เปิดคุณสมบัติ ทักษิณ ชินวัตร ราชทัณฑ์เผย เข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ

ทักษิณ ชินวัตร กรมราชทัณฑ์

กรมราชทัณฑ์ เปิดเผย “ทักษิณ ชินวัตร” เข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ เนื่องจากคุณสมบัติเข้าเกณฑ์พิจารณา เป็นผู้สูงวัย และเจ็บป่วย ส่วนรายละเอียดการพักโทษ ขึ้นกับคณะกรรมการพักการลงโทษ เป็นผู้พิจารณาเหตุ

วันที่ 17 มกราคม 2567 มติชน รายงานว่า นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขาฯ รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร และนายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงประเด็นสำคัญของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน

นายสมบูรณ์กล่าวว่า ภายหลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ เกินกว่า 120 วัน โดยในทุกห้วงเวลานับตั้งแต่รักษาตัวครบ 30 ครบ 60 และเกินกว่า 120 วัน ก็เป็นไปตามขั้นตอนที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ จะต้องมีความเห็นและรายงานไปตามลำดับชั้น ทั้งการรายงานต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อครั้งรักษาตัวครบ 60 วัน และเมื่อเกินกว่า 120 วัน ก็ต้องรายงานให้รัฐมนตรีรับทราบ

ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ก็ได้เซ็นรับทราบการอนุญาตนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ จากนั้นวานนี้ (16 ม.ค.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ก็ได้เซ็นรับทราบถึงการนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่เกินมา 136 วัน ถือว่าเข้าเงื่อนไขและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย

นายสมบูรณ์กล่าวอีกว่า กรณีของนายทักษิณ ที่นอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ ต้องยอมรับว่าได้ถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น โดยเฉพาะทาง สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีตัวแทนได้ขึ้นไปบนชั้น 14 รพ.ตำรวจ และได้พบนายทักษิณ

ซึ่งส่วนตัวตนเองในฐานะข้าราชการการเมือง ก็เชื่อมั่นว่านายทักษิณ นอนพักที่ รพ.ตำรวจ จริง ไม่ได้อยู่ที่คอนโดฯ อย่างที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยแน่นอน ตนจึงอยากให้การแถลงข่าววันนี้ ได้ลงรายละเอียดลึกเพื่อให้สังคมได้เข้าใจข้อเท็จจริง

ด้านนายสิทธิกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 นั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกรมราชทัณฑ์ ได้มีการประชุมและรายงานต่อคณะกรรมการราชทัณฑ์ให้รับทราบถึงการดำเนินการ เพราะกฎกระทรวงกำหนดให้กรมราชทัณฑ์ต้องออกระเบียบนี้

ส่วนความคืบหน้าของระเบียบแนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ที่จะต้องมารองรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ อยู่ระหว่างการดำเนินการ

ซึ่งในวันประชุม ทางฝ่ายเลขาฯก็ได้นำเสนอในที่ประชุมว่า ถ้าหากคณะกรรมการราชทัณฑ์ท่านใดมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางกรมราชทัณฑ์ก็จะต้องรับฟัง อีกทั้งในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิก็จะส่งข้อมูลให้กรมราชทัณฑ์ เพื่อเตรียมยกร่างหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณา แต่ ณ วันนี้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำยังไม่ได้มีการดำเนินการใด เพราะต้องรอระเบียบหลักเกณฑ์ แนวทางการปฏิบัตินี้ก่อน

ส่วนกลุ่มผู้ต้องขังในรายคดีใดที่จะได้รับการละเว้นจากระเบียบดังกล่าว เราต้องใช้ในการจำแนกวิเคราะห์เช่นกัน ว่ารายคดีใดจะได้ประโยชน์ หรือรายคดีใดต้องละเว้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะต้องไปศึกษาให้รอบคอบก่อนว่าจะแบ่งกลุ่มอย่างไร

ส่วนจำนวนผู้ต้องขังลอตแรกที่จะใช้พิจารณาก็ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอการศึกษาให้รอบด้านก่อน และต้องรอฟังความเห็นจากคณะกรรมการราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยเพื่อความรัดกุมที่สุด

นายสิทธิกล่าวถึงประเด็นโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษว่า เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของผู้ต้องขังที่มีสิทธิได้รับ แต่การพิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดจะเข้าเกณฑ์โครงการดังกล่าวนั้น ทาง ผบ.เรือนจำแต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาว่าใครมีความเหมาะสมหรือผ่านคุณสมบัติได้รับการพักโทษ

ทั้งแบบกรณีมีเหตุพิเศษและแบบปกติ ซึ่งผู้ต้องขังจะไม่สามารถเสนอตัวเองได้ เป็นการจัดทำประมวลเรื่องโดยเรือนจำนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม เรือนจำแต่ละแห่งจะมีการพิจารณาผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์พักโทษในทุกเดือน แล้วจึงจะเสนอรายชื่อมายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ ที่จะประชุมในทุกเดือน

ทั้งนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ โดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังไม่ได้รับรายงานจากนายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ถึงประเด็นรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร ว่าเข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษหรือไม่

“สำหรับคุณสมบัติของนายทักษิณ หากดูจากหลักเกณฑ์ที่ว่าเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง สูงวัย และมีอาการเจ็บป่วย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาในโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป (นักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป) แต่อย่างไร ณ วันนี้ทางกรมยังไม่ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ จึงยังไม่มีข้อมูลตรงนี้

ส่วนกระบวนการหากนายทักษิณผ่านเข้าโครงการดังกล่าวจริง จะเป็นการดำเนินการโดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติว่าจะจัดทำเรื่องเอกสารอะไรอย่างไร รวมถึงกรณีการติดกำไล EM จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพักการลงโทษที่จะพิจารณาเหตุต่าง ๆ หากจะไม่ติดกำไล ก็ต้องมีเหตุผลประกอบ” นายสิทธิกล่าว

นายสิทธิกล่าวถึงระบบพักการลงโทษว่า หากผู้ต้องขังรายใดเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ตามขั้นตอนแล้วก็จะต้องมีรายชื่อของผู้อุปการะ ซึ่งกรมคุมประพฤติจะต้องไปสืบเสาะว่าใครจะเป็นผู้อุปการะผู้ต้องขัง และเมื่อพักโทษจะประกอบอาชีพอะไร และจะต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติอย่างไรบ้าง หรือกำหนดอาณาเขตว่าห้ามพ้นรัศมีเท่าใด หรือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ส่วนบทบาททางการเมือง ในระหว่างการพักโทษ สามารถกระทำได้หากไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือไปทำอะไรที่ผิดระเบียบ