การตรวจวินิจฉัยและการป้องกันโรคติดเชื้อเอชไอวี

Photo AFP
สุขภาพดีกับรามาฯ

พว.วิภาวรรณ อรัญมาลา และ พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

 

2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เขียนให้ข้อมูลความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคติดเชื้อเอชไอวีอาการและวิธีรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีไปแล้ว สัปดาห์นี้มาถึงเรื่องการวินิจฉัยและการป้องกันนะคะ

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อเอชไอวี แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด เพื่อบ่งบอกการติดเชื้อ โดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้

ตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเอชไอวี ด้วยวิธีอีไลซ่า (ELISA) โดยจะตรวจพบสารภูมิคุ้มกันหลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์ วิธีนี้เป็นการตรวจยืนยันเพื่อการคัดกรองเบื้องต้น ถ้าพบเลือดเป็นบวก (positive) ต้องตรวจยืนยันผลซ้ำด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ด้วยวิธีพีเอ (PA : particle agglutination test) ถ้าให้ผลเป็นบวก (positive) ก็สามารถวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี แต่ถ้าให้ผลเป็นลบ (negative) ก็ต้องตรวจยืนยันอีกครั้งโดยใช้ชุดทดสอบที่ต่างกัน ซึ่งจะให้ผลเป็นบวก (positive) 100% หลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์ และตรวจหาส่วนประกอบของตัวเชื้อ HIV หรือเรียกว่าแอนติเจน โดยวิธีพีซีอาร์ (PCR) ซึ่งจะตรวจพบหลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์

นอกจากการตรวจเลือดดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในรายที่มีอาการแสดง แพทย์จะตรวจหาโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น ตรวจเสมหะและเอกซเรย์ปอดในรายที่สงสัยว่ามีปอดอักเสบหรือวัณโรคปอด เจาะหลังในรายที่สงสัยจะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตรวจชิ้นเนื้อในรายที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง เป็นต้น

ผู้ที่ควรตรวจหาเชื้อเอชไอวี ได้แก่ ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย ผู้ที่สงสัยว่าคู่นอนของตนจะมีพฤติกรรมเสี่ยง ผู้ที่ตัดสินใจจะแต่งงานหรืออยู่กินฉันสามีภรรยา ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้ที่ใช้เข็มฉีดสารเสพติด ผู้ที่สักผิวหนังหรือคิ้ว ผู้ที่มีการเจาะตามร่างกายโดยไม่ได้ทำความสะอาดอุปกรณ์ ผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ผู้ที่ต้องการข้อมูลสนับสนุนเรื่องสุขภาพร่างกาย เช่น ผู้ที่ต้องการไปทำงานหรือศึกษาต่อต่างประเทศ (บางประเทศ)

ส่วนการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีทำได้โดยการลดหรือเลิกพฤติกรรมเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนี้

1.รักเดียวใจเดียว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ

2.ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

3.หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือช่องทางที่ไม่ปกติ

4.ไม่ใช้เข็มและกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

5.ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งของที่ปนเปื้อนเลือด เช่น แปรงสีฟัน ใบมีดโกนหนวด เข็มสักตัว เข็มเจาะหู เป็นต้น

6.ก่อนแต่งงานหรือมีบุตร ควรตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และขอรับคำปรึกษาจากแพทย์

7.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดใช้สารเสพติดทุกชนิด

คำแนะนำเพิ่มเติมเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ คือ ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ ทั้งนี้ประสิทธิภาพการป้องกันขึ้นอยู่กับการใช้ว่าถูกต้องหรือไม่ ถุงยางมีคุณภาพดีพอหรือไม่ ยังไม่หมดอายุการใช้งานใช่หรือไม่ โดยปกติให้ดูจากวันผลิตไม่เกิน 3 ปี หรือดูวันหมดอายุที่ซอง ซองต้องไม่ชำรุดหรือฉีกขาด นอกจากนี้ต้องเลือกขนาดใช้ให้เหมาะสม ถ้าขนาดไม่พอดีก็อาจฉีกขาดหรือหลุดออกง่าย ซึ่งจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

หมายเหตุ : พว.วิภาวรรณ อรัญมาลา พยาบาลวิชาชีพ งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ฝ่ายการพยาบาล และ อาจารย์ พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด อาจารย์แพทย์ ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล