รีวิวสถานะ “ไฮสปีดไทย-จีน” เซ็นงานก่อสร้างเพิ่ม 4 สัญญา 29 มี.ค.นี้

รีวิวสถานะงานก่อสร้าง 14 สัญญา รถไฟไทย-จีน ”กมม.-โคราช” เสร็จแล้วช่วงกลางดง-ปางอโศก กำลังตอกเข็ม 6 สัญญา ดีเดย์ 29 มี.ค.เซ็นรับเหมาเพิ่ม 4 สัญญา กว่า 3.6 หมื่นล้าน อีก 3 สัญญาติดหล่มร้องประมูล เคลียร์ที่ตั้งสถานี และแบบทับซ้อนไฮสปีด 3 สนามบิน กระทบไทม์ไลน์เปิดบริการขยับเป็นปี’69

เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมของโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หรือรถไฟไทย-จีน ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท ซึ่งแบ่งการก่อสร้างงานโยธาเป็น  14 สัญญา ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา ช่วงกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. วงเงิน 362.52 ล้านบาท

อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 สัญญา ได้แก่ สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. มี บจ.ซีวิลเอนจีเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท คืบหน้า 52.52% 

สัญญาที่ 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม.ของ บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ วงเงิน  4,279 ล้านบาท จะเริ่มงานวันที่ 19 เม.ย.นี้ 

สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.6 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท มี บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ ก่อสร้าง เริ่มงานวันที่ 19 ก.พ.2564 คืบหน้า 0.05% 

สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง  37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก่อสร้าง เริ่มงาน 26 ม.ค.2564 คืบหน้า 0.1% 

สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน  7,750 ล้านบาท ก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) เริ่มงานวันที่ 26 ส.ค.2564 

สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน  8,560 ล้านบาท มี บจ.ซีวิลเอนจีเนียริงก่อสร้าง เริ่มงานวันที่ 19ก.พ.2564 คืบหน้า 0.96%

ส่วนที่เหลือจะเซ็นสัญญาวันที่ 29 มี.ค.2564 จำนวน 4 สัญญา วงเงิน 36,153 ล้านบาท ได้แก่ สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม.กับกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ประกอบด้วยบจ.ซิโนไฮโดร, บจ.สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร วงเงิน  8,626.8 ล้านบาท 

สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. กับกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ประกอบด้วย บจ.ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น, บมจ.เนาวรัตน์ฯและ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) วงเงิน 11,525.36 ล้านบาท

สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อยของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ วงเงิน 6,573 ล้านบาท และสัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. ของ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 9,429 ล้านบาท 

โดยหลังเซ็นสัญญา ร.ฟ.ท.จะเร่งออกพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ขอใช้พื้นที่กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมธนารักษ์ เพื่อให้รับเหมาเข้าพื้นที่ก่อสร้าง

ทั้งนี้เหลืออีก 3 สัญญาที่รอเซ็นสัญญาและเปิดประมูล ได้แก่ สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง เและปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. มีกลุ่มบีพีเอ็นพีเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด วงเงิน 9,330 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการตามมติคณะกรรมการอุทธรณ์ 

สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท รอสรุปโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 

และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. ของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ วงเงิน  9,913 ล้านบาท รอคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกให้พิจารณาย้ายสถานี 

ทั้งนี้จากการประเมินภาพรวมของโครงการ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)คาดว่าการเปิดบริการจะล่าช้าจากเป้าเดิมในปี 2568 เป็นในปี 2569