“สมชาย” เมกะดีลสภานิติบัญญัติ เขย่าโรดแมป-ขยับเลือกตั้งอีก 6 เดือน

โรดแมปอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเลื่อนไม่เลื่อน เกี่ยวพันกับการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือกฎหมายลูก ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดยิ่งกว่าชัดว่า การเลือกตั้งจะนับ 1 ได้ กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิก (ส.ว.) มีผลบังคับครบ 4 ฉบับใช้เสียก่อน

จึงทำให้ช่วงโค้งสุดท้ายของโรดแมปอำนาจ นักเลือกตั้ง โหรการเมือง จับตาความเคลื่อนไหวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างไม่กะพริบตา เพราะหาก สนช. “คว่ำ” กฎหมายลูก 2 ฉบับที่เหลือ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. นั่นหมายความว่า โรดแมปต้องขยับไปโดยปริยาย

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “สมชาย แสวงการ” มือประสานสิบทิศใน สนช. รับรู้เรื่องราวระหว่างบรรทัดการเมืองที่เกิดขึ้นทุกช่วงตอน

เพราะเขาเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. เปรียบเป็นเหมือน “พ่อบ้าน” ในฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นกรรมการ-ที่ปรึกษาในวิปรัฐบาล และเป็นตัว “เดินเกม” คนสำคัญคนหนึ่งในฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นเหมือนมือซ้าย-มือขวา ของ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. และ “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” รองประธาน สนช.

“สมชาย” ไม่ปฏิเสธเด็ดขาดว่า สนช.มีโอกาสคว่ำกฎหมาย… แต่การจะคว่ำนั้นยาก

โรดแมปขยับคนไทยรับได้

“สมชาย” กล่าวว่า ขณะนี้ไม่น่ามีอุบัติเหตุให้กฎหมายลูกคว่ำ แต่ถ้า สนช.ไม่เอาด้วยกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ลงมติคว่ำเลย กรธ.ก็สามารถใช้ร่างของ กรธ.ส่งให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯได้เลย

“กฎหมาย 2 ฉบับที่จะต้องเสร็จในวันที่ 27-28 ม.ค. 2561 วันที่เข้าสภา ในฐานะที่เป็นเลขาฯวิป สมมติพา สนช.คว่ำกฎหมายฉบับนี้กัน ไม่เอา คะแนน 250 ต่อ 0 เลย กฎหมายก็ไม่คว่ำ เพราะ สนช.ทำไม่เสร็จ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ส่งให้นายกฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยนายกฯก็รอไว้ 5 วัน ว่ามีผู้ใดมายื่นคัดค้านหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้จะมี สนช. กับคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่มีสิทธิขอยื่นแก้ไข ถ้าไม่มีการยื่นคัดค้าน นายกฯก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ”

เว้นแต่เกิดกรณี “สุดโต่ง” โดยในชั้นคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ระหว่าง สนช. กกต. กับ กรธ. ถ้าหากเกิด กกต. กับ กรธ.จับมือกันไปพลิกกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. แบบเละเทะ ใช้มติเสียงข้างมาก 6 เสียง คว่ำร่างของ สนช. ซึ่งยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

“สำคัญในชอตนี้ ถ้ามีการตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย หาก กกต. สนช. กรธ. ตกลงกันได้ก็จบ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ จะใช้มติบ้าเลือดคว่ำร่างกฎหมายที่ผ่าน สนช. โดย กกต.กับ กรธ.ร่วมจับมือคว่ำ แม้จะคว่ำในชั้นกรรมาธิการร่วม แต่ก็ขึ้นอยู่กับ สนช.จะยอมหรือไม่ ถ้า สนช.ไม่ยอมก็มีสิทธิลงมติโหวตคว่ำในสภา แต่การทำเช่นนั้นยากมาก เพราะจะต้องใช้ 167 เสียง ที่จะไม่รับ ซึ่งไม่ง่าย คว่ำเสร็จปั๊บ คว่ำจริง แต่ยังเชื่อว่ายาก เพราะ กกต. กับ กรธ.จะกินดีหมีอย่างไรมาคว่ำร่างของ สนช.”

เมื่อถามว่าถ้าหากคว่ำจริงจะทำอย่างไร “สมชาย” กล่าวว่า “ถ้าคว่ำได้จริง กรธ.ต้องยกร่างใหม่ แต่จะไปแก้ประเด็นอื่นไม่ได้ เช่น กฎหมาย ส.ว.ถูกคว่ำ จะกลับหลังหันไปเอา ส.ว.แบบอื่นไม่ได้ เพราะมันยึดกับรัฐธรรมนูญ จึงต้องเอาประเด็นขัดแย้งกันไปร่างใหม่เท่านั้นเอง ก็เข้าสู่กระบวนการเหมือนเดิม โรดแมปอาจขยับไป 3-6 เดือน

ไม่เกินนี้ คิดว่าคนไทยรับได้

“สมมติร่างกฎหมายถูกคว่ำ ถ้า กรธ.ไม่ยกร่างใหม่จะใช้ร่างเดิม ก็ส่งร่างกลับมายัง สนช. พิจารณาใช้เวลา 60 วัน และตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายอีก อีก 60 วัน รวมกันเป็น 120 วัน แค่นี้ก็จบ เพราะถ้าโรดแมปจะขยับต้องรู้ตั้งแต่เดือน พ.ค.-มิ.ย. ปี 2561 เพราะจะรู้แล้วว่ากฎหมายถูกคว่ำหรือไม่คว่ำ ถ้ากฎหมายถูกคว่ำไปไม่ได้ ขยายไปอีกไม่เกิน 120 วัน คว่ำในเดือน พ.ค. เดือน มิ.ย.ก็ต้องร่างกฎหมายใหม่ ส.ค. 2561 ก็ต้องเสร็จ และต้องไปต่อสู้ในชั้น กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายอีก 2 เดือน ตรงกับ ต.ค. 2561 อย่างมากโรดแมปขยับไปถึงแค่ต้นปี บวกนิดหน่อย ไม่ใช่ คสช.จะอยู่อีกปี สองปี สามปี เป็นไปไม่ได้”

ถ้าสังคมเรียกร้อง-สนช.แก้ให้ได้อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งปมที่ทำให้โรดแมป คสช.เลื่อนไปอีกได้ นั่นคือการแก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เมื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการ กปปส.ส่งจดหมายน้อยตรงถึง พรเพชร พิชิตชลชัย ประธาน สนช. ให้แก้กฎหมายพรรคการเมือง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างพรรคใหม่พรรคเก่า ตามด้วย ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ยื่นขอให้แก้กฎหมายฉบับเดียวกันเพื่อ “เซตซีโร่” สมาชิกพรรคการเมือง จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็น “ทฤษฎีสมคบคิด” หรือไม่

สมชายกล่าวว่า “การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ได้ใช้ ก็ตอบยากว่าเป็นความผิดพลาดหรือเปล่า ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ ความจริงออกมาด้วยความรอบคอบอยู่แล้ว ผ่านคณะกรรมาธิการร่วมระหว่าง กกต. กรธ. และ สนช.เรียบร้อย ไม่มีปัญหา”

“เพียงแต่การทำกิจกรรมพรรคการเมืองจะเริ่มต้นครบกำหนดในวันที่ 5 ม.ค. 2561 ดังนั้นทางออกมีอยู่แล้ว ให้พรรคการเมืองไปยื่น กกต. เพื่อขอขยายเวลา และ กกต.ออกกติกาขยาย แต่แปลกใจว่า กกต.ไม่ทำ พรรคการเมืองก็ไม่ทำ แต่ไปยื่นให้ สนช.แก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คำถามคือกฎหมายยังไม่ได้ใช้ จะถูกข้อครหาว่า สนช.ดึงเกม ซึ่งเราไม่ประสงค์”

“ทางออก อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชี้แล้วว่าทำได้ ไม่ต้องแก้กฎหมาย เพราะถ้าแก้กฎหมายก็ต้องไปทำประชาพิจารณ์ถามความเห็นของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรคสอง กี่วัน กี่เดือน ทำเสร็จก็ต้องเข้า สนช.อีก 3 วาระ ถามว่าทำได้ไหม ถ้าสังคมเห็นว่าต้องทำ สนช.ก็จะแก้ให้ แต่มองว่ามีทางออก เช่น กกต.ก็ไปออกประกาศ หรือใช้มาตรา 44 ขยายเวลาออกไปก็ทำได้”

“อีกหนึ่งทางออกคือ กกต.ก็อาจจะประชุมพรรคการเมือง เพราะเห็นแล้วว่าเป็นปัญหา แล้ว กกต.ก็ประกาศให้ขยายเวลา ถ้าไม่ได้อีกก็ต้องถอยกลับมาที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองคือ คสช.จะต้องออกคำสั่งมาตรา 44 ถึงจะค่อยมาแก้กฎหมาย เพราะการแก้กฎหมายเป็นเรื่องสุดท้าย แต่กลับเอามาพูดก่อน เพราะเป็นขั้นตอนยาวที่สุด ทั้งที่เวลามันเหลือสั้นจุ๊ดจู๋”

บทเฉพาะกาลผ่าทางตัน

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งแผนที่ “สมชาย” และพรรคพวกใน สนช.เตรียมการไว้เป็น “แผนสำรอง” เรื่อง “ปลดล็อก” โดย “บทเฉพาะกาล” ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อีกทางหนึ่งเป็นทางที่ 4

“ผมจะแปรญัตติใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เรื่องปลดล็อกไว้ให้อีกว่า ถ้า กกต.ขยายเวลา คสช.ออกคำสั่งมาตรา 44 ก็จะไปเขียนบทเฉพาะกาลใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หลังประกาศใช้ พ.ร.ป.ฉบับนี้ ให้ดำเนินการเรื่องที่ค้างอยู่ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองให้เสร็จภายใน 60 หรือ 90 วัน ก่อนเลือกตั้ง เป็นการปลดล็อกทางที่สี่ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เห็นด้วยก็จบ จะเดินไปสู่สิ่งที่การเลือกตั้งอยู่แถวปลายปี 2561 เหมือนเดิม”

เมื่อการเมืองยังติดล็อกอยู่ที่คำสั่งของ คสช. พรรคการเมืองกระดิกกระเดี้ยไม่ได้เป็นเหตุให้นักเลือกตั้งอาชีพเพิ่มแรงกดดันมายัง คสช.ให้รีบปลดล็อก ก่อนจะถูก “แพ้ฟาล์ว” เพราะทำกิจกรรมการเมืองไม่ทัน ต้องสิ้นสภาพก่อนเวลาอันควร

แต่ คสช.ทั้งองคาพยพก็ยังดึงจังหวะ-เปิดพื้นที่ให้ “ขั้วอำนาจใหม่” ทั้งพรรคทหาร หนุนทหาร-พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “นายก ฯ คนนอก”

ขณะเดียวกันก็เป็นเวลาเดียวกับที่ นักการเมืองระดับ “คนกันเอง” ของ คสช. เปิดประเด็นแก้กฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งจะต้องพึ่งพาบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติโรดแมป คสช.จะเลื่อนหรือไม่เลื่อน

จะเลื่อนแค่ไหน อยู่ในคำตอบของ “สมชาย แสวงการ” ดังที่ปรากฏ


 

ชงสูตรบล็อก-ล็อก ส.ว.โหวตนายกฯคนนอก

ชื่อของ “สมชาย แสวงการ” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผูกโยงอยู่กับกลุ่ม 40 ส.ว. เป็น ส.ว.สรรหาถึง 2 วาระ

ครั้นรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 “สมชาย” คือหนึ่งใน 40 ส.ว. เข้ามาช่วยงานฝ่ายนิติบัญญัติพร้อม ๆ กับ ส.ว.สรรหาคนอื่น ๆ ที่กระจายไปทั่วแม่น้ำ 5 สาย

กฎหมายสำคัญหลายฉบับ “สมชาย” ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิป สนช.) คอยประสานทั้งกลุ่มทหาร กลุ่มนักธุรกิจ และนักกฎหมาย ทั้งกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรกำกับดูแลและกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร่าง พ.ร.บ.ภาษีศุลกากร

และยังแปรญัตติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เกือบครบทั้ง 10 ฉบับ ยกเว้นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เขานั่งเป็นกรรมาธิการอยู่

ล่าสุด “สมชาย” เตรียมแปรญัตติยกเครื่องการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใหม่ จากเดิมที่ ส.ว.ให้เลือกกันเอง 20 กลุ่มจากระดับอำเภอ จังหวัด และส่วนกลาง จนเป็น ส.ว. 250 คน แต่เขาจะแปรญัตติให้ยุบจำนวนกลุ่มลง และให้ประชาชนคัดเลือกในระดับสุดท้าย เพื่อแก้ปัญหาการบล็อกโหวต

“แต่ของ แบบ กรธ.ให้มีการเลือกไขว้ ซึ่งไม่สามารถบล็อกโหวตได้ เอาคนดังในสภา เช่น ครูหยุย (วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.) คนสุรินทร์ ทำงานมาตลอดชีวิตที่เขตดอนเมือง แจ้งวัฒนะ มีทางให้เลือก 2 ที่ ถ้าไปลงอำเภอเมืองสุรินทร์เมื่อไหร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของภูมิใจไทย และเพื่อไทย สองพรรคนี้ก็เอาคนมาลงเป็นเพื่อนเพื่อเลือกกันเอง ครูหยุยเดินมาจาก กทม.คนเดียว จะได้ไหม”

“หรือ รสนา โตสิตระกูล เคยเป็น ส.ว.กทม. มีคนเลือกเป็นล้าน ต้องลงระดับเขตทวีวัฒนา แล้วถามว่าคนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่จัดคนมาลงเป็นเพื่อนสักคนเหรอ ถ้านักการเมืองอยากได้ก็โอเค แล้วตัวบ้านรสนาก็ย้ายไปนครปฐม บ้านใหญ่สะสมทรัพย์ นครปฐม ไม่จัดคนมาแข่งเหรอ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ เพราะหลักการรัฐธรรมนูญเขียนไว้แค่เลือกไขว้ ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้”

“ดังนั้นแต่ละสาขาอาชีพควรจะได้ ส.ว. 20 คน จะต้องไม่ให้มีการบล็อกในพื้นที่ ต้องให้มีการเลือกกันเองในกลุ่มขึ้นมา พอมาถึงจังหวัดต้องมาคละใหม่ และเลือกกันอีกรอบ เพื่อไม่ให้ถูกบล็อกตั้งแต่ต้น เป็นการสรรหาโดยมีกระบวนการคัดกรองก่อน แล้วจะคัดกรองให้ประชาชนเลือกทั้งประเทศ”

หาก สนช.เห็นชอบตามที่ “สมชาย” เสนอ ส.ว.แบบเลือกไขว้ตามกลุ่มอาชีพ ก็จะผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชนอีกชั้นหนึ่ง