“คมนาคมไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์” แผน-งบฯไม่คืบเพราะตรวจการบ้านเข้ม

สัมภาษณ์

หลัง “รัฐบาลทหาร” ประกาศอัดเม็ดเงินกว่า 2 ล้านล้านบาทยกเครื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” ให้ทัดเทียมนานาชาติ มี “คมนาคม” เป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนโครงการ แต่ดูเหมือนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา งานใหญ่ที่บรรจุไว้ในแผนเร่งด่วนจะยังไม่ราบรื่นมากนัก

 

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แจกแจงว่า ทางนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณของกระทรวงคมนาคมอย่างมาก เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยโครงการที่มีขนาดเล็กในปีงบประมาณ 2561 ได้เบิกจ่ายเสร็จทั้งหมดไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ทางกระทรวงคมนาคมกำลังจะเร่งสปีดให้เปิดประมูลและได้รับอนุมัติโครงการภายในไตรมาสที่ 3-4 ของปีงบประมาณนี้ให้ได้

“ช่วง 2 ไตรมาสของปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา การเบิกจ่ายสำหรับการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ยังคืบหน้าน้อยมากอยู่ที่ 36% ยังต่ำจากเป้าที่รัฐตั้งไว้ 43% แต่เมื่อถึงสิ้นปียอดเบิกจ่ายจะเป็นไปตามเป้า โดย 3 ปีที่ผ่านมาคมนาคมมียอดเบิกจ่ายเกินกว่า 90% มาตลอด ส่วนใหญ่จะไปเร่งการเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4”

“อาคม” ขยายความถึงสาเหตุความล่าช้ามาจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือ 1.บรรดาเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภัณฑ์ 2560 ที่มีขั้นตอนที่ต้องทำตามอีกมาก แต่ถือว่าไม่น่าห่วง เพราะถ้าผ่านได้ก็สามารถเดินหน้าโครงการต่าง ๆ ได้ทันที

และ 2.โครงการส่วนใหญ่ยังต้องรอการประกวดราคาให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะเบิกจ่ายงบประมาณได้ ก็น่าจะทันช่วงปลายปีงบประมาณพอดี แต่หากมีโครงการใดที่สามารถทำได้ก่อนก็ให้ทำได้ทันที เช่น โครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางที่เซ็นสัญญาไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 จำนวน 9 สัญญา วงเงิน 65,500 ล้านบาท ประกอบด้วย ทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, มาบกะเบา-จิระ,ลพบุรี-ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน และหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ขณะนี้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ครบแล้ว จะเริ่มงานก่อสร้างและเบิกจ่ายได้ทันที ซึ่งจะผูกพันไปถึงปี 2563

“โครงการต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม ต้องมองยาว ๆ นิดหนึ่ง จะมองแค่ช่วงใดช่วงหนึ่งไม่ได้ เพราะขั้นตอนของการขออนุมัติโครงการมีขั้นตอนอยู่ แม้จะอนุมัติได้ แต่ถ้ารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอไม่ผ่านก็เซ็นสัญญากันไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเผื่อเวลา จะอนุมัติวันนี้แล้วได้ทันทีเลยมันไม่ใช่”

ส่วนโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในบางโครงการที่ไม่สามารถเริ่มต้นได้ในปีนี้ จะต้องขยับไปเป็นปีหน้าแทน แต่ขอยืนยันว่าทุกโครงการจะต้องได้รับการเดินหน้าภายใต้กรอบเวลา 8 ปี ตามยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558-2565 และจะมีเม็ดเงินลงทุนของกระทรวงคมนาคมออกมาทุกปี

“ขอยืนยันว่าทุกโครงการจะเกิดขึ้นแน่นอนใน 8 ปี แต่ไม่อยากให้กำหนดกรอบเวลาตายตัว ว่าโครงการไหนจะประมูลได้เมื่อไหร่ หากผมพูดออกไป แล้วทำไม่ได้ ก็จะหาว่าผมพูดผลัดเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ”

“อาคม” ไล่เรียงไทม์ไลน์งานโครงการต่าง ๆ ว่า เตรียมจะนำ 3 โครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากคณะกรรมการสภาพัฒน์อนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้วในเดือน พ.ค.นี้ ประกอบด้วย โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.10 กม. เงินลงทุน 76,978 ล้านบาท โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20 กม. เงินลงทุน 19,042.13 ล้านบาท และสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ระยะทาง 10 กม. วงเงิน 7,596 ล้านบาท ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก จะเสนอให้คณะอนุบอร์ดสภาพัฒน์ฯในเดือน เม.ย.นี้

ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง เงินลงทุนรวม 261,045 ล้านบาท ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ส่งข้อมูลต่าง ๆ ให้หมดแล้ว กำลังรอเสนอบอร์ดสภาพัฒน์ ขณะที่โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท ยังติดขั้นตอนการทำรายงานอีไอเอ ในส่วนที่เป็นสถานีใต้ดินของโครงการ 10 สถานี ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. เงินลงทุน 95,276 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ด้านรูปแบบ PPP เพื่อเสนอให้คณะกรรมการ PPP อนุมัติต่อไป

“เราไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ที่มาถึงก็ส่งต่อ เพราะกระทรวงต้องดูว่าโครงการที่เสนอมามีข้อมูลครบถ้วนหรือไม่ ถ้าครบก็ผ่าน แต่ถ้ามีประเด็น ก็ต้องอธิบายเพิ่มเติม แต่จะให้บุรุษไปรษณีย์ส่งไปก่อน ก็จะถูกตีกลับมาอยู่ดี แถมจะมีคำถามเพิ่มอีกเป็นร้อยคำถามให้ตามไปตอบอีก เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการกลั่นกรองก่อน”

นายอาคมยังกล่าวอีกว่า จากปัญหาต่าง ๆ จะนำไปปรับแก้สำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วนปี 2562 โดยเฉพาะเรื่องกรอบเวลา ที่ถึงแม้จะเผื่อเวลาเอาไว้ แต่ก็ไม่สามารถไปควบคุมขั้นตอนอะไรได้ เช่น ขั้นตอนการอนุมัติ สมมุติว่ากำหนดให้เสร็จใน 3 เดือน แต่การตอบข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเตรียมให้ครบก่อน จึงจะเดินหน้าต่อไปได้

ต่อไปนี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือพร้อมกันเลยว่า ต้องการข้อมูลในส่วนใด และต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง เพราะหลายเรื่องไม่ได้อยู่ที่กระทรวงที่เดียว กระทรวงเองก็ต้องไปตามเรื่องกับหน่วยอื่น ๆ ด้วย ส่วนโครงการที่ทำไม่ทันในปี 2561 ก็จะขยับไปใส่ไว้ในแผนเร่งด่วนปี 2562