เปิดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2560 มีเกณฑ์อย่างไร

เปิดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี
ภาพจากเว็บไซต์ THAIGOV

คุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2560 มีเกณฑ์อย่างไร หลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ

วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ขั้นตอนหลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือกระบวนการ ตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรีทั้ง 35 คน ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการยืนยันจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ลงนามในหนังสือกราบบังคมทูลเกล้าฯ รายชื่อ แล้วส่งต่อให้กับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งเรื่องให้กับสำนักราชเลขาธิการ รับไปดำเนินการต่อไป

นายเศรษฐา ทวีสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้รายชื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว 100 % แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งว่า อาจใช้เวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติ ประมาณ 2 วัน

คุณสมบัติรัฐมนตรี

คุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 158 ความว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน”

คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี ทั้ง 35 คน ที่ถูกแต่งตั้งจะปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการใน 20 กระทรวง รวมสำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ไว้ดังนี้

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี

(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98

(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนด “ห้ามมิให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐ” ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง จะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นมิได้ (มาตรา 181)

รัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าจะต้องไม่เป็นข้าราชการและพนักงานของรัฐที่มีเงินเดือนประจำหรือข้าราชการการเมืองอื่น ๆ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่เข้าลักษณะตามวงเล็บ 1 ถึงวงเล็บ 18 ที่เกี่ยวข้อง เช่น

มาตรา 98 (12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง

มาตรา98 (13) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

มาตรา 98 (14) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี

มาตรา 98 (15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ว่าจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีอาจจะมาจากผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็น “คนนอก” ก็ได้เช่นเดียวกับกรณีของนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 112 กล่าวคือ บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้ เว้นแต่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

นักการเมือง

ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 170 ระบุว่า

1.ตาย

2.ลาออก

  1. สภาผู้แทนราษฎรไม่ไว้วางใจ

4.ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามมาตรา 160

5.กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187

6.มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 171

นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย

ให้นำความความในมาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรี ตาม (2) (4) หรือ (5) หรือ วรรคสองโดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย

รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง

1.ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170

2.อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

3.คณะรัฐมนตรีลาออก

4.พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144

นอกจากนี้มาตรา 169 ยังระบุอีกว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167(2) และต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 168 ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

(2) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อ การเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด