อัพเดตประวัติมาดามเดียร์ ชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9

มาดามเดียร์ วทันยา วงษ์โอภาษี

มาดามเดียร์ ฉายาของ วทันยา วงษ์โอภาสี บุนนาค นักการเมืองหญิง ที่เคยสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ย้ายเข้าประชาธิปัตย์ 15 เดือน ประกาศชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค คนที่ 9

ผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เห็นหน้าชัด ๆ นอกจากนายนราพัฒน์ แก้วทอง ยังมีบุคคลที่อาจพลิกโผขึ้นมาชิงตำแหน่งในนาทีสุดท้าย

ชื่อที่เป็นไปได้ ที่จะเข้าป้ายเป็น “รักษาการหัวหน้าพรรคชั่วคราว” อาจเป็น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรค ที่ยังสั่งสมบารมีกับ สส.สอบได้ และ สส.สอบตก หลายกลุ่ม-หลายก้อน หรือแม้กระทั่ง ชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี สมาชิกพรรคเบอร์ใหญ่ ที่หลายขั้วสำคัญในพรรค ประกาศให้การสนับสนุน

แต่คนที่ประกาศทั้งใน-นอกพรรค และหาเสียงในทุกแพลตฟอร์ม มีเพียง มาดามเดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี บุนนาค

ประวัติส่วนตัว

มาดามเดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี ปัจจุบันอายุ 38 ปี (เกิดวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527) จดทะเบียนสมรสเมื่อปีที่แล้ว เป็นภรรยาตามกฎหมายของ ฉาย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หลังอยู่กินฉันสามีภรรยามากว่า 13 ปี มีลูกชายและลูกสาวด้วยกัน 2 คน ได้แก่ พอใจ บุนนาค และพอเพียง บุนนาค

เธอถูกเรียกขานว่าเป็น “มาดามเดียร์” หลังเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ซึ่งในปี 2560 ทีมฟุตบอลของเธอได้ครองแชมป์จากการแข่งกีฬาฟุตบอลในซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย

มาดามเดียร์ เข้าสู่วงการลูกหนัง ด้วยการทาบทามของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และต่อมาเธอได้ยุติทำทีมฟุตบอล ทีมชาติไทยชุดอายุไม่เกิน 23 ปี เพื่อเป็นไปตามนโยบายของสมาคมฟุตบอล ที่ยกเลิกระบบผู้จัดการทีมชาติทุกชุดไปแล้ว

เธอเคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซีไทย ขณะทำหน้าที่ในวงการฟุตบอลลูกกลม ๆ โดยได้ปฏิเสธมุมมองที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าตำแหน่งผู้จัดการทีมของเธออาจะเป็นการปูทางสู่เส้นทางการเมือง

พร้อมยืนยันไว้ว่า “ไม่มีการเมืองแน่นอน เพราะเดียร์ถือว่าอาชีพหลักของเราคือการเป็นสื่อมวลชน แล้วเราก็แบบเชื่อว่าเรื่องของสื่อกับการเมือง มันไม่ควรจะมาบรรจบกัน”

แต่หลังจากนั้น 1 ปี เธอก็เข้าสู่การเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

ประวัติการศึกษา-วงการธุรกิจ

มาดามเดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี สำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเซเลบริตี้ ในมหาวิทยาลัย ในตำแหน่งเชียร์ลีดเดอร์ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ในวงการธุรกิจ มาดามเดียร์เคยมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทในธุรกิจสื่อ 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท ร่วมมือร่วมใจ จำกัด และบริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด ในปี พ.ศ. 2559 เธอได้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เส้นทางการเมือง

มาดามเดียร์ อายุงานการเมืองรวม 5 ปี อายุสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 15 เดือน ประกาศต่อหน้าพระแม่ธรณีบีบมวยผม สมัครลงชิงหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566

ปลายปี 2561 มาดามเดียร์ เข้าสู่พรรคใหม่-พรรคใหญ่ ที่รวบรวมขุนพลการเมืองไว้เป็นจำนวนมาก นักการเมืองชายรุ่นใหญ่ตั้งแถวต้อนรับเธอ ในฐานะสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มาดามเดียร์ ได้เป็น สส.ครั้งแรก ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 19 พรรคพลังประชารัฐ

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปี 2565 มาดามเดียร์โหวต “งดออกเสียง” ไม่ไว้วางใจนักการเมืองรุ่นใหญ่ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น

จากนั้นในเดือนถัดมา 16 สิงหาคม 2565 มาดามเดียร์ ยื่นใบลาออกจากการเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โดยระบุเหตุผลเรื่องเหตุการณ์สภาล่ม จากวาระการโหวตสูตรคำนวณ สส.บัญชีรายชื่อ แบบสูตรหาร 100 เป็นหาร 500 โดยมาดามเดียร์ มีจุดยืนเห็นด้วยกับสูตร หาร 100

ก่อนถึงฤดูเลือกตั้งใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น มาดามเดียร์ มีกำหนดการเข้าอำลากับผู้มีบารมีแห่งบ้านป่ารอยต่อ-ประมุขพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แกนนำเครือข่ายอำนาจ 3 ป.

เดือนกันยายน 2565 เธอออกจากบ้านป่ารอยต่อ เลี้ยวเข้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศเป็นสมาชิกพรรค ท่ามกลางแถวต้อนรับของนักการเมืองรุ่นใหญ่ นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบ กทม. และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

เธอเป็นแกนนำในการรณรงค์หาเสียงทั่วประเทศให้พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566 แต่แล้วพรรคก็พ่ายการเลือกตั้ง ได้ สส.เพียง 25 คน ชื่อของเธอในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ ไปไม่ถึงฝั่งที่จะเข้าสภาผู้แทนราษฎร

ล่าสุดอายุสมาชิกพรรคของมาดามเดียร์ 15 เดือนเศษ เธอตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ที่ผ่านการจัดการเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ตัว เธอต้องลุ้นว่า ชื่อของเธอจะได้ขึ้นอยู่หัวตารางกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2566

อัพเดตทรัพย์สิน 536 ล้าน

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว (13 ธันวาคม 2565) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของมาดามเดียร์ กรณีพ้นจากตำแหน่ง สส. เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2565 โดย น.ส.วทันยา พร้อมด้วย นายฉาย บุนนาค คู่สมรส รวมทั้งบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แจ้งว่ามีทรัพย์สินทั้งสิ้น 536,032,740 บาท หนี้สิน 126,439,294 บาท

ครอบครองเพนต์เฮาส์ 92 ล้าน

ทรัพย์สินในส่วนของ มาดามเดียร์ มี 240,075,840 บาท ประกอบด้วย เงินสด 4,200,000 บาท เงินฝาก 2,071,816 บาท เงินลงทุน 7 รายการ มูลค่ารวม 11,736,412 บาท ส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในกองทุนเปิด เงินให้กู้ยืม 45,362,249 บาท โดยระบุชื่อผู้กู้คือ นายภควันต์ วงษ์โอภาสี น้องชายของ น.ส.วทันยา

ครอบครอง ที่ดิน 4 รายการ มูลค่ารวม 32,077,500 บาท โดยอยู่ในพื้นที่บางกะปิ 3 โฉนด พื้นที่บึงกุ่ม 1 โฉนด โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 4 รายการ มูลค่ารวม 111,206,460 บาท

รายการที่มูลค่าสูงสุด เป็นห้องชุดเพนต์เฮาส์ แขวงคลองตันเหนือ 92,000,000 บาท นอกนั้นเป็นห้องชุด ทาวน์เฮาส์ และบ้านเดี่ยว ยานพาหนะ 2 รายการ มูลค่ารวม 2,818,900 บาท โดยเป็นรถจักรยานยนต์ 1 คัน และรถยนต์ Volkswagen 1 คัน

สิทธิและสัมปทาน 10,173,084 บาท ส่วนใหญ่เป็นสิทธิในกรมธรรม์ประกันภัย กองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา และที่น่าสนใจคือสิทธิในสมาชิกแปซิฟิกคลับ ซิตี้ (ไม่แจ้งมูลค่า) ทรัพย์สินอื่น 20,429,372 บาท ส่วนหนี้สินแจ้งว่าเป็นเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 45,149,407 บาท

มีรายได้ต่อปี 4,963,378 บาท ส่วนใหญ่มาจากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม 2,215,000 บาท เงินประจำตำแหน่ง 854,760 บาท นอกจากนั้นยังแจ้งว่าได้ทรัพย์สินจากมารดา 505,000 บาท ได้ทรัพย์สินจากคู่สมรส 353,000 บาท และยังมีรายได้จากการขายกองทุน 429,137 บาท

ฉาย บุนนาค มี 285 ล้าน

ขณะที่ทรัพย์สินในส่วนของคู่สมรส 285,301,840 บาท ประกอบด้วย เงินสด 250,000 บาท เงินฝาก 5,182,208 บาท เงินลงทุน 11 รายการ มูลค่ารวม 4,178,925 บาท ส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในกองทุนเปิด ที่ดิน 3 รายการ มูลค่ารวม 117,565,000 บาท โดยอยู่ในพื้นที่บางกะปิ 2 โฉนด พระโขนง 1 โฉนด โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 3 รายการ มูลค่ารวม 8,736,620 บาท โดยเป็นห้องชุด บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์

ยานพาหนะ 4 รายการ มูลค่ารวม 11,998,000 บาท โดยที่น่าสนใจคือรถยนต์ Mercedes Benz ทะเบียน ฉบ 999 จำนวน 1 คัน มูลค่า 2,068,000 บาท รถยนต์ Lexus 1 คัน มูลค่า 5,500,000 แจ้งว่าได้มาเมื่อ 24 เม.ย. 2564 สิทธิและสัมปทาน 7,525,666 บาท ส่วนใหญ่เป็นสิทธิในกรมธรรม์ประกันภัย กองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา และที่น่าสนใจคือสิทธิในสมาชิกแปซิฟิกคลับ ตลอดชีพ (ไม่แจ้งมูลค่า) ทรัพย์สินอื่น 129,865,420 บาท

มีหนี้สิน 81,289,886 บาท แบ่งเป็นเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 15,048,957 บาท หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ 3,240,929 บาท หนี้สินอื่น 63,000,000 บาท ระบุชื่อเจ้าหนี้ คือ นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) บิดาของนายฉาย นอกจากนั้นยังแจ้งว่าบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีทรัพย์สินเป็นเงินฝาก และสิทธิและสัมปทาน รวม 10,655,058 บาท

รายการของนายฉาย คู่สมรส แจ้งว่ามีรายได้ต่อปี 26,829,714 บาท ส่วนใหญ่มาจากเงินประจำตำแหน่ง 14,800,000 บาท เงินได้จากมารดา 10,000,000 บาท เป็นต้น ส่วนค่าใช้จ่ายต่อปีของ น.ส.วทันยา 15,845,100 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าผ่อนบ้านและค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภค

ค่าใช้จ่ายของนายฉาย คู่สมรส 35,086,229 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าผ่อนบ้านและค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภค ค่าผ่อนรถ ค่าท่องเที่ยว และเงินบริจาค นอกจากนี้ยังมีค่าเล่าเรียนบุตรต่อปี 2,220,000 บาท

กรุเครื่องประดับ-นาฬิกา 11 เรือน

สำหรับทรัพย์สินอื่นที่น่าสนใจ ของ น.ส.วทันยา และคู่สมรส อาทิ กระเป๋าแบรนด์เนมชื่อดัง ทั้ง Hermes, Chanel, Celine, Bottega Veneta, Christian Dior รวม 30 รายการ นาฬิกาหรู ทั้ง Patek Philippe, Rolex, Breguet, Hublot รวม 11 รายการ ทองคำรูปพรรณ น้ำหนักรวม 68 บาท มูลค่า 1,347,760 บาท

ทองคำแท่งน้ำหนักรวม 31 บาท สร้อยคอไข่มุก Mikimoto มูลค่า 860,000 บาท พระเครื่องหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ 18,150,000 บาท พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ 45,200,000 บาท พระเครื่องซุ้มกอ 10 ล้านบาท พระพุทธรูปอู่ทอง หน้าหนุ่ม 20,000,000 บาท พระพุทธรูปปางลีลา สุโขทัย 8,000,000 บาท หลวงปู่ทวดเนื้อว่าน วัดช้างไห้ 1,000,000 บาท