รมช.คลัง”วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ”ย้ำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืบหน้าตามกรอบเวลา ตั้งเป้าบังคับใช้ต้นปี’62

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดสัมมนาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จัดโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ว่า กฎหมายใหม่เป็นการยุบรวมกฎหมายเดิม 2 ฉบับคือภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่

ทั้งนี้ ในภาพใหญ่มีเรื่องการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยไทยยังมีข้อจำกัดหลายประเด็นแม้รัฐบาล คสช.เข้ามาดูแลแก้ไขเพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความสะดวกมากขึ้น ทั้งด้านกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา นวัตกรรม ซึ่งเป็นภาระต่องบประมาณในอนาคต โดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอนาคต

สำหรับผลดำเนินการกฎหมายใหม่ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติเบื้องต้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 จากนั้นได้มีมติคณะรัฐมนตรีรับหลักการอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ขั้นตอนอยู่ระหว่างคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นหลายรอบ โดยมี ดร.พรชัย ฐีระเวช จากกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีการจัดรับฟังความคิดเห็น 5 ครั้งทั่วประเทศในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

หลักการของกฎหมายมีเรื่องความสามารถในการชำระภาษีและความเต็มใจของผู้ชำระภาษี นำไปสู่การปรับปรุงระหว่างทางเป็นลำดับ อาทิ การปรับลดเพดานภาษี, การกำหนดช่วง 2 ปีแรกต้องใช้ภาระภาษีที่กำหนดให้เพื่อนำข้อมูลมาประเมินอีกครั้ง, การยกเว้นภาษีในส่วนของที่อยู่อาศัย โดยยกเว้นสำหรับบ้านหลังหลักราคาไม่เกินหลังละ 20 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 0.5% ของที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ในขณะที่บ้านหลังที่สองขึ้นไปเริ่มต้นเสียภาษี 0.02% หรือล้านละ 200 บาท จึงเป็นอัตราที่ผู้ถือครองทรัพย์สินมีความสามารถในการจ่ายได้

ที่ดินเกษตรกรรมยกเว้นให้ทรัพย์มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ประเภทบุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นภาษี, ในขณะที่นิติบุคคลมีภาระจ่ายภาษีตั้งแต่บาทแรก

“รายได้หลักมาจากภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเก่า สัดส่วน 90% มาจากภาคพาณิชยกรรมกับที่ดินเปล่า”

ในขณะที่เรื่องการบรรเทาภาระภาษี อาทิ โรงเรียนเอกชน
เดิมรัฐบาลมีมาตรการดูแลบรรเทาภาษีให้อยู่แล้ว เรื่องนี้ก็จะดูแลให้เช่นกัน

ทั้งนี้ อัตราจัดเก็บตามกฎหมายใหม่ หากรายได้จัดเก็บรัฐน้อยกว่าเดิมเทียบกับภาษีโรงเรือนฯ หลักการคือยกประโยชน์ให้เจ้าของทรัพย์สิน ในขณะที่ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีมากกว่าเดิม รัฐมีมาตรการดูแลเป็นช่วงเวลา เช่น เป้าบังคับใช้ในปี 2562 หากเดิมเคยจ่ายปีละ 1,000 บาท กฎหมายใหม่จัดเก็บ 1,400 บาท จะใช้วิธีทยอยเก็บเป็นขั้นบันได้ เริ่มจากปีละ 1,200-1,300-1,400 บาท เพื่อให้ผู้จ่ายภาษีมีเวลาปรับตัว

ในด้านการจัดเก็บ หน่วยงานหลักคือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (ปถ.) เป็นผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ กรณีมการค้างภาษี ยึดอายัดทรัพย์สิน ต้องมีกำหนดเวลาชัดเจนว่าหากมีการชำระแล้วต้องถอนอายัดภายใน 15 วัน, ขั้นตอนการอุทธรณ์ภาษี, การลดโทษทางแพ่ง ให้ทำเท่าที่จำเป็น ซึ่งมีกฎหมายอาญา ไม่ว่าจะเป็นการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ การแจ้งความเท็จ ที่เหลือเป็นการกำหนดโทษทางแพ่งเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้น จุดเด่น กม.ภาษีที่ดินฯ จึงเป็นความง่าย ลดการใช้ดุลพินิจ บัญชีประเมินทุนทรัพย์โดยกรมธนารักษ์จัดส่งราคาประเมินที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างให้หน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้มีความง่ายและลดการใช้ดุลพินิจ ส่วนทรัพย์พิเศษ เช่น เขื่อน โรงไฟฟ้า จะมีคณะกรรมการประเมินพิเศษเพื่อดูแลผู้ถือครองทรัพย์

“รัฐบาลไม่ต้องการสร้างภาระจนเกินควร ภาษีที่ดินฯ ไม่ใช่ภาษีใหม่ แต่เป็นการยกเลิกกฎหมายเก่าสองฉบับ จุดเน้นรัฐบาลดูแลภาคเกษตรกรรมซึ่งโดยรวมดูตัวเลขแล้วจ่ายภาษีน้อยกว่าเดิมด้วยซ้ำไป กรณีที่ดินสีลมราคาประเมินตารางวาละ 8 แสน-1 ล้านจ่ายภาษีไม่ไหว จากการเข้าไปดูข้อเท็จจริงมีการแยกคำนวณภาษีจากการใช้ประโยชน์จริง เช่น ตึกแถวย่านสีลม ของเดิมคิดภาษีประเภทพาณิชยกรรม ของใหม่แยกชั้นบนเป็นที่อยุ่อาศัย ราคาไม่เกิน 20 ล้านบาทได้รับยกเว้นภาษี ชั้นล่างทำการค้าเสียภาษีพาณิชยกรรมเท่าที่มีการใช้พื้นที่จริง เป็นต้น รัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายภาษีที่ดินฯ จะมีความถูกต้อง โปร่งใส ชัดเจน และเป็นธรรม” รมช.คลังกล่าว