ไม่คืบ-ไม่รับ! ถกไฮสปีด ซี.พี.วงเล็กด้านสัญญา-กฎหมายไร้ข้อสรุปลุยต่อ 12 ก.พ.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะทำงานด้านกฎหมายและร่างสัญญา ที่มีตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อทำหน้าที่แทนคณะกรรมการคัดเลือกในโครงการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ได้มีการเริ่มประชุมภายในกันก่อนในเวลา 09.00 น.

จากนั้นในเวลา 10.00 น. คณะทำงานฯ ได้เชิญตัวแทนจากกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม ซี.พี.ในฐานะผู้เสนอให้รัฐอุดหนุนต่ำสุดที่สุด 117,227 ล้านบาท มาเจรจาต่อ โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ตัวแทนจากกลุ่ม ซี.พี. จึงได้เดินออกจากห้องประชุม โดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆกับสื่อมวลชน กล่าวเพียงว่า การพูดคุยทุกอย่างเรียบร้อยดี

ด้านประธานคณะทำงานฯ เปิดเผยว่า การเจรจาในครั้งนี้ พูดคุยกันในส่วนของร่างสัญญา ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับข้อกฎหมายและประเด็นในกรอบข้อที่ 2 คือข้อเสนอที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ ร.ฟ.ท. ในส่วนที่มีความยากปานกลางก่อน เบื้องต้นยังไม่ได้บรรลุข้อตกลงด้านใดเป็นพิเศษ ยังต้องเจรจากันต่อไป โดยคณะอนุกรรมการฯจะนัดหมายกลุ่ม ซี.พี.มาเจรจาอีกครั้งในวันที่ 12 ก.พ.นี้ เวลา 13.30 น. ส่วนรายละเอียดและประเด็นที่มีการพูดคุยกัน ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะมีผลกับการเจรจา

“การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่การประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก เป็นการคุยกลุ่มย่อยตามที่คณะกรรมการคัดเลือกเห็นชอบให้ตั้งขึ้นไปเมื่อรอบที่แล้ว โดยประเด็นการเจรจาอยู่ในส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมจำนวน 200 หน้า 108 ประเด็นเช่นเคย ส่วนการรายงานผลการเจรจา ยังไม่มีการรายงานให้คณะกรรมการคัดเลือกในเร็วๆ นี้ ต้องให้พูดคุยกันจนให้ได้ความคืบหน้าในระดับหนึ่งจึงจะมีการรายงานให้คณะกรรมการคัดเลือกทราบต่อไป ยืนยันว่าข้อเสนออะไรก็ตามที่ทำให้รัฐเสียหาย คณะอนุกรรมการฯจะไม่รับไว้แน่นอน”

ขณะที่แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องตั้งคณะอนุกรรมการฯขึ้นมาพูดคุยและเจรจาแทนคณะกรรมการคัดเลือก เนื่องจากข้อเสนอที่กลุ่มซี.พี.เสนอมามีรายละเอียดค่อนข้างมาก การให้คณะกรรมการคัดเลือกฯพิจารณาเพียงคณะเดียว จะทำให้การเจรจาต้องใช้เวลานาน เพราะข้อมูลมีจำนวนมาก การมานั่งเปิดเอกสารทีละหน้าในที่ประชุมจะทำให้การเจรจาเสียเวลา อีกทั้งกรรมการแต่ละท่านก็มีภาระงานประจำวันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ที่ประชุมเห็นว่าควรตั้งคณะอนุกรรมการฯขึ้นมาดำเนินการสรุปข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเจรจาพูดคุยแทนคณะกรรมการชุดใหญ่ในประเด็นเฉพาะทาง แล้วนำผลการเจรจามารายงานต่อคณะกรรมการคัดเลือกต่อไป

โดยในระยะเวลาต่อไป จะมีการพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการฯขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อดูแลด้านเทคนิคด้วย เนื่องจากจำนวนข้อมูลมีรายละเอียดเป็นจำนวนมาก ส่วนกรอบที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำหนดไว้คือ ให้เจรจาจบในเดือน ก.พ.นี้ แล้วลงนามกันในเดือน มี.ค.นั้น คณะทำงานยังยึดกรอบเดิมไปก่อน และกำลังเร่งทำให้ทัน แต่หากไม่ทันก็จะมีการรายงานให้บอร์ดอีอีซีรับทราบต่อไป