บอร์ดกัญชา-กัญชง นัดแรก ตั้ง 6 คณะอนุกรรมการ ห้ามนำเข้า-ส่งออก

กัญชา
Photo by Aphiwat chuangchoem

“อนุทิน” ประชุมบอร์ดกัญชา-ชง นัดแรก ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนภารกิจกัญชาเสรี 6 ด้าน ย้ำเพื่อการแพทย์-สุขภาพ นันทนาการในครัวเรือน ยังไม่อนุญาตนำเข้า-ส่งออก และห้ามเอาติดตัวขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศ

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ครั้งที่ 1/2565 ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่าสามารถใช้ภายในครัวเรือนได้ ไม่มีปัญหา แต่เพื่อความมั่นใจ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ผลิต test kit ออกมาแล้ว เพื่อวัดปริมาณ THC ไม่ให้เกิน 0.2 แต่ไม่ใช่ช่วงเวลานี้ เพราะต้องนำข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนนำไปพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อแปรญัตติกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ….

“เจตนารมณ์ของนโยบายกัญชง กัญชาเสรี มีคำว่าเพื่อการแพทย์และสุขภาพโดยตลอด ไม่ใช่เพื่อการมึนเมา ไม่ใช่เพื่อการสรวลเสเฮฮา หรือเพื่อการสันทนาการ แต่ต้องสันทนาการภายใต้กรอบที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย การสูบโชว์สักแต่จะทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัย ทำให้การผลักดันนโยบายกัญชง กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพมีปัญหา” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้เป็นเรื่องภายในประเทศ การนำเข้า-ส่งออกยังมีกฎเกณฑ์และข้อห้ามอยู่ ต้องศึกษาให้ดี การเดินทางไปต่างประเทศ ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรพกติดตัวไปในช่วงนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดเสรีในการใช้ได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพภายในประเทศ แต่ต่างประเทศยังไม่ยอมรับ

นายอนุทินกล่าวว่า ระหว่างนี้ที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ยังไม่บังคับใช้ มีระเบียบกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยจะออกเป็นประกาศส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เช่น การห้ามก่อให้เกิดความรำคาญในที่สาธารณะ และห้ามสูบระหว่างขับขี่ยานพาหนะ

“ช่อกับดอกถ้านำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นส่วนผสมผลิตสินค้าเพื่ออุตสาหกรรม หรือเพื่อให้เกิดรายได้ ต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.)” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนการเสียค่าธรรมเนียมจะเป็นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับ กมธ.จะเป็นผู้แปรญัตติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติเวลาขอใบอนุญาตจะมีค่าดำเนินการ ซึ่งพยายามจะให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 6 คณะ เพื่อสนับสนุนภารกิจของคณะกรรมการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย

1.คณะอนุกรรมการด้านการแพทย์และการบำบัดรักษา มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน

2.คณะอนุกรรมการด้านการให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนเพื่อป้องกันผลกระทบทางสังคม มีปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน

3.คณะอนุกรรมการด้านการผลิตทางเกษตรกรรม มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน

4.คณะอนุกรรมการด้านการป้องกันการลักลอบนำเข้า การผลิตที่ผิดกฎหมาย มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน

5.คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย มีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธาน

และ 6.คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ มีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธาน