ตลาดรับเหมาก่อสร้างอาคารปีละ 1 ล้านล้านบาท ได้เวลาใช้เทคโนโลยี BIM ตัวช่วยลดความสูญเสียในไซต์ก่อสร้าง “SCG CPAC” ประเมินถ้าประเทศไทยใช้ BIM เต็มรูปแบบจะช่วยประหยัดเม็ดเงินจากการสูญเสียถึงปีละ 1.5 แสนล้าน แนะรัฐบาลออกมาตรการจูงใจ-สนับสนุนดึงผู้ประกอบการ-ผู้บริโภคแจ้งเกิด BIM Thailand
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์โควิดเป็นได้ทั้งวิกฤตและโอกาสในการทำธุรกิจ ล่าสุดในมุมของไซต์ก่อสร้างอาคารซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมทั่วประเทศสูงถึง 1 ล้านล้านบาท/ปี พบว่ายังมีจุดรั่วไหลจากการสูญเสียในการทำงานก่อสร้างเฉลี่ย 15% ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถแก้ไขเพื่อให้การสูญเสียในไซต์ก่อสร้างเหลือเพียง 0 หรือ zero waste ได้โดยนำเทคโนโลยี BIM-Building Information Modeling มาใช้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามมากมายเพียงใด แต่การใช้ BIM ในไทยก็ยังจำกัดวงอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะมีต้นทุนในการนำมาใช้ รวมทั้งปัญหาต้องพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับการใช้ BIM ด้วย ในขณะที่มีตัวอย่างประเทศพัฒนาแล้วมีการนำมาใช้อย่างได้ผลไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สิงคโปร์
ตลาดสร้างอาคาร 1 ล้านล้าน/ปี
นายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business และกรรมการบริหาร CPAC ในธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า ประเมินตลาดก่อสร้างมีดีมานด์ทั่วประเทศเฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย 50% อาคารโครงการของรัฐ 30% และอาคารโครงการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม 20%
ในจำนวนนี้มี pain point จากการสูญเสียในไซต์ก่อสร้าง เช่น การออกแบบกับตอนก่อสร้างไม่ตรงกันต้องรื้อแบบ-ซื้อของเพิ่ม การตัดกระเบื้อง การตัดท่อต่าง ๆ ฯลฯ คิดเป็นอัตราสูญเสียสูงถึงปีละ 10-30% เฉลี่ยอยู่ที่ 15% หรือปีละ 1.5 แสนล้านบาทบวกลบ
ดังนั้น ถ้าหากมีเทคโนโลยีและระบบการบริหารจัดการที่ถูกต้อง จะสามารถลดอัตราสูญเสียในไซต์ก่อสร้างจากสาเหตุนานาประการลงได้ หรือเท่ากับช่วยประเทศชาติประหยัดการสูญเสียได้ปีละ 1.5-2 แสนล้านบาทสำหรับองค์กรธุรกิจ รวมทั้งผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของอาคาร การลดอัตราสูญเสียเท่ากับเป็นการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ที่สำคัญยังเป็นการประหยัดเงินในกระเป๋าด้วย
ชู Green Construction
สำหรับแผนธุรกิจของ CPAC ในปี 2564 มีวิสัยทัศน์ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG-environment, social and governance) คำนึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และมีบรรษัทภิบาล
โดย CPAC ผลักดันผ่านกลยุทธ์ green construction มีเป้าหมายยกระดับมาตรฐานงานก่อสร้างของประเทศให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “ในทุกกระบวนการก่อสร้าง” เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
“การก่อสร้างมีสัดส่วนจีดีพี 9% โดยมีเวสต์จากการก่อสร้าง 10-30% ในภาพระดับโลกมีการปลดปล่อยของเสีย การขาดแคลนแรงงาน และผลกระทบโควิด ทำให้กลับมามองกระบวนการทำงานไซต์ก่อสร้าง หมุนรอบประสิทธิภาพ ลด waste เป็น wealth โดยเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการไฮบริดซีเมนต์ลด CO2 ได้ถึง 6 แสนตัน/ปี สามารถสร้างอีโคและยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างในเมืองไทย”
ทั้งนี้ มีการดำเนินงานผ่าน 3 solution ได้แก่ 1.drone solution ใช้โดรนบินในการดีไซน์ โดยซีแพคนำเสนอเป็นภาพเชิงซ้อนหลายมิติ เห็นแม้กระทั่งการไหลของน้ำ เป็นต้น ทำให้สามารถนำมาใช้ออกแบบโครงการขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ โดยซีแพคนำโดรนบินในโครงการขนาดใหญ่ เริ่มตั้งแต่การเริ่มต้นก่อสร้าง greenfield, นำมาใช้สำรวจผืนป่าเพื่อวางแผนบริหารจัดการในภาพรวม, ระหว่างการก่อสร้างสามารถอัพเดตความคืบหน้าการก่อสร้างในภาพรวม
BIM เปลี่ยน Waste เป็น Wealth
2.BIM Solution ใช้ในทุกกระบวนการก่อนออกแบบ เปรียบเทียบกับการทำงานแบบเก่าเมื่อออกแบบแล้วต้องรอเวลาให้โรงงานลงมือก่อสร้างจึงจะทราบผลลัพธ์ว่ามีเผื่อเหลือเผื่อขาดที่ต้องตามมาแก้ไข ในขณะที่ BIM Solution สามารถนำเสนอเป็นภาพร่างทั้งตึกเสมือนเดินเข้าไปในตึกจริง ๆ
นอกจากนี้ นวัตกรรมของซีแพคที่นำมาแอปพลาย คือ AR ภาพซ้อนเสมือนภาพจริง สามารถดีไซน์อุปกรณ์ที่จะติดตั้งในการขยับจุดหรือวางตำแหน่ง โดยเป็นกระบวนการทำงานให้ครบถ้วนตั้งแต่ต้น ได้แก่ การบินสำรวจ ออกแบบโครงสร้าง งานระบบ ผู้ร่วมงานสถาปนิกและผู้รับเหมาสามารถเห็นภาพเดียวกัน ทำให้มีการแก้ไขร่วมกันในขั้นตอน greenery drawing, shop drawing แบบร่างตั้งแต่แรกจนถึงตอนจบมีความแตกต่างน้อยมาก
“บินช่วยลด waste จากการออกแบบได้ถึง 80% อย่างเสา คาน ใช้วิธีลากเส้นในการออกแบบทำให้ระยะจริงเกิดขึ้นทั้งหมด ตอบโจทย์การทำงานของสถาปนิก วิศวกร เพราะใช้ได้จริง ซึ่งดึงเทคโนโลยีจากสวีเดนโดยตั้งบริษัทเจวีคู่กับซีแพค นั่นคือกรีนคอนสตรักชั่นมีการยกระดับเบนช์มาร์กกับบริษัทระดับโลก”
3D Printing ตอบโจทย์ทันสมัย
3.3D BIM Printing พัฒนาจากซีเมนต์พาวเดอร์ใช้เวลาพัฒนา 6-7 ปี ปัจจุบันมีการส่งออกไปต่างประเทศด้วย CPAC กล้าประกาศตัวว่าเทคโนโลยีและโนว์ฮาวด้านนี้มีความสามารถระดับโลก ทำให้ลดการสูญเสียไม่เกิน 10% หรือแทบจะไม่มีการสูญเสีย เทียบกับอัตราสูญเสียปกติ 20-30%
“ตัวอย่างที่ผ่านมามีการพรินต์โปรเจ็กต์ปะการัง ทำให้มีพื้นที่วางเพิ่ม 3-5 เท่าในหลายเกาะ ในขณะที่ไซต์ก่อสร้างสามารถสเกลอัพได้หลากหลาย พรินต์งานที่ซับซ้อน ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า”
ทั้งนี้ กรีนคอนสตรักชั่น ต้นทางคือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ล่าสุดต้นปี 2564 ซีแพคนำ “ไฮบริดซีเมนต์” มาทดแทนพอร์ตแลนด์ซีเมนต์ ตั้งเป้าทดแทน 100% เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ สามารถนำไปผสมคอนกรีตรักษ์โลกอีกหลายตัว
“โมดูลยังมีอีกจำนวนมากเพราะรูปแบบการทำงานไม่เหมือนเดิม โดยพื้นฐานมาจากการวางแพลตฟอร์มโดรนและดิจิทัลเข้ามาปรับใช้”
ตัวช่วยท้องถิ่นย่อยยันบิ๊กโปรเจ็กต์
นายชนะกล่าวต่อว่า วัฒนธรรมการทำงานของ CPAC มองไปที่ชุมชนรอบตัว 3 ส่วนประกอบหลัก คือ เทคโนโลยี คู่ค้า ผู้รับเหมา ดีเวลอปเปอร์ งานภาครัฐ และคุณภาพช่างฝีมือ
“ตลาดการก่อสร้างมูลค่าปีละ 1 ล้านล้านบาท มีเวสต์ตกปีละ 2 แสนล้าน นั่นคือมี effective 8 แสนล้านบาท ถ้าลดการสูญเสียได้จะเพิ่มเวลท์ให้กับเศรษฐกิจภาพรวม โดยเอสซีจีอยากผลักดันให้ green construction เป็นภาคบังคับในการก่อสร้างโครงการทุกระดับ”
ในด้านคุณภาพช่างฝีมือพบว่า ยังมีช่องว่างที่จะยกระดับฝีมือช่างไทยให้เทียบเท่ากับองค์กรระดับสากล ตัวอย่าง “กลุ่มโอบายาชิ” ซึ่งใช้ระบบ BIM ทำงาน สิ่งที่ต้องคำนึงคือทำยังไงให้องค์ความรู้ถ่ายทอดมาสู่ช่างท้องถิ่น
ยกตัวอย่าง ช่างไทยก่อสร้างบ้าน 1 หลัง เฉลี่ย 6-8 เดือน ถ้าใช้ระบบการทำงานเข้ามาช่วยลดเวลาก่อสร้าง 4-5 เดือน ทำให้หมุนรอบการสร้างบ้านได้จำนวนหลังมากขึ้น รายได้ก็ดีขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะช่างรับเหมารายย่อยในท้องถิ่นสามารถทำงานเท่าเดิมแต่ใช้เวลาสั้นลง ตอบโจทย์ปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้างได้เป็นอย่างดี โดย CPAC อยู่ระหว่างโครงการความร่วมมือกับช่างท้องถิ่นทั่วประเทศไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
จุดเน้นย้ำประโยชน์ของ BIM อยู่ที่การลดสูญเสีย waste management ประสบการณ์หลังจากใช้ BIM มีความชัดเจนว่าลดการสูญเสียในไซต์ก่อสร้าง รวมทั้งเป็นตัวช่วยลดปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ให้กับสังคมในภาพรวมโดยปริยาย
“โครงการขนาดใหญ่ไม่ใช่แค่อินฟราสตรักเจอร์สร้างใหม่ แต่มีโครงสร้างเก่าอายุนาน ๆ ที่ต้องการให้บำรุงรักษา CPAC จึงมีการร่วมทุน JV กลุ่มโชบอน ประเทศญี่ปุ่นในการดูแลอาคาร โครงสร้าง สะพาน ทางด่วน รถไฟความเร็วสูง โดยซีแพคเริ่มนำเสนอโซลูชั่นกับรัฐวิสาหกิจ อาทิ การประปานครหลวง ที่มีอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่เป็นเจ้าของโครงการรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ”
แนะรัฐให้สิทธิประโยชน์จูงใจ
ในด้านข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อยกระดับและส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำ BIM มาใช้เต็มรูปแบบในเมืองไทย หรือที่เรียกว่า BIM Thailand นั้น นายชนะกล่าวว่า ปัจจุบันไทยใช้ BIM ไม่ถึง 10% ยังจำกัดการใช้อยู่ในกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ หน่วยงานด้านกำกับควบคุมการก่อสร้างมีการพิจารณาจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาใช้ BIM มากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลาเนื่องจากภาคการก่อสร้างเกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎระเบียบและข้อบัญญัติที่ซับซ้อนจำนวนมาก
ทั้งนี้ เป้าหมายสร้าง BIM Thailand ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยถ้ารัฐมีการกำหนดในระดับนโยบายกว้าง ๆ เช่น ภายใน 5 ปีจะมี BIM เข้ามาใช้กี่เปอร์เซ็นต์ โครงการระดับใดที่ต้องใช้ ฯลฯ โดยขั้นตอนง่ายที่สุด คือ การพิจารณาอนุญาต daily operation สามารถทำได้ทันทีโดยคำขออนุญาตรายใดที่ใช้ BIM ในการทำงานให้เร่งรัดการพิจารณาอนุมัติได้เร็ว เป็นต้น
โดยสรุป สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนแจ้งเกิดคอนเซ็ปต์ BIM Thailand มีเป้าหมายใหญ่ คือ ทิศทางนโยบายรัฐต้องดึงเอกชนไปสู่แพลตฟอร์มไซต์ก่อสร้างที่เป็น green construction
ควบคู่กับรัฐจัดให้มีสิทธิประโยชน์ (incentive) สร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมเยอะ ๆ เช่น มีวันสต็อปเซอร์วิสหรือจุดบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวในการขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เพราะบางประเภท เช่น ที่อยู่อาศัยต้องขออนุญาต 20 หน่วยงาน
นอกจากนี้ การก่อสร้างอาคารใดที่ใช้เทคโนโลยี BIM พร้อม ๆ กับมีการลงทุนพัฒนาฝีมือแรงงานรัฐสามารถเพิ่มสิทธิประโยชน์นำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เป็นต้น
BIM Roadmap ต้นแบบสิงคโปร์
ประเทศไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการนำ “BIM-Building Information Modeling” มาใช้
ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมจากรัฐบาล เพื่อให้มีการนำ BIM มาใช้อย่างกว้างขวางแพร่หลายต่อไป
“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจมาตรการ BIM ของรัฐบาลสิงคโปร์ในฐานะประเทศต้นแบบ และในฐานะที่ BIM เป็นหนึ่งในแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้าไปประเทศเกาะเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกับประเทศไทย
โดยสิงคโปร์มีหน่วยงานที่ชื่อว่า “BCA-Building and Construction Authority” ได้ออกข้อบังคับใช้ BIM Roadmap ในปี 2553 โดยมีเป้าหมายให้ 80% ของงานก่อสร้างในสิงคโปร์ใช้ BIM ภายในปี 2558 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความตั้งใจของรัฐบาลที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในวงการก่อสร้างอีก 25% ภายใน 10 ปี
BCA มีนโยบายสำคัญ คือ ร่วมมือกับ GPE (Government Procurement Entities) เพื่อสร้างข้อกำหนดในการใช้ BIM สำหรับงานโครงการตั้งแต่ปี 2555
ภารกิจนอกจากเป็นผู้คุมกฎแล้ว BCA รับบทบาทเป็นผู้เผยแพร่ The Singapore BIM Guide และ The BIM Particular Conditions ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการระบุข้อกำหนด (requirement) เกี่ยวกับการใช้ BIM ให้ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
และยังมี BIM Essential Guide For BIM Execution Plan ข้อบังคับสำหรับงานก่อสร้างใหม่ที่มีขนาดมากกว่า 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องส่งแบบประกอบคำขอใบอนุญาตด้วย BIM (BIM e-Submission) โดยบริษัทออกแบบต้องเตรียมแบบก่อสร้าง 3 ระบบงานหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
1.งานสถาปัตย์ ต้องส่งแบบด้วย Revit, Archicad หรือ AECOsim
2.งานโครงสร้าง ต้องส่งแบบด้วย Revit, AECOsim หรือ Tekla
3.งานระบบ ต้องส่งแบบด้วย Revit หรือ AECOsim
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดตั้งกองทุน BIM สิงคโปร์ (Singapore BIM Fund) ในปี 2555 เพื่อช่วยให้บริษัทออกแบบเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ BIM โดยช่วยสนับสนุนต้นทุนในการฝึกอบรม ที่ปรึกษา ค่าซอฟต์แวร์ และค่าฮาร์ดแวร์
เท่าที่ทราบ ผลตอบรับทางผู้รับเหมาก่อสร้างจากญี่ปุ่นสามารถได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้ และเป็นที่ประทับใจมากที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์