“ประยุทธ์” สับเปลี่ยนกำลังสู้ พลังประชารัฐซมพิษการเมือง-ตั้งพรรคใหม่

รายงานพิเศษ

ปัญหาโควิด -19 รุมเร้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กอปรกับ “กองหนุนอ่อนกำลัง” พลังประชารัฐแรงตก-พรรคร่วมรัฐบาลไม่เป็นเอกภาพ กลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” ระบอบ คสช.- พล.อ.ประยุทธ์

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในสถานะ “เพลี่ยงพล้ำ” จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ “ทุบสถิติ” นิวไฮรายวัน วัคซีนไม่มาตามนัด นักสังเกตการณ์การเมืองวิเคราะห์ตรงกันว่า หากเป็นรัฐบาลเลือกตั้งปกติ “ไปนานแล้ว” อยู่ได้เพราะ “พลังพิเศษ”

ช่วงโค้งหักศอก-ก่อนครบวาระกลางปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ มี “สปริงบอร์ด” เด้งออกจาก “หุบเหว” วิกฤตโควิด-แผลเป็นเศรษฐกิจ เพื่อปิดประตูตาย-ดับความหวัง “ทักษิณกลับบ้าน”

“วอร์รูมทำเนียบรัฐบาล” วิเคราะห์ช่องทางกลับบ้านของ “ทักษิณ” ว่า ชิงจังหวะรัฐบาลซวนเซ เพื่อให้กำลังใจพรรคและเพื่อรวบรวมพรรคการเมืองอื่น-ล้มเสียง ส.ว. หวังพลิกกระดานอำนาจ-เลือกตั้งใหม่

ทว่า “ทักษิณ” มีต้นทุนต้องจ่ายจากการมีคดีอาญาติดตัว-ชนักปักหลัง

ปรับ ครม.-กระชับกองทัพ

การเปลี่ยนม้า (ป่วย) กลางศึก-ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ 2/5 กลางสมรภูมิ “สงครามโรค” จะถูกเร่งเร้าจากการเปิดศึกซักฟอก-อภิปรายไม่ไว้วางใจ “จองกฐิน” พล.อ.ประยุทธ์-เสนาบดีด้อยประสิทธิภาพในเดือนสิงหาคม

การปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/5 เพื่อ “ซื้อเวลา” ให้รัฐบาล “ไปต่อ” มิหนำซ้ำยังได้ “แก้เผ็ด” พรรคร่วมรัฐบาลที่ “เกียร์ว่าง” ทั้งการไม่อยู่ร่วมประชุม ศบค.-มีส่วนร่วมกับทีมเศรษฐกิจในการถอนพิษโควิด-19 รวมถึงขันนอต “รัฐมนตรีโลกลืม”

ประจวบเหมาะกับเข้าสู่ฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง-สับเปลี่ยนกำลังกองทัพที่จะมาถึงในเดือนกันยายน 2564 ทั้งปลัดกระทรวง-ผบ.เหล่าทัพ จะมีตำแหน่งสำคัญเกษียณอายุราชการ เช่น ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม-ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.)

สำหรับ “โผตัวเต็ง” คาดว่าจะผลักดัน“พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์” เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ไปนั่งปลัดกระทรวงกลาโหม แทน “พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ” ปลัดกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน และโยก “พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย” รองปลัดกระทรวงกลาโหม ไปแทน พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร.คนปัจจุบัน

ส่วน ผบ.ทอ.คนใหม่ มี “แคนดิเดต 3 คน” ได้แก่ “พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา” เสธ.ทอ. “พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์” ประธานที่ปรึกษา ทอ. และ “พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ วัฒนวรางกูร” ผู้บัญชาการกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ (ผบ.คปอ.)

นอกจากนี้ “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ “สวมหมวก” ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) ศบค. ก็จะเกษียณอายุในเดือนกันยายนนี้เช่นเดียวกัน

ทว่าความเคลื่อนไหวภายใน สมช.ขณะนี้ “นิ่งสนิท” เนื่องจากต้องรอการประชุมสภากลาโหม-เกลี่ยตำแหน่งในกองทัพให้สะเด็ดน้ำก่อน ส่วน “ลูกหม้อ-คนใน” รับสภาพ-คุ้นชินกับการมี “บอสใหญ่” เป็น “พลเรือนหัวใจลายพราง” จากกองทัพ

ยิ่งสถานการณ์โควิดรุกหนัก จึงไม่ใครออกตัวรับเผือกร้อน-โจทย์หิน กลับกันการได้ “นายใหญ่” ที่ “ไม่ใช่พลเรือน” เป็น “นายพลกองทัพ” เพื่อประสานงานกับรัฐบาลได้อย่าง “ไร้รอยต่อ”

ฟันธงล่วงหน้าได้ ว่า “เลขาธิการ สมช.คนใหม่” ไม่ใช่พลเรือน เป็น “คนนอก” ติดยศ “พลโท” นายทหาร “ข้ามห้วย” จากกองทัพ เพื่อมารับตำแหน่ง “ปลอบใจ”

กอดคอผ่านงบปี’65

ขณะที่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ “คืบหน้าไปมาก”

ถึงแม้สถานการณ์การระบาดโควิด 19 “ระลอกสี่” แต่การประชุมใส่เกียร์เดินหน้า เพิ่มวันประชุม เสาร์-อาทิตย์ คาดว่าจะเสร็จทันตามกรอบกฎหมาย 105 วัน-สิงหาคมจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาเพื่อลงมติในวาระสอง-วาระสาม

“แกนนำพลังประชารัฐ” ที่ “นั่งหัวโต๊ะ” ควบคุมเม็ดเงินกว่า 3.1 ล้านล้านบาท พิจารณาในชั้นกรรมาธิการจับสัญญาณว่า “ไม่มีปัญหา” ส.ส.จะกอดคอกันผ่านความเห็นชอบ เป็นกระสุนดินดำไปลงพื้นที่ฐานเสียง-เร่งสร้างคะแนนนิยมในฐานที่มั่น เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ?

ตั้งพรรคอะไหล่ 3 ป.

คู่ขนานไปกับความพยายามตั้ง “พรรคสำรอง” ย้อนเกล็ด “แตกแบงก์ย่อย” มี “ปลัดคนดัง” ซึ่งจะเกษียณอายุเดือนกันยายนนี้ “โต้โผ” ให้เครือข่ายอำนาจ 3 ป. หากพรรคพลังประชารัฐ “นั่งร้าน คสช.” พลาดท่า กระแสตกต่ำ-กระสุนด้าน

ยิ่งพลังประชารัฐตอนนี้ส่วนใหญ่เป็น “อดีตขุนพลทักษิณ” เงินมาผ้าหลุด ถึงแม้ว่า พล.อ.ประวิตร จะเข้าไปกุมบังเหียน-ปราบพยศ แต่เมื่อใดที่ Money talk ย่อมไม่ยั่งยืน “พล.อ.ประยุทธ์” จึงเลือกที่ “เงี่ยหูฟัง” นักการเมืองแบบ “ฟังหูไว้หู”

โดยมีการแก้กติกาเลือกตั้ง เป็น “เกมยาว” โดยพรรคพลังประชารัฐ หวังว่าจะชิงความได้เปรียบจาก “บัตรสองใบ” กวาดเก้าอี้ ส.ส.เขตให้ได้มากกว่า 120 ที่นั่ง สนธิกำลังกับพรรคอะไหล่ของ “ปลัดคนดัง” กลายเป็น “รัฐบาลพรรคเดียว”

ส.ว.ตามน้ำ โหวตนายกฯ

“ส.ว.สายตรง 3 ป.” wait and see สถานการณ์การเมืองอย่างตาไม่กะพริบ วิเคราะห์ว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ชิงลาออก-เลือกนายกฯรอบใหม่ “แคนดิเดต” ที่อยู่ในตะกร้าพรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็น “นายกฯขัดตาทัพ” ก่อนเลือกตั้งใหม่

1.นายอนุทิน ชาญวีรกูล ของพรรคภูมิใจไทย 2.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ 3.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ นายชัยเกษม นิติศิริ พรรคเพื่อไทย ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แยกออกไปตั้งพรรคไทยสร้างไทยแล้ว

“ถ้า ส.ส.รวบรวมเสียงกันแล้ว ใครได้เสียงมาก คนนั้นก็ได้เป็นนายกฯ ถ้า ส.ส.เสียงส่วนใหญ่เลือกใคร ส.ว.ก็ตามนั้น สมมุติว่า นาย ก.กับ พล.อ.ประยุทธ์ นาย ก.มีเสียงสนับสนุน 300 พล.อ.ประยุทธ์ มีเสียงสนับสนุน 200 ส.ว.ก็เทให้นาย ก.”

ดังนั้นหาก พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจลาออก จึงไม่แน่ว่าจะได้กลับมาเป็นนายรัฐมนตรีอีกครั้ง ส.ว.จึงต้อง “โหวตตามน้ำ”

“ไม่มีใครรู้ ตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ ส.ส. ใครรวบรวมเสียงได้มากกว่า คนนั้นก็ได้เป็นนายกฯ ส.ว.ไม่ค้านเสียงของประชาชน เสียงใครได้มาก คนนั้นก็ได้เป็นนายกฯ”

“ที่อยู่ในตะกร้าตอนนี้มีไม่กี่คน พลังประชารัฐก็คงจะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ พรรคเพื่อไทยเสนอชัชชาติ ก็สู้กันตัวต่อตัว ถ้าตัด พล.อ.ประยุทธ์ออกไป ชัชชาติอาจจะได้เป็นก็ได้ ใครจะไปรู้”

“พูดตรง ๆ ตอนนี้ อนุทิน กับนายกฯประยุทธ์ดร็อปลงไปนิดหนึง เพราะโดนโจมตีเยอะ ถ้าเสนอชื่อเป็นนายกฯ คนอาจจะไม่เลือก ส.ส.อาจจะไม่เอาก็ได้ พลังประชารัฐคะแนนเสียงก็ตก ถ้าเลือกตั้งใหม่ก็ไม่รู้ว่าจะได้ ส.ส.กี่คนก็ไม่รู้”

ไม่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะลาออก หรือ ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ เวลานี้ ไม่ง่าย ที่จะพาองคาพยพ เครือข่ายอำนาจ คสช. ฝ่ามหาวิกฤต