต่อรองระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ว่าจะเอาใครเป็นนายกฯ ดังนั้น เกมข้ามขั้วจะเกิดขึ้นหรือไม่ ยังไม่ถึงเวลา” แหล่งข่าวพรรคเพื่อไทย ให้คำนิยาม

แผนซ้อนแผน-เกมซ้อนเกม พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะก้าวไกลอาจต้องไปเป็นแกนนำฝ่ายค้าน