รถไฟเข็นไฮสปีดอีสาน ตอกเข็มครึ่งทาง-สายสีแดงทดลองวิ่ง มิ.ย. 64

รถไฟเข็นไฮสปีดอีสาน ตอกเข็มครึ่งทาง-ทดลองใช้สายสีแดง มิ.ย. 64
ยังไม่แน่ไม่นอน - แผนการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิตถึงขณะนี้ยังไม่มีกำหนดแน่ชัดจะเปิดบริการทันในปี 2564 หรือไม่ การรถไฟนรอผลสรุปรูปแบบ PPP ที่คมนาคมมีนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนสายสีแดงทั้งโครงการ

7 รับเหมาเฮ! ร.ฟ.ท. ปลดล็อกเซ็นสัญญาลอตแรก 5.9 หมื่นล้าน ตอกเข็มรถไฟไทย-จีน ช่วงภาชี-โคราช เข็นสายสีแดงเปิดทดลองบริการกลางปี 2564 รื้อมิกซ์ยูสสถานีกลางบางซื่อ รอเคาะดึงเอกชน PPP เดินรถตลอดสาย

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 3 ก.ค.คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) อนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ทำเพิ่มเติมของรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ช่วงชุมทางบ้านภาชี-นครราชสีมา ระยะทาง 152 กม.แล้ว รอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมอนุมัติ คาดว่าไม่มีปัญหา เพราะผ่านชุด คชก. แล้ว ส่วนช่วงกรุงเทพฯ-ชุมทางบ้านภาชี ติดแบบก่อสร้างสถานีอยุธยา

“ประมูลได้ผู้รับเหมาครบแล้วทั้ง 14 สัญญา เหลือช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองรอสรุปแบบร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาได้รอ EIA ได้รับอนุมัติก่อน เมื่อช่วงภาชี-นครราชสีมาผ่านแล้ว จะเซ็นสัญญาเริ่มงานก่อสร้างในปีนี้ เพราะโครงการล่าช้ามานานแล้ว”

รายละเอียดสัญญาผ่าน EIA มี 7 สัญญา มูลค่ารวม 58,947 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงพระแก้ว-สระบุรี 31.60 กม. ของ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น วงเงิน 9,429 ล้านบาท, ช่วงสระบุรี-แก่งคอย 12.99 กม. ของ บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง วงเงิน 8,560 ล้านบาท, งานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ของ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ 4,279.328 ล้านบาท

รถไฟเข็นไฮสปีดอีสาน ตอกเข็มครึ่งทาง-ทดลองใช้สายสีแดง มิ.ย. 64

ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า 30.21 กม. ของ บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่ง วงเงิน 9,330 ล้านบาท, ช่วงบันไดม้า-โคกกรวด 26.1 กม. รวมสถานีปากช่องของ บจ.กรุงธน เอ็นจิเนียริ่ง วงเงิน 9,838 ล้านบาท, ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด 37.45 กม. ของ บจ.บีพีเอ็นพี (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) 9,788 ล้านบาท และช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา 13.69 กม. รวมสถานีนครราชสีมา ของกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK วงเงิน 7,750 ล้านบาท

ทดลองวิ่งสายสีแดง มิ.ย. 2564

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับการเปิดเดินรถโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเสนอให้เปิดทดลองบริการเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564 ระหว่างรอความชัดเจนรูปแบบการเดินรถที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายเปิดให้เอกชนร่วม PPP ทั้งโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายที่เหลือและเดินรถตลอดสาย อาจจะใช้เวลาคัดเลือกเอกชน 1-2 ปี โดยให้ บจ. รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. บริษัทลูกของ ร.ฟ.ท.ผู้รับจ้างเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ เป็นผู้เดินรถไปก่อน ซึ่งรับสมัครพนักงานแล้วกว่า 200 คน เมื่อได้เอกชนแล้ว ถึงโอนการเดินรถให้เอกชนรายใหม่ต่อไป

“ปัญหาของสายสีแดงต้องแยกระหว่างเดินรถและก่อสร้างที่ผู้รับเหมาขอขยายเวลาออกไป เพราะการเดินรถไม่จำเป็นต้องให้เดโป้เสร็จก็ได้ เพราะโครงสร้างทางวิ่งเสร็จแล้ว ซึ่งปลายปีนี้อาจจะได้เริ่มทดสอบเสมือนจริงได้”

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้จะเซ็นสัญญารถไฟไทย-จีน ช่วงชุมทางบ้านภาชี-นครราชสีมา ได้เลยหรือไม่ หลัง EIA ได้รับการอนุมัติแล้ว เนื่องจากอาจจะต้องรอให้พร้อมทั้งโครงการก่อน สำหรับช่วงกรุงเทพฯ-ชุมทางบ้านภาชีที่ติดปัญหาสถานีอยุธยา ขณะนี้ทำความเข้าใจกับกรมศิลปากรแล้ว จะสร้างคร่อมสถานีเดิม และจะอนุรักษ์สถานีเดิมไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ หากจะต้องย้ายตำแหน่งไปอยู่บนพื้นที่ใหม่จะต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มเพื่อตัดถนนเชื่อมกับสถานีและต้องทำ EIA เพิ่มจะยิ่งทำให้โครงการล่าช้า

สำหรับการเปิดเดินรถสายสีแดง รอสรุปผลการศึกษา PPP จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน กับให้บริษัทลูก ร.ฟ.ท.เดินรถรูปแบบไหนดีกว่ากัน จะสรุปใน 2-3 เดือนนี้ ยังตอบไม่ได้จะเปิดเดินรถได้กลางปี 2564 ตามที่ ร.ฟ.ท.ตั้งเป้าได้หรือไม่ ต้องดูความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เช่น การบริหารพื้นที่ภายในสถานีกลางบางซื่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร อยู่ระหว่างการพิจารณา จะนำไปรวมกับสถานีรายทางของสายสีแดงที่จะเปิด PPP ทั้งโครงการหรือไม่

ยังให้ ร.ฟ.ท.ทบทวนแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีกลางบางซื่อใหม่ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันที่จะมีการเปิดโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ เช่น ที่ดินโซน A เนื้อที่ 32 ไร่ ที่ ร.ฟ.ท.จะพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส และเปิดประมูลไปแล้วไม่มีเอกชนสนใจ สาเหตุเกิดจากอะไร ต้องวิเคราะห์ตลาดกันใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้มากที่สุด