เศรษฐาตั้งคณะบุคคล รมต.-คนนอก ลุยนโยบายฟาสต์แทร็กเรื่องเข้า ครม.

ครม.เศรษฐา-1 พร้อมทีมงาน

ครม.นัดพิเศษ ไฟเขียว ระเบียบ-คู่มือประชุม ครม.ยุคเศรษฐา ผุดคณะกรรมการรัฐมนตรี เคลียร์เก้าอี้ให้คนนอกช่วยงาน เปิดช่องทางพิเศษ ฟาสต์แทร็ก กลั่นกรองเรื่องก่อนเข้าครม. ให้อำนาจ “ครม.วงเล็ก” ประชุมลับฉุกเฉิน อ้างเพื่อรักษาประโยชน์สำคัญของประเทศ

วันที่ 8 กันยายน 2566 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ได้เห็นชอบการกำหนดวิธีการประชุมครม. ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ อาทิ วัน เวลา และสถานที่ประชุม ครม. องค์ประกอบของการประชุมครม. ระเบียบวาระการประชุมครม.ประเภทแฟ้มระเบียบวาระการประชุม ครม. การส่งระเบียบวาระการประชุมครม. การลาประชุมคณะรัฐมนตรีสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี

เศรษฐา-ครม.นัดพิเศษ

 

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า โดยเฉพาะการเพิ่มเติมขึ้นมาและแตกต่างจากครม.สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ การมี คณะกรรมการรัฐมนตรี ครม.จะแต่งตั้งคณะบุคคล ประกอบด้วย รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและบุคคลอื่นที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องที่จะพิจารณา เพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องใดก่อนเสนอครม.ก็ได้ เพื่อให้เรื่องที่จะนำเสนอครม.ได้มีการพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และประหยัดเวลาการประชุมครม.

ก่อนหน้านี้นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยว่า จะมีหลายคนมาช่วยงานรัฐบาลอีกหลายคน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งทางการเมือง

สำหรับรายละเอียดมี 1.วัน เวลา และสถานที่ประชุม ครม. อาทิ จัดการประชุมครม.อย่างเป็นทางการ กรณีปกติในทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

เศรษฐา-ครม.นัดพิเศษ

2.องค์ประกอบของการประชุมครม. เช่น องค์ประชุมครม. การประชุมครม.กรณีปกติให้ดำเนินการได้เมื่อมีรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนครม.ทั้งหมดที่มีอยู่ โดยจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมให้รวมถึงผู้เข้าร่วมประชุมโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสามารถปรึกษาหารือกันได้แม้จะมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน

ในกรณีจำเป็นเพื่อการรักษาประโยชน์สำคัญของประเทศหรือมีกรณีฉุกเฉินหรือเพื่อประโยชน์ในการรักษาความลับ นายกรัฐมนตรีอาจพิจารณาเรื่องใดกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตามที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อมีมติของครม.ในเรื่องนั้นได้ และเมื่อมีการประชุมเป็นกรณีปกติให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้ที่ประชุมครม.ทราบมติของครม.ดังกล่าวด้วย

ผู้เข้าร่วมประชุมครม.ประกอบด้วย ข้าราชการการเมือง ได้แก่ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ข้าราชการประจำระดับสูง ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และตำแหน่งอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ฝ่ายเลขานุการ เช่น เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

เศรษฐา-ครม.นัดพิเศษ

3.ระเบียบวาระการประชุมครม. ประกอบด้วย เรื่องที่ประธานแจ้งที่ประชุม เรื่องวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เรื่องเพื่อพิจารณา เรื่องเพื่อทราบ (หากไม่มีข้อทักท้วงให้ถือเป็นเรื่องที่ครม.เห็นชอบ/อนุมัติ เรื่องเพื่อทราบ เรื่องอื่น ๆ

4.ประเภทแฟ้มระเบียบวาระการประชุม ครม. ประกอบด้วย เรื่องเพื่อพิจารณา แฟ้มสีชมพู เรื่องเพื่อทราบ (หากไม่มีข้อทักท้วงฯ) แฟ้มสีส้ม เรื่องเพื่อทราบ แฟ้มสีฟ้า

5.การส่งระเบียบวาระการประชุมครม. สำนักเลขาธิการครม.จะจัดส่งระเบียบวาระการประชุมฯ พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครม.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 วัน ก่อนการประชุมครม. โดย สลค. จะจัดส่งระเบียบวาระการประชุมฯให้ครม.ดังนี้

-การประชุมครม.ในกรณีปกติทุกวันอังคาร จะส่งระเบียบวาระการประชุมฯ (ปกติ) ให้ครม.ในวันศุกร์ และส่งระเบียบวาระการประชุมฯ (เพิ่มเติม) ในวันจันทร์ ส่วนระเบียบวาระการประชุม ฯ (วาระจร) จะจัดส่งในวันประชุมครม.
-กรณีที่มีการเลื่อนวันประชุมครม.จะส่งระเบียบวาระการประชุมฯให้ครม.ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 วันก่อนวันประชุมครม.

6.คณะกรรมการรัฐมนตรี ครม.จะแต่งตั้งคณะบุคคล ประกอบด้วย รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและบุคคลอื่นที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องที่จะพิจารณา เพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องใดก่อนเสนอครม.ก็ได้ เพื่อให้เรื่องที่จะนำเสนอครม.ได้มีการพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และประหยัดเวลาการประชุมครม.