กสก.พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี

กสก.พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า พืชตระกูลถั่วนับเป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีการนำไปใช้บริโภคและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปต่าง ๆ แต่ปัจจุบันผลผลิตพืชตระกูลถั่วในประเทศมีไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ในขณะที่พื้นที่การเพาะปลูกก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง จำนวน 81,190 ไร่, 713,437 ไร่ และ 71,088 ไร่ ตามลำดับ และมีปริมาณผลผลิต 22,252 ตัน, 108,467 ตัน และ 25,652 ตัน ตามลำดับ โดยมีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 2,684 ตัน, 33,472 ตัน และ 9,943 ตัน ตามลำดับ

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรมีการเพาะปลูกพืชตระกูลถั่วลดลง เนื่องมาจากเกษตรกรขาดแรงจูงใจในการเพาะปลูก ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของพืชตระกูลถั่วต่ำเมื่อเทียบกับพืชแข่งขันชนิดอื่น ๆ เกษตรกรขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเกษตรกรมักจะซื้อเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้าในท้องถิ่น ที่มีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ ขาดความตระหนักในการใช้เมล็ดพันธุ์ดี จึงต้องใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราสูงในการเพาะปลูก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ประกอบกับพืชตระกูลถั่วมีการเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ ผลผลิตต่ำ ไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาต่ำ 

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตระกูลถั่วขึ้น โดยมุ่งพัฒนาศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชน ให้มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีกระจายสู่ระบบการผลิตในชุมชน ลดปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดีในระยะยาว เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกรและเพิ่มปริมาณผลผลิตภายในประเทศ ผ่านการเรียนรู้จากแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว ทั้ง 130 ศูนย์ เกษตรกร จำนวน 2,730 ราย และสนับสนุนการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว จำนวน 5,200 ไร่ ในพื้นที่ 32 จังหวัด ได้แก่

จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ ชัยนาท ลพบุรี อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น  นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ และจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีเป้าหมายให้เกษตรกร สามารถผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง สร้างรายได้เพิ่มขึ้น สู่การเกษตรที่ยั่งยืน ภายใต้หลักการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ สามารถผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด และมีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี งานวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพทางภาคการเกษตร 

สำหรับพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมปลูกพืชตระกูลถั่วในหน้าแล้งหลังฤดูทำนา เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง แต่เกษตรกรมักประสบปัญหาภูมิอากาศแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ประจำปี 2567 กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตระกูลถั่ว โดยใช้พันธุ์ใหม่ KUML4 ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ ปลายฝักแหลมโค้งงอ สุกแก่เร็วสม่ำเสมอ ฝักกลมยาวกว่าถั่วเขียวทั่วไป จึงให้เมล็ดมากและใหญ่กว่า มีความทนทานต่อโรคใบจุด และราแป้งในระดับปานกลาง ผลผลิตสม่ำเสมอทั้งในฤดูแล้ง และฤดูฝน และเหมาะสำหรับฤดูแล้งมากกว่าฤดูฝน ชอบอากาศร้อน แดดจัด ไม่ชอบหนาว ไม่ชอบดินด่าง-ดินเหนียวจัด ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี พื้นที่ไม่ชื้นแฉะ ไม่ชื้น

จึงร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพัฒนาศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชน ให้มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี กระจายสู่ระบบการผลิตในชุมชน และเพิ่มประสิทธิภาพพืชตระกูลถั่ว โดยมีเป้าหมายเกษตรกร 130 ราย พื้นที่ปลูก 260 ไร่ ในพื้นที่อำเภอหนองไผ่ 60 ราย พื้นที่ปลูก 120 ไร่ อำเภอชนแดน 50 ราย พื้นที่ปลูก 100 ไร่ และอำเภอหล่มเก่า 20 ราย พื้นที่ปลูก 40 ไร่

โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ตั้งแต่เตรียมความพร้อม วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต และติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกอย่างใกล้ชิด ผลจากการส่งเสริมพบว่า เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตลดลง 200 บาทต่อไร่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น 136 กิโลกรัมต่อไร่ และเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ตั้งเป้าจะจัดตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพ มีปริมาณเพียงพอต่อการเพาะปลูกในรอบถัดไป และหาซื้อเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีในราคายุติธรรม รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ถั่วชุมชน และในปี 2568 จะรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ถั่วเขียวให้ได้ในอนาคต

“หากเกษตรกรมีการเพาะปลูกพืชตระกูลถั่วโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม จากการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ จะส่งผลให้ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชนได้รับพัฒนาอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน สามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่ระบบการผลิตในชุมชนได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนมีการต่อยอดประชาสัมพันธ์สร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกรให้หันมาปลูกพืชตระกูลถั่วเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวในตอนท้าย