“ไพบูลย์” ยอวาที พรรคเพื่อบิ๊กตู่ เป็นนายกคนนอกดีกว่าในบัญชี

ทั้งกระดานการเมืองพูดถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะคัมแบ็กอำนาจ กลับเข้าทำเนียบ นั่งเก้าอี้นายกฯเป็นสมัย 2

จิ๊กซอว์ตัวสำคัญคือปฏิบัติการของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กำลังฟอร์มทีมตั้งพรรคพลังประชารัฐ “ดูด” นักการเมือง เข้าร่วมก๊ก-กลุ่ม

ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นบันไดการเมืองให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ปีนขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง

เป็นจังหวะเดียวกับที่พรรคเก่า ขาใหญ่การเมืองต่างเจ็บปวด สะบักสะบอมกับจำนวนสมาชิกพรรคหดหาย นับหมื่น นับแสนคน ส่งผลกระทบต่อการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ที่ต้องผ่านการทำ “ไพรมารี่โหวต” ภายใต้กติการัฐธรรมนูญใหม่

การันตี “บิ๊กตู่” เหมาะนายกฯ

ต่างจากพรรคเกิดใหม่ใต้ปีก คสช.ที่กำลังคึกคัก หลายพรรคประกาศตัวตั้งแต่ไก่โห่ว่าจะสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ

หนึ่งในนั้นคือ “พรรคประชาชนปฏิรูป” ที่มีหัวหน้าชื่อ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

เขาเป็นคนแรกที่สนับสนุนให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เบิ้ลอำนาจนายกฯ เมื่อสิงหาคม 2559 และนำวัตถุประสงค์การเมืองข้อนี้มาเป็น 1 ในนโยบายของพรรคที่เขาตั้ง

“ขณะนี้ยังไม่เห็นคนอื่นที่เหมาะมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความสามารถในการบริหารประเทศ เหมาะในฐานะนายกฯ คนกลาง”

“ไพบูลย์” บอกว่า เงื่อนไข “คนกลาง” หมายถึง “นายกฯ คนนอก” ที่ไม่อยู่ในบัญชีพรรคการเมือง

“ถ้าท่านประกาศอยู่ในพรรคไหนขึ้นมาก็ไม่ใช่นายกฯคนกลาง แต่เป็นนายกฯสังกัดพรรคนั้น ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าท่านจะทำ และถ้าท่านทำอย่างนั้นไม่คุ้ม” 

เขาคำนวณผลลัพธ์การเมือง เปรียบเทียบ “ความต่าง” ระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ คนใน กับ นายกฯ คนนอก ไว้ 2 ข้อ

1.การเป็นนายกฯ คนในหรือคนนอกโดนโจมตีทั้งนั้น พรรคการเมืองไม่ได้โจมตีว่าเป็นคนในหรือคนนอก แต่โจมตีว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมือง คนในถูกล่อเป้ามากกว่าคนนอก2.แต่การสังกัดพรรคการเมืองทำให้ถูกโจมตีมากกว่าการไม่สังกัดพรรคการเมือง เพราะไปสังกัดพรรคการเมืองก็คือผู้เล่นในเกม เป็นเกมที่พรรคการเมืองใหญ่ถนัด และจะถูก “ล่อเป้า” จากการเป็นนายกฯ

คนใน “เปลืองตัว” มากกว่าคนนอก 

“พล.อ.ประยุทธ์อาจจะจัดตั้งรัฐบาล โดยใช้เสียง ส.ส. 126 เสียง โดยรวมกับเสียง ส.ว. 250 เสียง โหวต พล.อ.ประยุทธ์จากบัญชีพรรคการเมือง เพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ใน 5 ปีแรก ส.ว.ต้องร่วมโหวตนายกฯ แต่สุดท้ายอาจเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะมีเสียง ส.ส.แค่ 126 เสียง พอถึงเวลาก็ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายยื่นคือพรรคเพื่อไทย แต่พรรคประชาธิปัตย์อาจร่วมลงมติไม่ไว้วางใจ เสียงไว้วางใจอาจไม่ถึงครึ่งของสภา พล.อ.ประยุทธ์อยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน”

การเป็นนายกฯ “คนนอก” คือทางออกในเรื่องนี้ “มันโดนโจมตีเท่ากัน แต่เป็นนายกฯคนนอกยังรักษาความเป็นกลาง ไม่สังกัดพรรคไหน และก่อนจะถึงการโหวตนายกฯ คนนอก มีกลไกที่ ส.ส.คุยกันให้ได้ 250 เสียง เพื่อไปรวมกับเสียง ส.ว.อีก 250 เสียง ขอเปิดประชุมร่วม ส.ส. ส.ว. ที่จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 เสียง จาก 750 จึงจะปลดล็อกเลือกคนนอกบัญชีพรรคได้ ดังนั้น การได้ 250 เสียงของ ส.ส.ก่อนเพื่อปลดล็อกขั้นแรกไปรวมกับเสียง ส.ว. ก็จะไปป้องกันเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจในอนาคตด้วย”

“ที่สำคัญระหว่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังเป็นนายกฯ และยังมีมาตรา 44 อยู่ในมือ ยังเป็นรัฐบาล คสช. จนสุดท้ายเคลียร์จบ ก็ค่อยเข้าสู่การเป็นนายกฯ จากการเลือกโดยรัฐสภา สถานะจะมั่นคงกว่า”

“เมื่อถึงเวลาการตั้งคณะรัฐมนตรี ฝ่าย คสช. พล.อ.ประยุทธ์ควรเน้นเอารัฐมนตรีสายความมั่นคง กลาโหม มหาดไทย ดูแล ส่วนเรื่องกระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงสายสังคมก็เปิดให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมรัฐบาล สูตรนี้ดีที่สุด”

“แต่ถ้าเอาชื่อไปอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ที่คุณสมคิดตั้งขึ้น เท่ากับบล็อกตัวเองว่าจะเอากระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงความมั่นคง แล้วจะเหลืออะไรไปให้พรรคการเมืองที่สนับสนุน การต่อรองจะยากขึ้น เพราะอย่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงวัฒนธรรม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยจะเอาเหรอ…อาจจะไม่เอา” 

ไม่ยกมือให้นายกฯต่างพรรค

ดังนั้น หลังเลือกตั้ง หากพรรคประชาชนปฏิรูปมี ส.ส.ในสภา “ไพบูลย์” จึงขอสงวนท่าทีในการ “โหวต” หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ตัดสินใจเป็นนายกฯ ในนามพรรคการเมือง

“ถือหลักว่าถ้าเราเป็นพรรคการเมือง จะไปสนับสนุนนายกฯ ที่มาจากบัญชีพรรคอื่นได้อย่างไร หาก พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในบัญชีพรรค ก็อาจจะไม่ยกมือ เพราะไม่ใช่นายกฯ คนกลางแล้ว แต่ไม่ใช่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่เราบอกว่า อาจรอดูก่อน ไม่พูดตรง ๆ ว่าสนับสนุนเหมือนวันนี้”

ขณะที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ยังมีปัญหากับการหาสมาชิกพรรคการเมือง แต่สำหรับพรรคประชาชนปฏิรูปนั้น “ไพบูลย์” มั่นใจว่า ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ

“เราไม่มีปัญหาเพราะสมาชิกพรรคของเรา เราเลือกคนที่มีอุดมการณ์ตรงกัน เขาก็จะเลือกคนที่เหมาะสมสนับสนุนให้เป็น ส.ส. ขณะนี้ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคที่ตามกฎหมายต้องมีขั้นต่ำ 500 คน เราได้ 1,200 คน กระจายอยู่ทั้งหมดเกือบ 70 จังหวัด ทุนประเดิมที่กำหนดไว้ 1 ล้านบาท รวมแล้วจะได้ 1.2 ล้านบาท”

“จากนี้ก็จะขยายฐานสมาชิกโดยผู้ร่วมก่อตั้งพรรคให้ครบเป็น 77 จังหวัด ซึ่งตอนนี้มั่นใจว่าพรรคสามารถหาผู้ร่วมอุดมการณ์ที่เป็นสมาชิกพรรคได้ทั้ง 77 จังหวัดและจังหวัดไม่น้อยกว่า 100 คน” 

พรรคการเมืองเก่าที่มีขนาดใหญ่กว่า “พรรคประชาชนปฏิรูป” ไม่ว่า ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติพัฒนา ต่างโอดครวญกับการถูก “เซตซีโร่” สมาชิกพรรค

แต่เขากลับเห็นแย้งว่า เป็นเรื่องที่ดี “เพราะระบบไพรมารี่โหวตนั้นจำนวนสมาชิกต้องกระจาย แต่ถ้ามีสมาชิกจำนวนมาก ๆ อยู่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง หรือภาคใดภาคหนึ่ง แต่จังหวัดอื่นหรือภาคอื่นไม่มีเลย ก็จะมีปัญหาต่อการทำไพรมารี่ หากจะทำไพรมารี่โหวตให้ราบรื่น ควรมีสมาชิกในแต่ละจังหวัดมากกว่า 100-300 คน ถือเป็นไซซ์ที่ดีสำหรับการทำไพรมารี่ แต่ถ้ามีสมาชิกอยู่บางจังหวัดก็ไม่สามารถทำไพรมารี่ได้ พรรคการเมืองเก่าจึงออกมาโวยวาย”

ไม่แคร์เป็นตัวประกอบ

แม้ว่าเขาสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” กลับเข้ามาเป็นรัฐบาล คสช.ภาค 2 เป็นรายแรก แต่กลับถูกมองว่าพรรคของเขาเป็นตัว “ประกอบฉาก” การเมืองมากกว่า

เป็นธรรมดา ไม่ได้ว่าอะไร เราไม่จำเป็นต้องไปดิ้นทุรนทุรายหาจำนวน ส.ส.มาเยอะ เพราะเป็นความคิดของพรรคการเมืองระบบเก่า เพื่อมีทุนเยอะ ๆ แล้วมาหา ส.ส. เพื่อมาแสวงหาผลประโยชน์ เป็นการเมืองระบบเก่า เราเน้นการขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้เป็นของประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตั้งสภาปฏิรูปประจำทุกจังหวัด เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลแต่ละจังหวัด จำนวน ส.ส. เป็นภารกิจรอง แล้วใครได้เท่าไหร่ ใครจะไปรู้ ได้มากได้น้อยไม่สำคัญ เพราะกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยน สูตรคิดการเมืองระบบใหม่ที่เสียงไม่ตกน้ำ น่าจะได้เสียงอย่างที่เราพอใจ

เขาตั้งเป้าว่าจะส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ทุกภาคทั่วประเทศ “เมื่อสมาชิกครบ 100 คนก็จะพยายามส่งผู้สมัครทุกเขต อาจมีบางเขตที่เกิดเหตุสุดวิสัย ซึ่งอาจจะส่ง 90 เปอร์เซ็นต์ จากเขตเลือกตั้ง ประมาณ 300 กว่าเขต ส่วนผลลัพธ์จะได้กี่เก้าอี้ ไม่ตั้งเป้า เพราะถ้าตั้งเป้าแบบนั้นเป็นพรรคการเมืองระบบเก่า ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อหวังว่าจะได้กี่เก้าอี้ เกิดวิธีคิดแบบทุนขึ้นมา หากจะได้ ส.ส.มากต้องเกิดการแข่งขัน และต้องให้อามิสสินจ้าง”

“ส่วนพรรคเราส่งไป ประชาชนเห็นชอบก็ให้คะแนนมา ให้เท่าไหร่ก็พอใจ ได้ ส.ส.เท่าไหร่ก็พอใจ เพราะเราเป็นพรรคระบบใหม่ ปราศจากอามิสสินจ้าง แต่ถามว่า ได้เท่าไหร่…เชื่อว่าได้ ส.ส.เยอะก็แล้วกัน เพราะเราเชื่อว่าประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกันที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่เขาอยากได้พรรคแบบนี้ให้คะแนนผ่านการเลือกตั้งเป็นจำนวนมากอย่างน่าพอใจ”

พรรคประชาชนปฏิรูป อาจเป็นพรรคที่ประกอบฉากการเมืองแต่อาจเป็น “จิ๊กซอว์” ตัวหนึ่งที่ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” คืนทำเนียบอีกครั้ง