ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาให้ พิธา-ก้าวไกล แจงคดี ม.112-หุ้นไอทีวี

ก้าวไกล

ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาให้พรรคก้าวไกล ยื่นบันทึกข้อเท็จจริง หาเสียง ม.112-พิธา ถือหุ้นไอทีวี

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สําคัญ ในคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ว่า การกระทําของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดําเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ทั้งนี้ คดีอยู่ในระหว่างศาลรัฐธรรมนูญให้พยานบุคคลของผู้ถูกร้องทั้งสองและพยานผู้เชี่ยวชาญจัดทําบันทึกถ้อยคํายืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ ซึ่งพยานบุคคลของผู้ถูกร้องทั้งสองยื่นคําร้องฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ขอขยายระยะเวลายื่น บันทึกถ้อยคําข้อเท็จจริง หรือความเห็นออกไปอีก 10 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญกําหนด

ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้ว อนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2566 และกําหนดนัดพิจารณาคดีต่อในวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 นาฬิกา

ส่วนคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 42 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จํากัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อสารมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (3)

ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องว่างลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคําวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟัง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2)

และศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งรับคําร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยและสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย ต่อมาผู้ถูกร้องยื่นคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมบัญชี ระบุพยานเอกสาร พยานบุคคล และพยานวัตถุ ฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 และบัญชีระบุพยานบุคคล เพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 18 ตุลาคม 2566

ทั้งนี้ ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตตามที่ผู้ถูกร้องขอขยายระยะเวลาจัดทําบันทึกถ้อยคํายืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นล่วงหน้า โดยให้จัดส่งภายในวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องสําเนาแก่คู่กรณีฝ่ายอื่นเพื่อทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 7 วัน จากนั้นอภิปรายเตรียมการไต่สวนในวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2566

อนึ่ง การไต่สวนเรื่องพิจารณาที่ 8/2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 เรื่องพิจารณาที่ 23/2566 ในวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2566 และเรื่องพิจารณาที่ 19/2566 ในวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้เฉพาะคู่กรณีและบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้นเข้าร่วมรับฟังการไต่สวน