“บอร์ดไฮสปีด”เคลียร์ชัด พร้อมส่งมอบพื้นที่50% ชง”บิ๊กตู่”เคาะเซ็นซี.พี.15ต.ค.นี้

วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
“บอร์ดไฮสปีด”เคลียร์ชัดพื้นที่ พร้อมส่งมอบ50% แก้เอกสารแนบท้ายส่งบอร์ดอีอีซีเห็นชอบ 30 ก.ย. ก่อนเทียบเชิญกลุ่มซี.พี.ลงนาม 15 ต.ค.นี้ รถไฟทุบเองซากโฮปเวลล์ 

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ใช้เวลาหารือกันกว่า 6 ชั่วโมง เพราะใช้เวลาพิจารณาร่างเอกสารแนบท้ายสัญญาและร่างจดหมายที่ต้องเชิญกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เอกชนที่ได้รับการคัดเลือก

พร้อมส่งมอบพื้นที่50%

แต่เนื่องจากประเด็นการส่งมอบพื้นที่ ทั้งฝ่ายกรรมการและกลุ่ม CPH ยังเห็นไม่ตรงกันในหลายส่วนและไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว แผนส่งมอบพื้นที่ขณะนี้มีความสมบูรณ์ 50% เป็นไปตามประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) ได้กำหนดว่า ร.ฟ.ท.จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้ได้ก่อน 50% โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นสาระสำคัญคือ ช่วงพญาไท – ดอนเมือง และช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งมอบพื้นที่ได้ 100% ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกได้ยึดการทำงานกรอบที่ RFP กำหนดไว้ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรรวงคมนาคมมีข้อสั่งการ

ดังนั้น ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ จะให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมรายละเอียดการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด ปรับแก้เอกสารแนบท้ายสัญญาที่ลงลึกเรื่องของรายละเอียดมากไป สิ่งใดที่คุยหลังลงนามได้ก็จะตัดออก และจะสรุปผลการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาในวันที่ 30 ก.ย.นี้ หาก กพอ. เห็นชอบตามที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอไป ก็จะทำหนังสือถึงกลุ่ม CPH เพื่อนัดลงนามในสัญญาวันที่ 15 ต.ค.นี้ตามนโยบายของรัฐบาล

“ยอมรับว่าการพูดคุยเจรจากันมีความล่าช้า และใช้เวลามาพอสมควรแล้ว บางเรื่องเอาไปคุยหลังลงนามได้ แต่ก็เอามารวบคุยก่อนเซ็นทั้งหมด ทำให้เกิดความล่าช้าขึ้น แต่ต้องเซ็นวันที่ 15 ต.ค.นี้ให้ได้”

นายวรวุฒิ ขยายความว่า การส่งมอบพื้นที่ที่ถกเถียงกันมี 2 ส่วนสำคัญคือ พื้นที่บนดิน เช่น สิ่งปลูกสร้าง ผู้บุกรุก ซึ่งร.ฟ.ท.มีหน้าที่ในการจัดการกับผู้บุกรุก ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่เหลือ เช่น บ้านของผู้บุกรุก เอกชนจะต้องเป็นผู้รื้อถอน เป็นต้น

และส่วนของพื้นที่ใต้ดิน ซึ่งเกี่ยวพันกับระบบสาธารณูปโภค ใน RFP ให้ทั้งร.ฟ.ท.และเอกชนต้องช่วยกันประสานงานกับเจ้าของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ โดยร.ฟ.ท.จะเป็นผู้แจ้งกับเจ้าของว่า จะต้องใช้พื้นที่ตรงไหน และต้องย้ายอะไรออก ก็ต้องดูแบบก่อสร้างของเอกชนก่อนว่าแนวเส้นทางกระทบมากแค่ไหน จะแค่เฉียดๆบางส่วน หรือทับไปเลย ก็ต้องอาแบบก่อสร้างมาดูกัน โดยเจ้าของระบบสาธารณูปโภคจะต้องเป็นผู้รื้อย้ายและออกงบประมาณในการดำเนินการเอง

รถไฟรื้อโฮปเวลล์เอง

ขณะที่กรณีโฮปเวลล์ โครงสร้างทั้งหมด ร.ฟ.ท.เป็นเจ้าของและยังติดพันเกี่ยวกับการดำเนินคดีกันอยู่ จึงเป็นหน้าที่ของร.ฟ.ท.ที่จะต้องดำเนินการเอง มีค่าใช้จ่ายกำหนดไว้อยู่ จะใช่ 200 ล้านบาทหรือไม่ ต้องไปสืบค้นดูก่อนว่า มีระบุไว้จุดใดใน RFP ถ้ารวมไว้ในกรอบวงเงินที่รัฐอุดหนุน 119,425 ล้านบาท แล้วเอกชนบอกว่าไม่มีการระบุถึงโฮปเวลล์มาก่อนใน RFP ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้รื้อถอนให้ แต่ถ้าเอกชนทำไปก่อนก็ค่อยมาเบิกคืนกับรัฐได้ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่สาระสำคญที่ต้องคุยกันแล้ว

ส่วนการเวนคืนยังไม่มีอะไรหนักใจ เพราะพ.ร.ฎ.เวนคืนก็ผ่านการพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.)แล้ว ขั้นตอนกำลังอยู่ระหว่างการประเมินค่าเวนคืนในที่ดินจุดต่างๆโดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัดช่วยประเมิน ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกไม่มีการคุยกันถึงเรื่องที่กลุ่ม CPH ยังไม่ได้รับการปล่อยกู้จากแหล่งเงินทุนหรือการขอความช่วยเหลืออื่นๆแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่า การส่งมอบหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) สามารถส่งมอบหนังสือได้หลังลงนาม 1 ปี โดยมีโครงการที่เคยทำในลักษณะนี้แล้วคือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี) และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง ) ที่ใช้เวลาส่งหสังสือ NTP หลังลงนาม 1 ปี เพราะติดเรื่องการเข้าพื้นที่ของกรมทางหลวง (ทล.)