พริษฐ์ วัชรสินธุ : บทใหม่ในก้าวไกล เข้าสภา จัดเค้าโครงงบประมาณประเทศ

พริษฐ์ วัชรสินธุ
พริษฐ์ วัชรสินธุ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

 

ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตแกนนำกลุ่มนิวเด็ม พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้เขาเปลี่ยนสีเนกไท จากสีฟ้า มาเป็นสีส้มเข้าสังกัด “พรรคก้าวไกล” เต็มตัว

หลังไปเป็นทีมเบื้องหลังอยู่ 2-3 ปี พร้อมกับเป็นทีมเบื้องหน้าร่วมกับ “คณะก้าวหน้า” ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “ไอติม” ในฐานะผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล ถึงการร่วมคิดนโยบายพรรคตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลในสมัยหน้า

และบทบาทล่าสุด เขาได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท ที่เขาตั้งเป้าว่าจะพิทักษ์เงินภาษีประชาชนอย่างเต็มที่

บทบาทในก้าวไกล

พริษฐ์ เล่าการทำงานตอนนี้ว่า ดูเรื่อง policy campaign ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของกระบวนการจัดทำนโยบาย

ต้นน้ำคือทำงานร่วมกับทีมนโยบายเพื่อวิเคราะห์ปัญหาความท้าทายที่ประเทศไทยและประชาชนเผชิญอยู่มีอะไรบ้าง และเราจะนำเสนอทางออกอย่างไร พยายามมีส่วนร่วมในการคิดนโยบายให้รอบคอบ พอพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลแล้วทำได้จริง

กลางน้ำ เป็นกระบวนการสร้างการให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ในการนำเสนอ ให้มี feed back รวมถึงนำนโยบายไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญว่าสิ่งที่เราคิด เขามีความเห็นอย่างไร และปรับให้ตรงจุดมากขึ้น

ปลายน้ำ รวมนโยบายทั้งหมดเพื่อสื่อสารไปหาประชาชน โดยเฉพาะที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้า ถ้าเลือกก้าวไกลแล้วเป็นรัฐบาล เราจะดำเนินนโยบายแบบไหน และจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นอย่างไร

พิทักษ์ภาษีประชาชน

สำหรับหน้าที่การเป็น กมธ.งบประมาณปี 2566 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะจัดทำงบประมาณ ส่วนปีหน้าจะเป็นบทบาทของรัฐบาลใหม่ พรรคก้าวไกลมองว่า บทบาทของเรา มี 2 บทบาทควบคู่กันไป

บทบาทที่ 1 การทำหน้าที่ตรวจสอบ ตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ ว่าทั้งหมดถูกจัดสรรไปยังหน่วยงาน กระทรวงต่าง ๆ สอดคล้องกับภารกิจที่เร่งด่วนของประเทศจริง ๆ หรือเปล่า

ซึ่งในปีนี้เราเห็นว่ามีปัญหาอยู่เยอะมาก เศรษฐกิจต้องการการฟื้นฟูหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มายาวนาน มีคนตกงาน ว่างงานหลายล้านคน หลายครัวเรือนมีปัญหาหนี้สิน SMEs ล้มหายตายจาก แต่งบฯลงทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจกลับลดลง 10% และงบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการสร้างถนนหนทาง ซึ่งไม่ตอบโจทย์ภารกิจที่เร่งด่วนที่สุด

โครงสร้างประเทศฉบับ ก้าวไกล

บทบาทที่ 2 เรายังทำหน้าที่ตั้งความหวังของประชาชน และเตรียมพร้อมในการเข้ามาบริหารประเทศ ว่าถ้าเราเป็นรัฐบาล เราจะสามารถบริหารประเทศเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นได้จริง

เราจึงพยายามศึกษากระบวนการจัดสรรงบประมาณ เพื่อถอดมาเป็นบทเรียน ประกอบการพัฒนานโยบายของพรรค ยังมีโครงสร้างรัฐ ฉบับก้าวไกล ถ้าเราเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วจะจัดสรรบทบาทของแต่ละหน่วยงาน หรือโครงสร้างของรัฐอย่างไร

เช่น ภารกิจต่าง ๆ ของประเทศนี้ควรจะอยู่ส่วนท้องถิ่น เหตุผลนี้จึงร่วมมือกับคณะก้าวหน้า ในการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมากขึ้น

จัดสรรนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคด้านพื้นฐาน เกี่ยวข้องกับสวัสดิการ การศึกษา ควรจะโอนถ่ายให้กับท้องถิ่นเป็นหลัก

นอกจากการกระจายอำนาจแล้ว ยังต้องพยายามดูว่า ภายใต้หน่วยรับงบประมาณ 700 กว่าหน่วยงาน มีหน่วยงานไหนบ้างที่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน ทำอย่างไรให้มีการบูรณาการมากขึ้น

เช่น ภารกิจจัดเก็บรายได้รัฐ แบ่งไป 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมสรรพากร ซึ่งบางประเทศได้ควบรวม 3 หน่วยงานนี้เข้าหากัน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเราก็เห็นว่าประเทศที่มีการควบรวม 3 หน่วยงานนี้เข้าหากัน อาจจะมีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีที่สูงได้เหมือนกัน

แน่นอนว่าอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ตายตัว แต่คำถามแบบนี้เราอยากจะตั้งเพื่อศึกษาความเป็นไปได้หรือไม่ที่ทำให้โครงสร้างรัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น

งบประมาณรัฐบาล VS ก้าวไกล

พริษฐ์ เทียบความต่างงบประมาณรัฐบาลปัจจุบัน กับงบประมาณฉบับก้าวไกล ว่า เราต้องการให้การจัดสรรงบประมาณอาจจะอ้างอิงกับอดีตน้อยลง อย่าทำสิ่งใด ๆ ที่เพียงเพราะว่าทำอย่างนี้มาก่อน แต่พยายามอ้างอิงปัจจุบันและอนาคตมากขึ้น เพื่อจะแก้ปัญหาปัจจุบันและเตรียมความพร้อมประเทศในอนาคต 6 ด้าน

1.เปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณที่แข็งตัว มาเป็นการจัดสรรงบประมาณที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ปัจจุบันถ้าเอาตัวเลขมาดู จะเห็นว่ารายได้ที่ประเทศจัดเก็บได้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท แต่ในรายจ่าย 2 ล้านล้านบาท ถูกใช้ไปกับที่ปรับขึ้นลงไม่ได้ เช่น งบฯบุคลากร การชำหนี้ดอกเบี้ย สวัสดิการที่ถูกรับรองโดยกฎหมาย

แสดงว่าเรามีพื้นที่ทางการคลัง 4 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเตรียมความพร้อมประเทศให้รับมือวิกฤตในปัจจุบันและอนาคตได้

ดังนั้นต้องหาวิธีการหารายได้เพิ่มเติม เช่น การเก็บภาษีที่ดินรวมแปลง โดยจัดเก็บภาษีจากพื้นที่ทั้งหมด ที่เจ้าของคนนั้นมีที่ดินอยู่ทั่วประเทศ จากเดิมที่มีการเก็บภาษีแบบแยกแปลง

ซึ่งงานวิจัยของสถาบันแห่งหนึ่งในประเทศไทยระบุว่า สามารถเพิ่มรายได้ 1 แสนล้านบาท เป็นแนวคิดของพรรคก้าวไกล ว่าจะหารายได้เพิ่มขึ้นอย่างไร โดยไม่เพิ่มภาระภาษีของคนส่วนใหญ่

2.เราต้องจัดสรรงบประมาณโดยการมองความท้าทายใหม่ ๆ อย่ามองเพียงแค่วิกฤต แต่มองให้เป็นโอกาสในการสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ด้วย เช่น ความท้าทายเรื่องโลกรวน ปัญหาสภาวะภูมิอากาศ เราสามารถสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสามารถสร้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้

“ไอเดียหนึ่งที่พรรคก้าวไกลมีคือ ปัจจุบันเราเห็นปัญหาว่าเกษตรกรหลายคนอาจประสบปัญหาหนี้สิน เรามองว่าถ้าเกษตรกรบางคนมีหนี้สินอยู่เยอะ แต่มีที่ดินอยู่ อาจจะจัดสรรงบประมาณให้รัฐไปเช่าที่ดินเหล่านั้นเพื่อปลูกต้นไม้ยืนต้น ในมุมหนึ่งเกษตรกรก็รับรายได้ค่าเช่าอาจทำให้สามารถค่อย ๆ ปลดหนี้ไปได้ แต่อีกมุมหนึ่งประเทศก็จะมีต้นไม้ยืนต้นเยอะขึ้น ซึ่งช่วยปริมาณภาวะเรือนกระจกของประเทศ”

3.เปลี่ยนจากการจัดสรรงบฯแบบบนลงล่าง มาเป็นล่างขึ้นบน ไม่ใช่เพียงแต่อัดฉีดไปที่ทุนใหญ่ และคาดหวังว่าทุกอย่างจะตามมา แต่ต้องพยายามอัดฉีดเข้าไปที่เศรษฐกิจฐานรากจริง ๆ โดยพยายามพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก หรือ SMEs ต้องจัดสรรงบฯให้กับธุรกิจรายเล็กมากขึ้น

เช่น โครงการหวยใบเสร็จ ถ้าใครซื้อสินค้าจาก SMEs จะได้สลากหรือหวยกลับมา ซึ่งนำไปลุ้นรับรางวัลได้ เพื่อกระตุ้นให้ SMEs มีแต้มต่อ สามารถเติบโตได้

4.เปลี่ยนจากการจัดสรรงบฯจากกระจุก มาเป็นกระจาย กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง น่าจะเป็นกลไกที่เข้าใจปัญหาของประชาชน และรับผิดชอบประชาชนในพื้นที่ได้ดีที่สุด

5.การเปลี่ยนการมองเรื่องการช่วยเหลือประชาชนจากสงเคราะห์มาเป็นสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ คือจัดสรรสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งการให้สวัสดิการแบบถ้วนหน้าเป็นการรับประกันว่าอย่างน้อยไม่ว่าเจอวิกฤตอะไรก็ตาม รัฐจะวางตาข่ายรองรับให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดำเนินการต่อได้

ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล งบประมาณสวัสดิการเราตั้งเป้าว่าจะต้องขึ้นจาก 2.5% ของจีดีพี มาเป็น 5% ของจีดีพี โดยจัดสรรสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนแก่ ถ้าเป็นเด็กแรกเกิด 0-6 ปี อยู่ที่ 1,200 ต่อคน/เดือน 7-22 ปี อยู่ที่ 800 บาทต่อคน/เดือน และถ้าเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 3 พันบาทต่อคน/เดือน

6.การเปลี่ยนการตีความความมั่นคงแบบเดิม ๆ มาเป็นแบบกว้างหรือแบบใหม่ ที่ผ่านมารัฐมักตีความความมั่นคงเป็นเรื่องของการทหาร แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้ว และมีภัยคุกคามความมั่นคงที่หลากหลายมากขึ้น ปัญหาโลกรวนอาจเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตคนไทยมากกว่าภัยความมั่นคงทางทหารด้วยซ้ำ

งบประมาณฉบับก้าวไกล จะทำให้ประเทศรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า และรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น และหวังว่าเปลี่ยนความรู้สึกที่ประชาชนเสียดายในการจ่ายภาษี มาเป็นรู้สึกภูมิใจ และเห็นว่าภาษีถูกใช้อย่างคุ้มค่าจริง ๆ

ก้าวไกล-ไอติม ความฝันเดียวกัน

ถามว่าทำไมเลือกมาทำงานการเมืองกับพรรคก้าวไกล “ไอติม” ตอบว่า การจะเข้าพรรคใดพรรคหนึ่งมีคำถามเดียวว่าประเทศในฝันของเรา ตรงกับพรรคไหนมากที่สุด และ ณ วันนี้ ผมพูดเต็มปากเต็มคำว่า ความฝันของผมและพรรคก้าวไกลเหมือนกันที่สุด จึงตัดสินใจเข้ามา

ผมมักจะเปรียบเทียบประเทศประเทศหนึ่งเหมือนกับเค้กก้อนหนึ่ง ที่อาจจะเป็นเค้กที่รวมรายได้ของทุกคนเข้ามา คือ จีดีพี ประเทศไทยในฝันของผมต้องมี 3 อย่างที่เกิดขึ้น

คือ อย่างแรก ทำอย่างไรให้เค้กมันโต เค้กจะโตได้ ผมกับพรรคก้าวไกลมองเหมือนกันว่า เราต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ ๆ

การทำงบประมาณจากบนลงล่าง ไปอัดฉีดแค่ทุนขนาดใหญ่อย่างเดียวไม่ได้อยู่แล้ว ต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโต ทำให้เข้าถึงทุน และต้องจัดสรรอย่างเป็นธรรมด้วย คือรัฐสวัสดิการ ทำอย่างไรให้การกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ออกไปยังจังหวัดอื่น ๆ อย่างเป็นธรรม

และเค้กโตขึ้นอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นเค้กที่อร่อยด้วย นั่นคือสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ที่เคารพหนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียงของประชาชน ไม่ใช่ผูกขาดกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่พยายามสืบทอดอำนาจ

ในเชิงค่านิยม ความเป็นประชาธิปไตยต้องแทรกซึมไปสู่ทุกนโยบาย เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร นโยบายสมรสเท่าเทียม

ผมกับพรรคก้าวไกลมองตรงกัน พออุดมการณ์ตรงกันแบบนี้ ภาพประเทศไทยในฝันตรงกันแบบนี้ ก็ต้องมาร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้กับพี่น้องประชาชนร่วมกัน

ส่วนความฝันทางการเมืองของ “พริษฐ์” บอกว่า ไม่ได้เกี่ยวกับตัวผม แต่ทำอย่างไรให้ประเทศเป็นเค้กอย่างที่ผมพูด ทุกอย่างต้องอาศัยเวลา การเมืองเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เริ่มสะสม เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปสู่สังคมที่เราฝันถึง