“ศักดิ์สยาม” เช็กอัพไฮสปีดไทยจีน สั่งเร่งผ่าทางตัน “ทับซ้อนบางซื่อ-ดอนเมือง”

“ศักดิ์สยาม” ตรวจงาน “ไฮสปีดไทย-จีน” เช็กอัพ 14 สัญญาก่อสร้างพบเสร็จแล้ว 1/ก่อสร้าง 6/เตรียมสร้าง 3/ประกวดราคา 4 ก่อนเร่งทุกหน่วยงานผ่าทางตันปมโครงสร้าง “บางซื่อ-ดอนเมือง” ทับซ้อนไฮสปีด 3 สนามบิน และ “สถานีอยุธยา” ปมมรดกโลก

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 2/2564  ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยโปรแกรม “Zoom” การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน 

เช็กสถานะเฟส 1: เสร็จ 1/สร้าง 6/เตรียม 3/ประกวดราคา 4

โดยระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท มีสัญญางานโยธาจำนวน 14 สัญญา มีความก้าวหน้า ดังนี้ 

ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 สัญญา เตรียมการก่อสร้าง 3 สัญญา อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา 4 สัญญา โดยในระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม.ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษา และออกแบบรายละเอียด เพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ต่อไป 

และกระทรวงคมนาคมได้เตรียมจัดประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 29 เพื่อหารือร่วมกับฝ่ายจีนในการดำเนินงานในระยะต่อไป พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ คณะอนุกรรมการพัฒนาการเชื่อมต่อและการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ และคณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นระบบสนับสนุนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อขับเคลื่อนดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ผ่าทางตัน “บางซื่อ-ดอนเมือง” – “สถานีอยุธยา”

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีข้อสั่งการ ดังนี้

1.ให้กระทรวงคมนาคมหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในประเด็นการก่อสร้างโครงสร้างงานโยธาร่วม ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ให้ได้ข้อสรุปเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ต่อไป

2.ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแนวทางก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ว่าสามารถดำเนินการได้ตามมติคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกหรือไม่

3.ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการจัดทำแนวทางการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน 

โดยพิจารณาแนวทางเลือกข้อดี-ข้อเสีย ด้านต่างๆ เพื่อหารือกับฝ่ายจีนต่อไป