กอร.ฉ. ตั้ง บอร์ดจัดการข่าวสาร รับ สั่ง กสทช.-ดีอีเอส ตรวจสอบ 4 สื่อ

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ

กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ตั้ง บอร์ดจัดการข่าวสาร รับ สั่ง กสทช.-ดีอีเอส ตรวจสอบ 4 สื่อ

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) โดย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงถึงกรณีคำสั่ง กอร.ฉ. ฉบับที่ 4 ระงับการเผยแพร่สื่อ Voice TV ประชาไท Prachatai.com The reporter THE STANDARD และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH ว่า เหตุผลที่ออกประกาศฉบับที่ 4

เนื่องจากได้รับแจ้งจากหน่วยข่าวว่า ได้มีการนำเสนอข้อมูลอันอาจจะเกิดความสับสนและปลุกปั่นก่อให้เกิดความไม่สงบได้ ซึ่งการประกาศจะต้องให้หน่วยงานทั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ไปพิจารณาในเรื่องข้อมูลข่าวสารที่ตนเองได้รับมาหรือมีอยู่ว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่

หากทำผิดกฎหมายให้หน่วยงานนั้นๆ ไปดำเนินการพิจารณาตามการบังคับใช้กฎหมายในสภาวะปกติ ถ้าต้องการถอดข้อความเป็นบางช่วง หรือ ระงับการออกอากาศต้องขออำนาจศาล เนื่องจากการประกาศฉบับนี้ออกมายังไม่บังคับใช้ เนื่องจากจำเป็นต้องมีการกำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์ วิธีการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป

“กอร.ฉ. ไม่มีนโยบาย หรือยังไม่มีคำสั่งที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ และยังไม่มีการสั่งปิดสื่อ เป็นเพียงการจัดการข้อมูลข่าวสารที่มีปัญหาเป็นชิ้นๆ ไป หรือเป็นช่วงเวลาไป ซึ่งเป็นข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความสับสน สถานการณ์รุนแรงขึ้นได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่แล้วจึงจำเป็นต้องออกมาในลักษณะนี้ก่อน”

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวว่า ได้มีคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ที่ 13/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการสื่อ และข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มีหน้าที่บริหารจัดการข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏทางสื่อมวลชน เอกสาร หรือข้อมูลข่าวสารอื่นใด ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือได้รับจากประชาชน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ให้รวบรวมไว้เป็นระบบ ให้มีประสิทธิภาพ

2.สืบสวนตรวจสอบพิสูจน์ทราบติดตามความเคลื่อนไหวของการสื่อสาร ข้อมูลข่าวสาร หรือบุคคลที่ได้มีการเผยแพร่ รวมทั้งส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย หรือเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่มีเนื้อหาที่ไม่หมาะสม 3.กำหนดมาตรการเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมาย หรือก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

“เป็นหน้าหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยจะรวบรวมข่าวสารและประชุมตอน 10.00 น. โดยมีปลัดกระทรวงดีอีเอสเป็นประธาน มีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการมาพิจารณาร่วมกัน หากเป็นข้อมูลข่าวสารที่กระทบต่อความมั่นคง ผิดกฎหมายจะดำเนินการ 1. ถ้าเป็นบุคคลก็จะเรียกมาตักเตือน ถ้าเป็นความผิดตามกฎหมายให้หน่วยงานนั้นๆ ไปร้องทุกข์ กล่าวโทษ 2.หากเป็นเฟกนิวส์ หรือใช้มาตรการทางการปกครองได้ก็ให้หน่วยงานนั้นๆ ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่

“เราจะใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. หรือประกาศในสภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในกรณีที่มีเรื่องเร่งด่วนจริงๆ ที่ไม่สามารถรอหน่วยงานปกติดำเนินการได้ จึงต้องใช้ประกาศสภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าว