แผนลึก ก้าวไกล สู้ครั้งสุดท้าย หนียุบพรรค คดีล้มล้างการปกครอง

ก้าวไกล

พรรคก้าวไกล กำลังเดินเข้าสู่หลักประหารทางการเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ที่ยื่นยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567

5 ขั้นพิจารณาเกมยุบพรรค

หลังจากนั้น กระบวนการก็เดินไปตามขั้นตอน 5 ขั้นในศาลรัฐธรรมนูญ

1.ส่งสำเนาคำร้องให้พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน หากไม่ชี้แจงภายใน 15 วัน ก็จะถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และศาลก็จะดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ โดยกระบวนการทั่วไป ผู้ถูกร้องสามารถขอขยายเวลายื่นชี้แจงได้ 30 วัน และสามารถขยายต่อไปได้อีก 30 วัน ขึ้นอยู่กับศาลอนุญาตหรือไม่

2.การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ใช้ระบบไต่สวน โดยศาลรัฐธรรมนูญสามารถลงไปค้นหาความจริง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ รวมถึงมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้

3.คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายมีสิทธิร้องขอให้มีการแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีได้ตามที่ศาลเห็นสมควร และภายในเวลาที่ศาลกำหนด ทั้งนี้ต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ศาลเห็นสมควรให้กระทำด้วยวาจา

4.การทำคำวินิจฉัยและคำสั่ง องค์คณะทุกคนจะต้องทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และให้ที่ประชุมหารือร่วมกันแล้วจึงลงมติ

ในการทำคำวินิจฉัยต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 7 คน
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ศาลปรึกษาหารือกันจนกว่าจะได้ข้อยุติ

5.การอ่านคำวินิจฉัย โดยกฎหมายกำหนดให้คำวินิจฉัยมีผลในวันอ่าน และจะต้องประกาศคำวินิจฉัยในราชกิจจานุเบกษาภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย

ก้าวไกลลุ้นศาลเปิดไต่สวน

“ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดแผนการต่อสู้คดีว่า เอกสารมีหลายร้อยหน้า ทั้งคำร้อง ข้อเท็จจริงที่ประกอบคำร้อง ต้องใช้เวลาเยอะพอสมควร มีแง่มุมเยอะที่จะต้องโต้แย้ง รวมถึงจะต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีการไต่สวนเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริง บุคคล พยาน ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ

ขณะที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จะสู้คดีอย่างเต็มที่ คราวนี้ถึงขั้นยุบพรรคประหารชีวิตทางการเมือง ก็ควรให้สิทธิขยายอย่างละเอียด เราจะได้สู้อย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อครหา

ทั้งนี้ การขอให้ศาลเปิดไต่สวนเป็นไปตาม มาตรา 60 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า คู่กรณีจะอ้างตนเอง บุคคล และหลักฐานอื่นเป็นพยานหลักฐานได้ ให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน และวิธีการที่จะได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว

แต่ทว่าการจะเปิดให้มีการไต่สวนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะอนุญาตหรือไม่ มาตรา 58 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

“หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทําการไต่สวน หรือยุติการไต่สวนก็ได้”

ไม่มีอำนาจยุบพรรคปมล้มล้างฯ

อย่างไรก็ตาม 1 ในประเด็นที่พรรคก้าวไกลเตรียมการใช้ช่องต่อสู้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มี “อำนาจ” ในการยุบพรรค มีแต่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำล้มล้างการปกครองเท่านั้น

ชัยธวัชอ้างถึงมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “สั่งการให้เลิกการกระทํา” ดังกล่าวได้

แม้ว่า มาตรา 92 (1) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ระบุว่า เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นก็ตาม

“ชัยธวัช” ชี้แจงว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่มีข้อไหนที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรค แต่กลับกำหนดอยู่ในกฎหมายลำดับต่ำกว่า อย่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ซึ่งรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการมีคำสั่งให้ยุติการกระทำที่เห็นว่าเป็นการล้มล้างการปกครองเท่านั้น “ดังนั้น จะเห็นว่าจุดมุ่งหมายก็ไม่เหมือนกัน ลำดับศักดิ์ก็ไม่เท่ากัน แต่โทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ต่ำกว่าร้ายแรงกว่า ยิ่งต้องเป็นกรณีจำเพาะมากเท่านั้นถึงต้องลงโทษร้ายแรง”

อีเวนต์ก่อนชี้ชะตา

อย่างไรก็ตาม ช่วงปิดสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 3 เดือน พรรคก้าวไกล เตรียมแผนเคลื่อนวาระการเมือง

1.การเตรียมร่างกฎหมายเพิ่มเติม ครอบคลุมทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน

ส่วนงานในด้านกรรมาธิการ ถึงแม้ว่าจะปิดสมัยประชุม แต่การประชุมของคณะกรรมาธิการยังเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะกรรมาธิการที่มีตัวแทน สส.ของพรรคไปดูแลก็จะขับเคลื่อนงานในส่วนนี้ต่อ

2.หาแนวร่วมนอกสภา สั่ง สส.เข้าหาพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะทั้ง สส.เขต และ สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาของประชาชนมากขึ้น พร้อมทั้งนำปัญหากลับมาแก้ไขทันทีที่สภาเปิด ผ่านกระบวนการของสภา

3.แบ่งทีมพัฒนานโยบายเป็นเชิงประเด็น เช่น ก้าวกรีน ที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม, ก้าว Geek ดูแลเรื่องดิจิทัล, ก้าว Learn ดูแลด้านการศึกษา

4.เตรียมพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น ในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

5.แม้ว่าจะถูกยุบพรรค แต่เปิดรับสมัครสมาชิกให้ทะลุ 100,000 คน

พรรคก้าวไกล เดินเข้าสู่หลักประหาร แต่อีเวนต์ทุกอย่างยังเหมือนเดิม